posttoday

ปิ๊งไอเดียแปรรูปข้าวไทยเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว

19 มีนาคม 2557

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ เส้นหมี่และเส้นก๋วยเตี๋ยวพร้อมปรุง เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์แปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าข้าวไทย ในภาวะที่เผชิญความท้าทายด้านราคาส่งออกที่สูงกว่าคู่แข่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ เส้นหมี่และเส้นก๋วยเตี๋ยวพร้อมปรุง เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์แปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าข้าวไทย ในภาวะที่เผชิญความท้าทายด้านราคาส่งออกที่สูงกว่าคู่แข่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ทางออกตลาดข้าวไทยในภาวะที่ราคาสูงกว่าคู่แข่งแต่มีความต้องการระบายข้าวสูง ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ข้าวของไทยกำลังเผชิญความท้าทายเป็นอย่างมากทางด้านราคาส่งออกข้าวที่สูงกว่าคู่แข่งโดยเปรียบเทียบ อันส่งผลต่อปริมาณการส่งออกข้าวของไทยที่ลดลงตั้งแต่ปี 2555 ทำให้ไทยต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การค้าข้าวโลกมากขึ้น ซึ่งนอกจากการให้น้ำหนักกับการพัฒนาเชิงคุณภาพ ทั้งการเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่ การผลิตข้าวที่อ่อนไหวน้อยต่อการเปลี่ยนแปลงของราคา เช่น ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวซ้อมมือ เป็นต้น การต่อยอดให้กับข้าวไทยเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตข้าวสู่ “ผลิตภัณฑ์แปรรูป” นับเป็นทางเลือกที่จะทำให้ไทยมีจุดแข็งในการสร้างความแตกต่าง เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกท่ามกลางการแข่งขันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อันเป็นการพัฒนาเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมข้าวไทยได้อย่างยั่งยืน

ศักยภาพข้าวไทย...สู่ยุคการขายข้าวที่เน้น “มูลค่า” เพื่อสร้างตลาดใหม่

ปิ๊งไอเดียแปรรูปข้าวไทยเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว

จากสถานการณ์การส่งออกข้าวของไทยที่เผชิญความท้าทายเป็นอย่างมาก จากนโยบายสนับสนุนการเพิ่มรายได้ภาคการเกษตรภายในประเทศตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ได้ส่งผลต่อปริมาณการส่งออกข้าวของไทยที่ลดลงต่อเนื่อง จนทำให้ไทยตกอันดับแชมป์ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 กลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับที่ 3 ของโลกต่อเนื่องถึงสองปีซ้อน (ปี 2555-2556) โดยในปี 2556 ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยอยู่ที่ 6.6 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 1.8 (YoY) ซึ่งเป็นรองจากอินเดียที่ส่งออก 10.5 ล้านตันและเวียดนามที่ 7.2 ล้านตัน ตามลำดับ และหากมองด้านมูลค่าการส่งออกข้าวของไทยก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยในปี 2556 มูลค่าการส่งออกข้าวของไทยอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 6.4 (YoY) สำหรับในปี 2557 มูลค่าการส่งออกข้าวของไทย ยังมีแนวโน้มตกอยู่ภายใต้แรงกดดันโดยเฉพาะด้านราคา หลังการสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวและการเร่งระบายสต๊อกข้าว อีกทั้งยังมีแนวโน้มประสบกับปัญหาความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งหลักอย่างต่อเนื่อง

ปิ๊งไอเดียแปรรูปข้าวไทยเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวของไทย ในปี 2556 จะเห็นได้ว่า ไทยมีปริมาณการส่งออกข้าวมากถึง 6.61 ล้านตัน แต่การส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าว ของไทยยังมีเพียงเล็กน้อยที่ 0.27 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.1 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมด แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า หากเปรียบเทียบในปริมาณการส่งออกที่เท่ากัน (1 ตัน) จะพบว่าผลิตภัณฑ์จากข้าวสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวได้มากถึง 3 เท่า อันแสดงถึงความสำคัญของการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ตลอดจนศักยภาพของผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมากขึ้น จากทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพสูงสุด

เมื่อพิจารณาถึงวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากข้าว (ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นข้าวสารและส่วนที่เหลือจากกระบวนการสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร) จะเห็นว่ามีข้าวที่สามารถนำมาใช้ในการแปรรูปมากขึ้นและคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการทั้งในและต่างประเทศ โดยในปี 2554 มีข้าวสำหรับใช้เพื่อแปรรูปอยู่ที่ 15.2 ล้านตัน และเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 21.6 ล้านตันในปี 2556 อันสะท้อนถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมการแปรรูปข้าว ตลอดจนยังเป็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวได้ในระยะถัดไป

ปิ๊งไอเดียแปรรูปข้าวไทยเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์จากข้าวนับเป็นสินค้าที่น่าจับตามอง และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบในแง่ของการเป็นแหล่งวัตถุดิบ ตลอดจนความต้องการที่มีรองรับในผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวที่มีความหลากหลายมากขึ้นโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ (สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อ และตื่นตัวในการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกอุตสาหกรรม) ทั้งเพื่อบริโภคในครัวเรือนและในระดับอุตสาหกรรม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2557 ไทยอาจมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวราว 17,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 (YoY) เทียบกับมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวของไทยในปี 2556 มีมูลค่าอยู่ที่ 15,893 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 (YoY) นับเป็นสัญญาณที่ดีในการขยายตลาดผลิตภัณฑ์จากข้าวของไทยสู่ตลาดโลก

ปิ๊งไอเดียแปรรูปข้าวไทยเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว

เส้นหมี่และเส้นก๋วยเตี๋ยวพร้อมปรุง...ผลิตภัณฑ์ส่งออกเด่นที่มีแนวโน้มเติบโต

“เส้นหมี่และเส้นก๋วยเตี๋ยวพร้อมปรุง” นับเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งในผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวของไทย (สัดส่วนร้อยละ 31 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวของไทย) ที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีตามพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดโลกที่มีการบริโภคผลิตภัณฑ์เส้นเป็นส่วนประกอบในสารพัดเมนูอาหาร โดยในปี 2556 ไทยส่งออกเส้นหมี่และเส้นก๋วยเตี๋ยวพร้อมปรุงคิดเป็นมูลค่า 4,941 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 (YoY) โดยแบ่งเป็นการส่งออกเส้นก๋วยเตี๋ยวพร้อมปรุงคิดเป็นมูลค่า 4,164 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 (YoY) ตลาดส่งออกสำคัญคือ กัมพูชา สหรัฐอเมริกา สปป.ลาว เป็นต้น และการส่งออกเส้นหมี่พร้อมปรุงคิดเป็นมูลค่า 777 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 (YoY) ตลาดส่งออกสำคัญคือ เมียนมาร์ มาเลเซีย สปป.ลาว เป็นต้น สำหรับบริโภคในระดับครัวเรือนและธุรกิจร้านอาหาร ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2557 ไทยอาจมีมูลค่าการส่งออกเส้นหมี่และเส้นก๋วยเตี๋ยวพร้อมปรุงราว 5,600 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 (YoY) โดยมีตลาดส่งออกสำคัญคือ ประเทศในกลุ่มอาเซียน สหรัฐอเมริกา เป็นต้น เพื่อรองรับความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์เส้นเป็นส่วนประกอบในหลากหลายเมนูอาหารในระดับครัวเรือนและธุรกิจร้านอาหาร

ปิ๊งไอเดียแปรรูปข้าวไทยเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว

อย่างไรก็ดี แม้ไทยจะเป็นประเทศผู้ส่งออกเส้นหมี่และเส้นก๋วยเตี๋ยวพร้อมปรุงเป็นอันดับที่ 3 ของโลก (ปี 2555 ไทยมีส่วนแบ่งมูลค่าการส่งออกในตลาดโลกคิดเป็นร้อยละ 8.6 ของมูลค่าการส่งออกเส้นหมี่และเส้นก๋วยเตี๋ยวของโลก) แต่ไทยอาจยังคงต้องเผชิญคู่แข่งในตลาดโลกที่สำคัญคือ จีน และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะจีน (เมืองหลันโจวขึ้นชื่อเป็นแหล่งผลิตสุดยอดหมี่) ที่มีการผลิตเส้นหมี่และเส้นก๋วยเตี๋ยวจำนวนมากและมีความชำนาญด้านการผลิต เพื่อใช้บริโภคในประเทศและเพื่อส่งออก

ในระยะถัดไปเพื่อให้ไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งในตลาดโลกไว้ได้ ผู้ประกอบการไทยควรเน้นการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ผ่านการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล เน้นคุณภาพสินค้าที่สูงกว่าคู่แข่ง และสร้างความแปลกใหม่ลงบนเส้นก๋วยเตี๋ยวมากขึ้นเพื่อสนองต่อผู้บริโภคในหลายระดับของตลาด อาทิ เส้นที่ทำจากข้าวขาวล้วน 100% (แตกต่างจากเส้นทั่วไปในท้องตลาดที่มีส่วนผสมของแป้งมันอยู่ร้อยละ 30) ทำให้เส้นที่ได้ไร้น้ำมันที่อยู่ในแป้งมัน ซึ่งจะเป็นการยืดอายุการเก็บรักษาเส้นในอุณหภูมิปกติได้นานกว่า 2 ปี ในขณะที่เส้นผสมแป้งมันจะเก็บรักษาได้ประมาณ 6 เดือน อีกทั้งการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้เป็นเส้นตรงมากขึ้น คล้ายเส้น “พาสต้า” จะช่วยให้สะดวกต่อการบรรจุ และเพิ่มพื้นที่จัดเรียงสินค้าในการขนส่ง อันเป็นการลดต้นทุนค่าขนส่งด้วย นอกจากนี้ “เส้นก๋วยเตี๋ยวสุขภาพ” ก็นับเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขยายตลาดที่น่าสนใจ โดยเป็นการผลิตเส้นที่มาจากข้าวหอมนิล ข้าวหอมแดง ข้าวกล้อง เป็นต้น เพื่อตอบสนองกระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ธุรกิจข้าวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวของไทยสามารถยืนหยัดในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางสถานการณ์การค้าข้าวโลกที่มีแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรง

ปิ๊งไอเดียแปรรูปข้าวไทยเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว

โดยสรุป

จากสถานการณ์การค้าข้าวของไทยที่เผชิญความท้าทายเป็นอย่างมากตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกข้าวของไทยที่ลดลงต่อเนื่อง ไทยจึงต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การค้าข้าวโลกมากขึ้น ซึ่งการต่อยอดให้กับอุตสาหกรรมข้าวไทยเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตข้าวสู่ “ผลิตภัณฑ์แปรรูป” (เน้นปลายน้ำ) นับเป็นทางเลือกที่จะทำให้ไทยมีจุดแข็งในการสร้างความแตกต่าง เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกท่ามกลางการแข่งขันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อันเป็นการพัฒนาเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมข้าวไทยอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเป็นการรับมือกับปัจจัยท้าทายรอบด้าน อันรวมถึงภาวะภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าว

ทั้งนี้ การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวเป็นกระบวนการที่มากกว่าแค่เพียงการผลิต จึงจำเป็นต้องมาพร้อมกับความเข้าใจตลาด การศึกษาและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงอาจต้องมีกิจกรรมทางการตลาด เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย จึงจะช่วยสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวของไทยสามารถเข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น

“เส้นหมี่และเส้ก๋วยเตี๋ยวพร้อมปรุง” นับเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวของไทยที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ตามความต้องการของผู้บริโภคในการบริโภคผลิตภัณฑ์เส้นเป็นส่วนประกอบในสารพัดเมนูอาหารที่มีรองรับทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง เพื่อนำไปใช้บริโภคในระดับครัวเรือนและในธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งในระยะถัดไป ผู้ประกอบการไทยควรเน้นการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ผ่านการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล เน้นคุณภาพสินค้าที่สูงกว่าคู่แข่ง และสร้างความแปลกใหม่ลงบนเส้นก๋วยเตี๋ยวมากขึ้นเพื่อสนองต่อผู้บริโภคในหลายระดับของตลาด เพื่อให้ธุรกิจข้าวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวของไทยสามารถยืนหยัดในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไทยเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบด้านแหล่งผลิตวัตถุดิบข้าวที่สำคัญของโลก

นอกจากนี้ ไทยยังมีศักยภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปชนิดอื่นจากข้าวที่มีการนำเอานวัตกรรมสมัยใหม่และการวิจัยมาใช้สนับสนุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ดังจะเห็นได้จากรางวัลสุดยอดนวัตกรรมข้าวไทยประจำปี 2556 อาทิ แผ่นเจลข้าวกรดห้ามเลือด แป้งรำข้าว และลิปติกส์อินทรีย์ นับเป็นอีกก้าวของความภูมิใจและเป็นส่วนช่วยในการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทย (โดยเฉพาะแผ่นเจลข้าวกรดห้ามเลือดที่หากสามารถยกระดับเป็นการค้าเชิงพาณิชย์มากขึ้น ก็จะสามารถรองรับการขยายตัวของธุรกิจโรงพยาบาลที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีได้) อันเป็นการยกระดับที่จะทำให้มีการปรับตัวของการพัฒนาคุณภาพข้าว (ต้นน้ำ) ที่จะตามมามากขึ้น จนเกิดการพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะสำเร็จได้อาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวตลอดจนความร่วมมือของทุกภาคส่วน