posttoday

ฟิทช์ฯลดเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาทของไทย

24 กรกฎาคม 2559

ฟิทช์ลดเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาทของไทย อ้างหนี้สาธารณะเพิ่ม เศรษฐกิจอ่อนแอ การเมืองไม่แน่นอน

ฟิทช์ลดเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาทของไทย อ้างหนี้สาธารณะเพิ่ม เศรษฐกิจอ่อนแอ การเมืองไม่แน่นอน

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาทของประเทศไทย (LTLC) ลงจากระดับ A- สู่ BBB+ เนื่องจากขาดปัจจัยบวกที่สำคัญ 2 ประการ คือ พื้นฐานการคลังสาธารณะที่แข็งแกร่ง และการปฏิบัติเป็นพิเศษกับเจ้าหนี้สกุลเงินท้องถิ่นเมื่อเทียบกับเจ้าหนี้สกุลเงินต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเผชิญแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรงลง และบรรยากาศทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอน 

ฟิทช์ ระบุว่า ประเทศไทยมีการเกินดุลงบประมาณ 0.2% ในปีงบประมาณ 2558 แต่การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ จะทำให้ไทยต้องขาดดุลราว 0.8% ของปีงบประมาณ 2559 และคาดว่าหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 33.1% ของจีดีพี ภายในปีงบประมาณ 2561 แม้ว่าจะยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม BBB ซึ่งอยู่ที่ 42.2% ก็ตาม

แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาว ซึ่งให้รัฐวิสาหกิจกู้ยืมภายใต้การค้ำประกันของรัฐ จะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดจะมีการก่อหนี้ในวงเงิน 1.8 ล้านล้านบาท ราว 13% ระหว่างปี 2558-2565

อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ยังคงอันดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (LTFC) ในระดับ BBB+ และคงมุมมองของประเทศไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ พร้อมกันนี้ยังคงอันดับตราสารหนี้ระยะสั้น ทั้งสกุลเงินบาทและสกุลเงินต่างประเทศที่ระดับ F2

ทั้งนี้ ฟิทช์คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.9% ในปีนี้ และเพิ่มขึ้นเป็น 3.2% ในปีหน้า การบริโภคจะดีขึ้นจากรายได้ของเกษตรกรที่ฟื้นตัวหลังผ่านหน้าแล้งอันสาหัสไปแล้ว ขณะที่การลงทุนสาธารณะช่วงไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นกว่า 50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ช่วยให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและการลงทุนภาคเอกชนดีขึ้น ภาคการท่องเที่ยวยังคงเติบโตแข็งแกร่งจะช่วยภาคการบริการให้ดีขึ้นด้วย  

ทั้งนี้ ฟิทช์ได้เตือนเรื่องหนี้ภาคครัวเรือนในระดับสูง การขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุ และศักยภาพการแข่งขันในภาคการส่งออกของไทยว่า อาจกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลาง ขณะที่รัฐบาลออกมาตรการต่างๆ พยายามแก้ปัญหาแล้ว เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และมาตรการทางภาษีพิเศษสำหรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรม  

ขณะเดียวกัน ฟิทช์ยังเตือนว่า ไทยยังมีความเสี่ยงที่ปัญหาทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ แม้ว่าจะมีกำหนดการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. และการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2560 แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาทางการเมืองและการแตกแยกทางสังคมได้หรือไม่เพียงใด