posttoday

พลังหญิงสร้างชาติ

01 มิถุนายน 2560

โดย...เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โดย...เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาได้รับเชิญเป็นวิทยากรในงาน 2017 Global Summit of Women ที่กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นงานรวมพลของผู้หญิงระดับแนวหน้าจากทั่วโลกกว่า 1,500 คน 62 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารหญิง หรือผู้นำองค์กรที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยการจัดงานประจำปีครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 26 แล้ว และครั้งถัดไปจะจัดที่กรุงซิดนีย์ ออสเตรเลีย      

คณะผู้จัดได้เห็นความสำคัญของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หน่วยงานสำคัญที่มีผลต่อประสิทธิภาพของนโยบายการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการทำงาน และการเสริมสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างแรงงานหญิงและชาย รวมทั้งการให้โอกาสการเติบโตสู่ระดับผู้บริหารของผู้หญิง โดยบริษัทที่จดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ของทุกประเทศ มีธุรกิจที่มีการจ้างบุคลากรและผู้บริหารจำนวนมาก

บริษัทใน ตลท.จ้างแรงงานโดยตรง 1.2 ล้านคน ไม่นับรวมการจ้างแรงงานของบริษัทลูกและซัพพลายเชน ไทยไม่มีนโยบายเรื่องความไม่เท่าเทียม อัตราจ้างงานนั้นมิได้แบ่งตามเพศ และผู้หญิงมีความก้าวหน้าและเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กร    

การไปเป็นวิทยากรครั้งนี้ ดิฉันเล่าถึงการพัฒนาของไทยในนโยบายความเท่าเทียมด้านการจ้างงาน แรงงานของทั้งหญิงและชายโดยไม่กีดกันทางเพศ  ถ้าดูในองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัท พบว่า 80% ของ บจ.ใน ตลท.นั้นมีกรรมการที่เป็นผู้หญิงอย่างน้อย 1 คน เป็นกรรมการของบริษัท และเมื่อพิจารณาจากจำนวนเฉลี่ยโดยรวม มีกรรมการผู้หญิง 30% และซีอีโอของ บจ.นั้นมีแนวโน้มเป็นผู้หญิงมากขึ้น โดยมี 7% ของทั้งหมด แต่ผู้บริหารระดับรองลงไปนั้นพบว่ามีสัดส่วนเป็นผู้บริหารผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจด้านการเงิน ธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์อย่างใน ตลท. มีพนักงานหญิง 70% และพนักงานชาย 30% และพนักงานที่เป็นผู้บริหารอยู่ในอัตราใกล้เคียงกัน

แต่เมื่อฟังข้อมูลของประเทศอื่นแต่ละประเทศนั้นมีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่มีความแตกต่างกัน ประเทศยุโรปเหนือจะมีความเสมอภาคทางเพศเป็นอย่างยิ่ง ประเทศอาเซียน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย มีความก้าวหน้ากว่าหลายประเทศ ไทยมีผู้นำหญิงที่เข้มแข็งในภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาคการเมือง แต่ที่ดูจะมีประเด็นคือประเทศทางเอเชียเหนือ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ที่มีวัฒนธรรมของประเทศที่ฝ่ายหญิงจะเป็นแม่บ้านคอยเลี้ยงดูลูกหลาน ทำให้ผู้หญิงในระบบแรงงานและผู้บริหารอยู่ในระดับที่ต่ำมาก สำหรับญี่ปุ่นได้เปลี่ยนทัศนคติจากเดิมไปสู่การเปิดกว้าง

นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ประกาศนโยบายในการฟื้นฟูญี่ปุ่นเรื่องความเท่าเทียมกันของแรงงาน  อัตราค่าจ้างเป็นอัตราเดียวกันไม่ว่าจะเป็นเพศใด และกำหนดให้มีนโยบายส่งเสริมให้มีแรงงานสตรีในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเพิ่มมูลค่าของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)  ของประเทศ และตั้งเป้าให้มีสตรีในระดับผู้บริหารมากขึ้นเป็น 30% ในปี 2563 จากปัจจุบันสัดส่วนดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ 

กระแสความตื่นตัวเรื่องบทบาทของผู้หญิงนั้นเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในระดับผู้บริหารนั้นมีการส่งเสริมและมีมาตรการออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อาเบะได้รับความชื่นชมจากชาวญี่ปุ่น เสมือนว่า Womanomics นั้น จะเป็นนโยบายสำคัญที่จะนำพาญี่ปุ่นให้สามารถฟื้นฟูประเทศกลับมาได้ จากปัจจุบันที่มีข้อกังวลอย่างมากในปัญหาเรื่องประชากรสูงอายุ และอัตราการเกิดของเด็กน้อยกว่าอัตราการตายของประชากร ทำให้ประสิทธิภาพของการผลิตในระบบเศรษฐกิจถดถอย

อีกมาตรการที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนการทำงานของผู้หญิงได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ การตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่ม Childcare Center เพื่อให้เด็กที่รอการให้บริการนี้ลดลงไปที่ 0 เพื่อที่ผู้หญิงจะกลับเข้าทำงานในระบบได้ในเวลาที่สมควร  ครอบครัวญี่ปุ่นมักเป็นครอบครัวเดี่ยวที่เมื่อแต่งงานแล้ว ฝ่ายหญิงก็ต้องออกมาเลี้ยงดูบุตรและมีปัญหาที่ Childcare Center นั้น มีจำนวนน้อยกว่าความต้องการมาก และรัฐบาลยังให้นโยบายส่งเสริมให้บริษัทอนุญาตให้สามีลาไปช่วยเลี้ยงดูบุตรได้ รวมทั้งมีมาตรการส่งเสริมด้านภาษี

สำหรับตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นนั้น มีส่วนร่วมในการสนับสนุนบทบาทของสตรี โดยให้ บจ.ตระหนักถึงการเพิ่มสัดส่วนของผู้บริหารหญิงและของคณะกรรมการ โดยต้องให้ข้อมูลแก่ตลาดหลักทรัพย์อย่างสม่ำเสมอ ก็เชื่อว่ามาตรการของญี่ปุ่นนั้นจะมีความก้าวหน้าต่อไป

ญี่ปุ่นจะมุ่งหน้าไปในทางใด จากที่อาเบะตั้งเป้าเป็น Japan Society 5.0 เป็น New Era Super Smart Society