posttoday

ก.ล.ต.ย้ำบิ๊กบจ.แต่งบัญชีเจอคุก

30 พฤษภาคม 2559

ก.ล.ต.ย้ำ กรรมการ ผู้บริหาร บจ.ทุจริต ยักยอกทรัพย์ โทษอาญาเท่านั้น ไม่เปรียบเทียบปรับ ยกกรณี รอยเนท

ก.ล.ต.ย้ำ กรรมการ ผู้บริหาร บจ.ทุจริต ยักยอกทรัพย์ โทษอาญาเท่านั้น ไม่เปรียบเทียบปรับ ยกกรณี รอยเนท

นายสมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายบังคับใช้กฎหมาย  สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า การกระทำความผิดของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เช่น การทุจริต ยักยอกทรัพย์ จะต้องมีโทษทางอาญาเท่านั้น ไม่สามารถจบด้วยการเปรียบเทียบปรับได้ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ถึงแม้ว่าในอนาคต ก.ล.ต.จะนำมาตรการทางแพ่งมาใช้ เพื่อทำให้ขั้นตอนในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ดีขึ้นก็ตาม

ทั้งนี้ ความพยายามนำมาตรการทางแพ่งมาใช้ควบคู่กับอาญา ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะทางอาญาจะต้องพิสูจน์จนสิ้นสงสัย แต่ทางแพ่งหากมีข้อมูลและหลักฐานที่ใช่ ก็สามารถเปรียบเทียบปรับได้ และยังเรียกผลประโยชน์คืนได้ด้วย

สำหรับกรณีผู้บริหารกระทำความผิด  นอกจากจะได้รับโทษแบนของ ก.ล.ต.แล้ว อาจเจอคำสั่งห้ามการเป็นผู้บริหารของศาลด้วย  ในส่วนของ ก.ล.ต.กำหนดโทษแบนสูงสุด 10 ปี น่าจะถือว่าเหมาะสม ขณะนี้เกณฑ์การขึ้นบัญชีดำหรือแบล็กลิสต์อยู่ระหว่างดำเนินการ เมื่อประกาศใช้จะทำให้ผู้บริหารที่ถูกกล่าวโทษถูกแบน แต่จะไม่ย้อนหลัง

“ความผิดทางอาญาใช้เวลานาน เช่น กรณีแต่งบัญชีของบริษัท รอยเนทที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 และเมื่อปี 2558 ศาลฎีกาได้ตัดสินแล้ว ยืนตามคำตัดสินเดิมคือผู้บริหารทำผิด ผู้บริหารหลบหนีเมื่อคำตัดสินออกมาก็จะต้องหนีต่อเพราะผิดจริง” นายสมชาย กล่าว

สำหรับการดูแลหุ้นที่เสนอขายให้ประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) นายสมชาย กล่าวว่า  ก.ล.ต.อยู่ระหว่างหารือเพื่อพิจารณาออกเกณฑ์ ควบคุมดูแลปัญหาการสร้างราคาหุ้นไอพีโอขนาดเล็กที่พบว่ายังมีปัญหาอยู่จำนวนมาก หลังจากหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์  ซึ่งแนวทางที่ศึกษายังไม่เคยทำมาก่อน มีทั้งการกำหนดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ขั้นต่ำ ของหุ้นไอพีโอ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้นไอพีโอขั้นต่ำ และการกำหนดสัดส่วนการจัดสรรหุ้นให้กับผู้มีอุปการคุณให้ชัดเจน

อย่างไรก็ดี ก.ล.ต.ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะอาจเป็นอุปสรรคต่อการเกิดของธุรกิจกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่เป็นธุรกิจค่อนข้างมีขนาดเล็ก รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน  รวมถึงการกำหนดการจัดสรรหุ้นไอพีโออาจกระทบผู้รับประกันการจัดจำหน่ายขายหุ้นไม่หมด

“ปัญหาการปั่นหุ้นตัวเล็ก รวมถึงไอพีโอตัวเล็กยังมีอยู่จำนวนมาก แม้ตอนนี้ไม่ใช่ภาวะตลาดขาขึ้นก็ตาม ส่วนการดำเนินคดีที่ผ่านมา สรุปไปได้หลายเคสแล้ว แต่ก็มีเคสใหม่ส่งเข้ามาจากตลาดหลัก ทรัพย์ เหลือคดีที่อยู่ระหว่างตรวจสอบใกล้กับต้นปี ประมาณ 60 คดี” นายสมชาย กล่าว