posttoday

บัตรเครดิตกับดอกเบี้ยที่มหาโหด (จบ)

14 มิถุนายน 2560

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

บทความตอนที่แล้ว ผมพูดถึงโทษของการใช้บัตรเครดิตให้เป็นเกี่ยวกับการชำระบัตรเครดิตแบบเต็มจำนวน หรือการชำระบางส่วนและชี้ให้เห็นถึงส่วนต่างของดอกเบี้ยของผู้ให้บริการที่มีอัตรากำไร (มาร์จิ้น) ที่สูงมาก

ดังนั้น ถ้าจะรักษาความมั่งคั่งของ ตัวเองควรเลือกชำระค่าบัตรเครดิตแบบเต็มจำนวนจะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ อัตราที่สูง ง่ายๆ คือไม่นำเงินในอนาคตที่มีค่าใช้จ่ายมาใช้เพราะโดยปกติการใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าหรือบริการ ถ้าเป็นวันเริ่มต้นของรอบบิลก็อาจจะยืดเวลาการชำระเงินไปได้อีกมากสุดถึง 50 วัน ซึ่งถ้ามั่นใจว่าพอถึงวันครบกำหนดที่จะต้องชำระค่าใช้จ่ายบัตรเครดิตแล้วมีเงินเพียงพอชำระเต็มจำนวน ก็ควรจะใช้บัตรเครดิตรูด นอกจากได้ชำระเงินช้าลงโดยที่ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแล้ว ยังจะได้คะแนนสะสมไว้แลกรางวัลด้วย

แต่ท่องให้ขึ้นใจว่าจะไม่ซื้อสินค้า หรือบริการที่มีราคาสูงและเสื่อมมูลค่าในอนาคตโดยไม่จำเป็น เพราะจะเป็นการบั่นทอนความมั่งคั่งของเรา คนรวยก็อาจจะจนได้ถ้าชอบซื้อแบบสินค้าราคาสูงที่เสื่อมมูลค่า ส่วนคนไม่รวยก็อาจจะรวยได้ถ้าชอบซื้อสินค้าที่จะทวีมูลค่า และจะไม่ใช้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีอัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายสูงมาก ยึดหลักพอเพียงแล้วในที่สุดก็จะเพียงพอครับ

ลองมาดูผลประกอบการของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ขอยกตัวอย่างเป็นบัตรกรุงไทย (KTC) เหมือนเดิม เพราะเป็นบริษัทเดียวที่ไม่ใช่ธนาคารและอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ทำธุรกิจครบทั้งสองประเภทนี้

เมื่อปี 2555 มีกำไรสุทธิ 255 ล้านบาท ต่อมาปี 2556 มีกำไรสุทธิ 1,037 ล้านบาท ปี 2557 มีกำไรสุทธิ 1,755 ล้านบาท ปี 2558 KTC มีกำไรสุทธิ 2,072.61 ล้านบาท ปี 2559 KTC มีกำไรสุทธิ 2,494.71 ล้านบาท รวม 4 ปีที่ผ่านมามีกำไรโตขึ้น 878.43% ถือว่ามีผลประกอบการดีขึ้นมากเลยทีเดียว

ผลงานปีล่าสุดไตรมาสแรกปี 2560 มีกำไรสุทธิ 732.55 ล้านบาท ในขณะที่ไตรมาสแรกปี 2559 มีกำไรสุทธิ 635.01 ล้านบาทมีกำไรโตขึ้น 15.36% ถือว่ามีผลประกอบการดีกว่าธุรกิจต่างๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำไรที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่ามีต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายลดลง ในขณะที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยรับในระดับเดิม

ประเทศไทยเรานี่ก็แปลกเวลาต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นมา พวกพ่อค้าก็จะมาเรียกร้องขอขึ้นราคาสินค้า แต่พอต้นทุนสินค้าลดลง พวกพ่อค้าทั้งหลายกลับสงบปากสงบคำไม่เคยคิดที่จะลดราคาสินค้าตามต้นทุนสินค้าที่ลดลง และผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องของรัฐก็ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่เคยคิดที่จะห่วงใยประชาชนผู้ซึ่งที่จะต้องตกเป็นเบี้ยล่างของพ่อค้าอยู่เรื่อยมาลองมาดูวิธีการคิดดอกเบี้ยของธุรกิจที่ออกบัตรเครดิต ที่คิดกับลูกค้าว่าเอาเปรียบผู้ใช้บัตรมากแค่ไหน

1.จำนวนวันที่ผู้ออกบัตรคำนวณเพื่อจะคิดดอกเบี้ยกับผู้ใช้บัตร โดยคำนวณตั้งแต่วันที่มีการบันทึกรายการจนถึงวันที่กำหนดชำระเงิน ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้บัตรได้นำบัตรเครดิตไปรูดซื้อสินค้า เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2559 แต่มีการบันทึกรายการในวันที่ 24 พ.ย. 2559 แล้วมีการครบกำหนดต้องชำระเงินวันที่ 13 ม.ค. 2560 ถ้าผู้ใช้บัตรไม่ชำระเต็มจำนวน จำนวนวันที่ผู้ออกบัตรนำมาคำนวณในการคิดดอกเบี้ยกับผู้ใช้บัตรเป็นดังนี้ 7+31+12 = 50 วัน ซึ่งถ้าคิดกันแบบสมเหตุสมผล จำนวนวันที่จะคิดดอกเบี้ยกับผู้ใช้บัตรควรจะเป็น 0 วัน

ถ้าคำนวณวันถึงวันที่ 12 ม.ค. 2560 จะไปคิดดอกเบี้ยเอาตั้งแต่วันที่บันทึกรายการนั้นไม่ถูกต้อง เพราะวันที่รูดบัตรหรือวันที่บันทึกรายการนั้น จนถึงวันที่ 12 ม.ค. 2560 ควรจะเป็นช่วงเวลาที่ปลอดดอกเบี้ย เพราะยังไม่ถึงกำหนดเวลาที่จะต้องชำระเงิน แล้วอีกอย่างตัวผู้ออกบัตรเองก็ได้รับค่าธรรมเนียมจากร้านค้าในอัตราที่ประมาณ 2% บวกลบอยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนร้านค้าเหล่านี้ก็แอบมาบวกในราคาค่าสินค้าและบริการที่ผู้ใช้บัตรนำบัตรเครดิตมารูดซื้อ ดังนั้นจำนวนวันที่ผู้ออกบัตรควรจะเริ่มคำนวณเพื่อคิดดอกเบี้ยกับผู้ใช้บัตร ควรจะเริ่มคิดตั้งแต่วันที่ครบกำหนดชำระจนถึงวันที่ผู้ใช้บัตรชำระเงินดังกล่าว

2.ยอดเงินต้นที่ผู้ออกบัตรนำมาคำนวณเพื่อคิดดอกเบี้ยกับผู้ใช้บัตร โดยปกติผู้ออกบัตรจะคำนวณเงินต้นจากยอดเงินทั้งหมดที่ผู้ใช้บัตรใช้ไปในระหว่างงวดนั้นๆ โดยไม่นำเงินที่ผู้ใช้บัตรได้ชำระบางส่วนมาหักออกก่อน เช่น ผู้ใช้บัตรรูดซื้อสินค้าไปภายในงวดนั้นเป็นเงิน 5 หมื่นบาท มีชำระขั้นต่ำไป 5,000 บาท แทนที่ผู้ออกบัตรจะคิดดอกเบี้ยจาก 5 หมื่น-5,000 = 4.5 หมื่นบาท กลับคิดดอกเบี้ยจากเงินต้น 5 หมื่นบาท ซึ่งถือว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้บัตรอย่างมากเป็นอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้วตั้งแต่เราเริ่มมีบัตรเครดิตใช้ ไม่เข้าใจจริงๆ ว่า ธปท.ไม่ว่าสมัยไหนก็ตาม ล้วนแต่ปล่อยให้ธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเอาเปรียบประชาชนอย่างมากไว้ได้อย่างไร ถ้ายังไม่มีมาตรการใดออกมา ก็แสดงว่า ธปท.แคร์ธุรกิจเหล่านั้น แต่ไม่ใส่ใจและไม่เห็นใจประชาชนตาดำๆ ที่จำเป็นต้องใช้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล อย่าถึงกับให้ประชาชนต้องมาจุดธูปบนบานให้อาจารย์ป๋วยมาช่วยเลยนะครับ