posttoday

ฟองสบู่ดอทคอม วิกฤตที่คนไทยทั่วไปไม่ได้ยิน

17 สิงหาคม 2560

โดย...สมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์

โดย...สมิทธ์ พนมยงค์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ 

ปี 1995-2000 เป็นช่วงที่การใช้อินเทอร์เน็ตในสหรัฐเติบโตอย่างก้าวกระโดด ครอบครัวต่างๆ เริ่มมีคอมพิวเตอร์ใช้กันอย่างแพร่หลาย ชาวอเมริกันเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูล อ่านข่าว และช็อปปิ้งซื้อข้าวของ ตั้งแต่หนังสือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า ยา วิตามิน ฯลฯ เพราะคนอเมริกันนั้นคุ้นเคยกับการซื้อของผ่านทางไปรษณีย์อยู่แล้ว บริษัทอินเทอร์เน็ตในยุคนั้นจะมีเว็บไซต์ที่ลงท้ายด้วยคำว่า “.com” จึงมักเป็น ที่เรียกกันติดปากว่ายุคดอทคอม

ตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก (Nasdaq) ของสหรัฐ เปิดให้บริษัทขนาดเล็กที่ประกอบกิจการมาไม่นานนักเข้ามาระดมทุนก็บูมสุดขีด เพราะบริษัทอินเทอร์เน็ตเหล่านี้พากันเข้ามาแข่งขันกันระดมทุนด้วยสัญญาที่ว่าธุรกิจจะเติบโตแบบก้าวกระโดด ดัชนีแนสแด็กได้พุ่งขึ้นจาก 800 จุด ในปี 1995ไปถึงกว่า 5,000 จุด ในปี 2000 ที่จุดสูงสุด ตลาดแนสแด็กมีค่าพี/อีเฉลี่ยของทั้งตลาดสูงถึงกว่า 100 เท่า

แต่แล้วในเดือน มี.ค. 2000 ราคาหุ้นบริษัทอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีในสหรัฐเริ่มปรับตัวลงรุนแรง ดัชนีตลาดหุ้นแนสแด็กปรับตัวลง 78% จากจุดสูงสุดที่ 5,132 จุด และลงมาเหลือเพียง 1,100 จุด ในเดือน ต.ค. 2002

ในช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจไทยกำลังเริ่มฟื้นตัวจากนโยบายลดดอกเบี้ยและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยรักไทย ตลาดหลักทรัพย์ไทยก็ฟื้นตัวจากวิกฤตต้มยำกุ้งและมาได้แรงหนุนของกฎหมายลดหย่อนภาษีให้กับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) นักลงทุนไทยในสมัยนั้นก็แทบจะไม่ได้มีการลงทุนในต่างประเทศ เหตุการณ์วิกฤตฟองสบู่ดอทคอมแตกครั้งนั้นจึงแทบไม่อยู่ในความทรงจำของเราเลย

แท้ที่จริงแล้วมีเรื่องเกิดขึ้นมากมายที่น่าจะเป็นบทเรียนให้กับบริษัทสตาร์ทอัพและบริษัทฟินเทคทั้งหลายที่กำลังบูมสุดขีด ความผิดพลาดซ้ำแบบเดิมๆ จากฟองสบู่ดอทคอมเริ่มกลับมาให้เห็นกันอีก เริ่มตั้งแต่ “Get big fast” หรือ “Get large or get lost” แปลเป็นไทยง่ายๆ คือ ทำอย่างไรก็ได้ขอให้โตเร็วๆ มีผู้ใช้เยอะๆ ก่อนขาดทุนก็ได้ไม่เป็นไร

พวกดอทคอมยุคแรกก็เคยติดกับดักนี้มาแล้วหลายราย เพราะแม้จะมีผู้ใช้เป็นล้านๆ ราย แต่ในที่สุดหากหาวิธีสร้างรายได้ไม่เจอ ขาดทุนไปเรื่อยๆ ก็อยู่ไม่ได้ พวกเวนเจอร์แคปปิตอลหรือนักลงทุนที่เคยสนับสนุน ก็จะหยุดการให้ทุนเพิ่ม จนในที่สุดบริษัทดอทคอมเหล่านั้นก็อยู่ไม่ได้ต้องปิดตัวลงในที่สุด แม้จะมีบางรายที่โชคดีถูกบริษัทที่ใหญ่กว่า ทุนหนากว่า และอยากได้ฐานลูกค้ามาซื้อกิจการไปทั้งๆ ที่ธุรกิจยังขาดทุนต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีคำศัพท์อีกคำที่เหมือนจะลืมๆ กันไปคือ “Burn Rate” หรืออัตราการกินทุนของบริษัทดอทคอมที่ยอมทำธุรกิจขาดทุนเพื่อขยายฐานลูกค้าให้ได้มากๆ โตเร็วๆ และก็ติดกับดักของการทำธุรกิจแบบขาดทุน กลับตัวมาทำกำไรไม่ได้ เมื่อนักลงทุน หรือเวนเจอร์แคปตัดสายป่านไม่ลงทุนเพิ่ม ก็นั่งนับวันรอเจ๊งเพราะขาดทุนตลอด

เวลาผ่านเกือบ 20 ปี ความแพร่หลายของคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ได้ขยายไปทั่วโลกไม่เพียงแต่ในสหรัฐ การเชื่อมต่อผ่านไว-ไฟ และ 4จี ความเร็วสูงและการพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ทำให้เกิดธุรกิจแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนขึ้นมากมาย ดัชนีแนสแด็กเองก็กลับมาทำลายสถิติเดิมที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2000

ล่าสุด ดัชนีแนสแด็กได้พุ่งไปถึง 6,400 จุด หรือคิดเป็นค่าพี/อีเฉลี่ยทั้งตลาดกว่า 90 เท่า มูลค่าของบริษัท เทคโนโลยี สตาร์ทอัพ และฟินเทคหลายแห่งทั้งในสหรัฐ จีน และที่อื่นๆ ทั่วโลกเริ่มไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือความสามารถในการสร้างรายได้ของบริษัทเหล่านั้น เพราะนักลงทุนและกองทุนไพรเวทอิควิตี้ เวนเจอร์แคปปิตอลเองที่กลัวจะตกเทรนด์ไม่ได้ลงทุน ต่างก็วิ่งไล่หาซื้อหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีมาไว้ในพอร์ต โดยไม่ได้คำนึงว่ารูปแบบการทำธุรกิจ หรือการหารายได้ของธุรกิจนั้นจะเป็นอย่างไร หรือว่าราคาหุ้นที่ลงทุนนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่

ที่น่ากังวลมากก็คือเมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสเห็นคู่ค้าบางรายที่มานำเสนอให้ลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพและฟินเทคหลายแห่ง ซึ่งคล้ายคลึงกับยุคฟองสบู่ดอทคอม ผู้ก่อตั้งเองแม้จะมีไอเดียต่างๆ มากมายก็ยังไม่รู้ว่าจะพัฒนาจากไอเดียไปสู่การสร้างรายได้อย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้นคือนักลงทุนกลับแย่งกันลงทุนทั้งๆ ที่ไม่มีใครเข้าใจว่าบริษัทนั้นทำอะไรกันแน่ บางรายดีขึ้นมาหน่อยคือรู้ชัดเจนว่าจะทำอะไร แต่ก็ยังมองไม่เห็นว่าจะสามารถแข่งขันกับผู้เล่นยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้อย่างไร

ผมก็อยากจะขอยืมคำพูดของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มาเตือนสติท่านนักลงทุนอีกครั้งหนึ่งว่าการลงทุนต่างจากการเก็งกำไร คือการลงทุนนั้นหวังว่ากิจการที่เราลงทุนจะทำกำไรออกดอกออกผลให้ในอนาคต แต่การเก็งกำไร คือ การที่เราไปซื้อสินทรัพย์และหวังว่าจะมีคนมาซื้อต่อจากเราในราคาที่สูงกว่า และคุณไม่ควรลงทุนในบริษัทเลยหากคุณไม่เต็มใจที่จะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทนั้นไปอีกอย่างน้อย 10 ปี

แต่ดูเสมือนโลกการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพทุกวันนี้กลับกลายเป็นจิตวิทยาหมู่ที่ไม่ทำไม่ได้ เดี๋ยวตกเทรนด์ไม่ทันสมัย ไม่มีวิสัยทัศน์ก้าวหน้า คำพูดเหล่านี้เองที่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนยิ่งของฟองสบู่เทคโนโลยีที่กำลังก่อตัวขึ้น ท่านนักลงทุนเองก็ควรศึกษาให้เข้าใจถึงลักษณะธุรกิจและใช้ความระมัดระวังในการลงทุนด้วยนะครับ