posttoday

INETหาเงินจากตลาดทุนเพิ่มขึ้น

19 กรกฎาคม 2559

INET เดินหน้าใช้เครื่องมือจากตลาดทุนเพิ่ม ถึงจังหวะธุรกิจไอทีฮอต เปิดทางพันธมิตรต่อยอดธุรกิจ

INET เดินหน้าใช้เครื่องมือจากตลาดทุนเพิ่ม ถึงจังหวะธุรกิจไอทีฮอต เปิดทางพันธมิตรต่อยอดธุรกิจ

นางมรกต กุลธรรมโยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย (INET) ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีครบวงจร เปิดเผยว่า  บริษัทจะใช้เครื่องมือทางการเงินจากตลาดทุนมากขึ้น เพราะเข้าสู่ยุคของการแข่งขันธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ตามกระแสโลกและนโยบายของรัฐที่เน้นเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งเอกชนและรัฐต่างให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของการเก็บข้อมูล รวมถึงการมีศูนย์สำรองเก็บข้อมูลเพื่อเตรียมพร้อมกรณีเหตุฉุกเฉินไว้ที่ไม่ได้อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงต้องการโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่จะไม่ลงทุนเอง สอดคล้องกับที่บริษัทได้เริ่มวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับธุรกิจคลาวด์โซลูชั่นมากกว่า 2 ปี

ทั้งนี้ บริษัทจะออกหุ้นกู้ 750 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลไอเน็ต 3 (INET-IDC3) ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เฟสที่ 1 รองรับคลาวด์โซลูชั่นที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าจะเสร็จในเดือน มี.ค. 2560   ส่วนเฟสที่ 2 และ 3 จะขออนุมัติผู้ถือหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 262.52 ล้านหุ้น  จะได้รับเงินจำนวน 788 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทพิจารณาเครื่องมือหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT)  โดยบริษัทยังมีนโยบายให้มีอัตราหนี้สินต่อทุน (ดี/อี) ไม่เกิน 2 เท่า ด้านรายได้มาจากคลาวด์โซลูชั่น 42% คาดว่าอีก 2 ปี หรือภายในปี 2561 จะเพิ่มเป็น 60% 

“ที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้ลงทุนอะไรใหม่มากนัก แต่เมื่อมีจังหวะสภาพแวดล้อม ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่ม คนเริ่มเข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้น ความต้องการมากขึ้น INET ก็ต้องเตรียมความพร้อมให้มากที่สุดเมื่อก่อสร้างไอเน็ต 3  ก็มีความต้องการเก็บข้อมูลจากฐานลูกค้าเก่าสูงถึง 60-70% ปัจจุบันลูกค้าเป็นเอกชน 75% และรัฐบาล 25%” นางมรกต กล่าว

นอกจากนั้น บริษัทพร้อมที่จะหาพันธมิตรร่วมทำธุรกิจ เพื่อต่อยอดสิ่งที่ INET มีในงานต้นน้ำเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะคลาวด์โซลูชั่น ที่ผ่านมาถือหุ้นบริษัท เน็ตเบย์ (NETBAY) ที่เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ  อย่างไรก็ดี การขยายธุรกิจยังคงเน้นแบบอนุรักษนิยมเป็นสำคัญ หลังจากที่บริษัทเคยลงทุนผิดพลาด จึงเน้นควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน คุม ดี/อี และคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายและการบริหาร (SG&A) ไม่ให้เกิน 20% ในแต่ละปี

สำหรับราคาหุ้นที่ปรับขึ้นมาสูงไม่ทราบว่ามาจากอะไร แต่ปกติการประชุมผู้ถือหุ้นจะมีนักลงทุนประเภทเน้นคุณค่าที่เห็นรายชื่อ คือ นายอนุรักษ์ บุญแสวง  ทั้งนี้การปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา มี นายสาธิต วิทยากร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 ถือทั้งหมด 13.89 ล้านหุ้น จากเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ยังถือหุ้นอันดับที่ 8 จำนวน 3 ล้านหุ้น  ขณะที่ นายวัชระ แก้วสว่าง ล่าสุดไม่มีรายชื่อติดอันดับ เทียบกับวันที่ 18 พ.ค. ถืออันดับที่ 14 จำนวน 2 ล้านหุ้น หรือ 0.8%  ขณะที่นายอนุรักษ์ บุญแสวง ยังถือหุ้นอันดับที่ 12