posttoday

เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ระยะสั้นท้าทายในระยะยาว

23 ตุลาคม 2560

โดย...กองทุนบัวหลวง

โดย...กองทุนบัวหลวง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ชี้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวแล้วในระยะสั้น แต่ก็ยังเผชิญความท้าทายในระยะยาวอยู่

ไอเอ็มเอฟออกประมาณการเศรษฐกิจโลกประจำเดือน ต.ค. มีมุมมองที่ดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกว่าเริ่มมีความเข้มแข็ง พร้อมปรับขึ้นประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2560-2561 ในหลายกลุ่มประเทศ ทั้งฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว (สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น) และตลาดเกิดใหม่ (เอเชีย ยุโรป รัสเซีย) รวมทั้งประเทศไทย แต่ปรับลดเศรษฐกิจอินเดียลง

ไอเอ็มเอฟมองว่า ปัจจัยที่มีส่วนสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งโลก หรือที่เรียกว่า Broad-based Recovery นี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ครึ่งปีแรกของปี 2560 จากที่ความต้องการในประเทศของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และจีนขยายตัวอย่างโดดเด่นมีผลให้ความต้องการสั่งซื้อสินค้าเร่งตัวและกระตุ้นให้การค้าระหว่างประเทศฟื้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟเริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนจากธุรกิจเอกชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสหรัฐ ส่วนยุโรปและญี่ปุ่นได้รับปัจจัยบวกทั้งจากการใช้จ่ายในประเทศ การลงทุนเอกชน และการส่งออก ขณะที่ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ได้รับการสนับสนุนจากคำสั่งซื้อจากจีนเป็นหลัก แต่อินเดียมีวงจรที่อ่อนแอกว่าประเทศอื่นในเอเชีย เนื่องด้วยยังได้รับผลกระทบจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจที่ได้ดำเนินไปแล้วก่อนหน้า

ในประมาณการครั้งนี้ ไอเอ็มเอฟ มองว่าแม้ว่าการฟื้นตัวเริ่มมีรูปธรรมชัดเจน แต่ความเสี่ยงในระยะยาวยังมีอยู่ กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้อยังต่ำในหลายประเทศ

-ประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะผู้ส่งออกน้ำมันยังได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่เคลื่อนไหวเชื่องช้า

-ไอเอ็มเอฟ มองว่าธนาคารกลางแต่ละประเทศไม่ต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยท่ามกลางสภาพแวดล้อมเช่นนี้

-รัฐบาลแต่ละประเทศยังเผชิญความท้าทายทางโครงสร้างในระยะยาวเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต ไอเอ็มเอฟ เปิดเผยว่า ในบางประเทศการใช้นโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายยังมีความจำเป็น แต่ก็ต้องให้ความระมัดระวังการเก็งกำไรในบางสินทรัพย์ (เช่น ตลาดเงินตลาดทุน) และการก่อหนี้ในช่วงเวลาที่ดอกเบี้ยต่ำด้วย

สำหรับการปรับประมาณการจีดีพี มีรายละเอียดดังนี้

-เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.6% ในปี 2560 และ 3.7% ในปี 2561 จากประมาณการก่อนหน้าที่มองว่าโลกจะโต 3.5% ปีนี้และ 3.6%ในปี 2561

-สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐนั้น ไอเอ็มเอฟประเมินการปรับขึ้นจีดีพี จากปัจจัยด้านความต้องการภายในประเทศและความเชื่อมั่นผู้บริโภคเป็นหลัก ขณะที่ไม่ได้นำปัจจัยด้านนโยบายการคลังเข้ามาอยู่ในกรอบการพิจารณาเลย

-เศรษฐกิจยุโรปได้รับการปรับขึ้นจากกระแสการค้าโลกและสภาพการเงินที่ผ่อนคลายเป็นหลัก เช่นเดียวกับญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นจะได้รับปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากเม็ดเงินคลังและการลงทุนที่จะเกิดขึ้นเพื่อรองรับโอลิมปิก 2563

-ประเทศจีนก็ได้รับการปรับประมาณการขึ้นเช่นเดียวกันเนื่องด้วยไอเอ็มเอฟมองว่าทางการจีนสามารถใช้นโยบายเฉพาะจุดแบบผสมผสานทั้งการเงินและการคลัง เพื่อรับมือกับนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศได้

-สำหรับประเทศไทยนั้น ไอเอ็มเอฟได้ปรับประมาณการจีดีพีขึ้นเป็น 3.7% ในปี 2560 (ก่อนหน้าประมาณการไว้ที่ 3.0%) และ 3.5% ในปี 2561 (ก่อนหน้าประมาณการไว้ที่ 3.3%) สำหรับประเทศกลุ่มอาเซียน-5 อื่นนั้น ได้รับการปรับประมาณการขึ้นทั้งสิ้น ยกเว้นฟิลิปปินส์ที่ไอเอ็มเอฟปรับลดประมาณการปี 2560-2561 ลงปีละ 0.2 pp มาอยู่ที่ 6.6% และ 6.7% ตามลำดับ ไอเอ็มเอฟ มองว่า อาเซียน-5 จะได้รับอานิสงส์ด้านบวกจากการค้าระหว่างประเทศที่ขยายตัวรวดเร็วทำให้ได้รับคำสั่งสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากจีนและยุโรป

-สำหรับประเทศในเอเชียที่ดูจะถูกปรับลดประมาณการแรง ได้แก่ อินเดีย โดยในปี 2560 ไอเอ็มเอฟมองว่าจะโตที่ 6.7% (ถูกปรับลง0.5 pp) และปี 2561 ที่ 7.4% (ถูกปรับลง 0.3 pp) เนื่องจากไอเอ็มเอฟมองว่านโยบาย Demonetization และการปรับเปลี่ยนระบบภาษีเป็น GST จะกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดียให้ช้าลง

-ไอเอ็มเอฟ ได้ปรับประมาณการการค้าโลกขึ้นจากเดือน ก.ค.เป็น 4.2% ในปี 2560 และ 4.0% ในปี 2561 หนุนโดยการค้าจากฝั่งตลาดเกิดใหม่เป็นหลัก แต่ไอเอ็มเอฟปรับลดอัตราเงินเฟ้อลงทั้งในฝั่งตลาดพัฒนาแล้ว (1.7% ทั้งในปี 2560-2561) และตลาดเกิดใหม่ (4.2% ในปี 2560 และ 4.4% ในปี 2561) และมองว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้น 17.4% ในปี 2560 ก่อนที่จะทรงตัวที่ -0.2% ในปี 2561