posttoday

พึ่งพากำไรจากกลุ่มพลังงานมากเกินไป

23 พฤษภาคม 2560

โดย...ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย

โดย...ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย

จากการรวบรวมผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จนถึง 06.00 น. ของวันที่ 16 พ.ค. 2560 มีจำนวนบริษัทที่รายงานงบออกมาแล้วทั้งสิ้น 504 บริษัท คิดเป็น 95.51% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) โดยสามารถทำผลกำไรสุทธิรวมได้สูงถึง 2.76 แสนล้านบาท +18.13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ +35.76% จากไตรมาส 4 ปี 2559 ซึ่งถือเป็นระดับกำไรรายไตรมาสที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของ SET

ไส้ในของผลประกอบการจะพบว่ากำไรที่ออกมามากกว่าคาดจะเกิดจากกลุ่มหุ้นใหญ่ ที่อิงกับราคาโภคภัณฑ์เป็นหลักทั้งพลังงานและปิโตรเคมี โดยกลุ่มพลังงานทั้งกลุ่ม 19 บริษัท มีกำไรสูงถึง 7.94 หมื่นล้านบาท (คิดเป็น 28.87% ของกำไรรวมทั้งตลาด ขณะที่มีมาร์เก็ตแคป 19% เมื่อเทียบกับทั้งตลาด) เฉพาะที่ Bloomberg Consensus คาดการณ์ 10 บริษัท จะมีกำไร 7.62 หมื่นล้านบาท มากกว่าที่ Consensus คาดไว้ที่ 4.95 หมื่นล้านบาท กว่า 53.93%

ปิโตรเคมีบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) มีกำไรรวม 3.50 หมื่นล้านบาท มากกว่าที่ Consensus คาดไว้ที่ 2.75 หมื่นล้านบาท กว่า 27% ทั้งนี้เมื่อรวมกำไรของกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี (รวม SCC) จะสูงถึง 1.14 แสนล้านบาท (คิดเป็น 41.3% ของกำไรรวมทั้งหมด) ถือว่ามากเกินไปเมื่อเทียบกับขนาดมาร์เก็ตแคปรวมทั้งสองกลุ่มที่ 27% ของตลาด

เมื่อดูเฉพาะบริษัทที่ KS Research ออกบทวิเคราะห์จำนวน 100 บริษัท (คิด 75% ของมาร์เก็ตแคปทั้งตลาด) จะมีกำไรสุทธิในงวดไตรมาส 1/2559 รวม 2.30 แสนล้านบาท +27.26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน +35.51% จากไตรมาส 4 ปี 2559 ซึ่งใน 100 บริษัท จะมี 77 บริษัทที่ KS Research ทำการคาดการณ์ผลประกอบการงวดไตรมาส 1 ปี 2560 โดยมีผลกำไรสุทธิรวม 1.99 แสนล้านบาท +35.05% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน +39.58% จากไตรมาส 4 ปี 2559 ถือว่าสูงกว่าที่ KS Research คาดไว้ที่ 1.75 แสนล้านบาท อยู่ 13.64%

สาเหตุหลักที่ทำให้ผลกำไรรวมของบริษัทที่ KS Research ออกมาดีกว่าที่คาด มาจากกลุ่มพลังงาน (KS Research ออกบทวิเคราะห์ในกลุ่มนี้ 7 บริษัท คือ บริษัท บางจากปิโตรเลียม (BCP) บริษัท ปตท. (PTT) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) บริษัท ไทยออยล์ (TOP) บริษัท บ้านปู (BANPU) บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) มีกำไรรวม 7.21 หมื่นล้านบาท มากกว่าที่คาดไว้ที่ 5.63 หมื่นล้านบาท ถึง 28.14% กลุ่มปิโตรเคมี (KS Research ออกบทวิเคราะห์ในกลุ่มนี้ 3 บริษัท บริษัทไออาร์พีซี (IRPC) IVL PTTGC มีกำไรรวม 2 หมื่นล้านบาท มากกว่าที่คาดไว้ 1.60 หมื่นล้านบาท 24.66% และวัสดุก่อสร้าง (SCC SCCC TASCO) มีกำไรรวม 1.92 หมื่นล้านบาท มากกว่าที่คาดไว้ 1.48 หมื่นล้านบาท 15.56%

การที่ผลประกอบการของกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีออกมาโดดเด่น นอกจากจะได้ผลกำไรจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากแนวโน้มขาขึ้นของราคาน้ำมันและส่วนต่างราคาวัตถุดิบกับราคาขาย (สเปรด) ปิโตรเคมี ยังได้รายการพิเศษจากกำไรของอัตราแลกเปลี่ยนและสินค้าคงคลัง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกำไรในงวดนี้ราว 15-20% ความเสี่ยงจึงอยู่ที่ในงวดไตรมาส 2 ปี 2560 และยาวถึงครึ่งหลังของปี 2560 หากราคาน้ำมันมีการปรับลดลง และเงินบาทกลับไปอ่อนค่า จะทำให้ผลประกอบการของกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีมีโอกาสหดตัวลงมาและกลายเป็นถ่วงตลาดได้

กำไรของตลาดที่มีแต่กลุ่มหุ้นใหญ่โดดเด่น ถือเป็นโครงสร้างที่ไม่สมดุล โดยกลุ่มหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศส่วนใหญ่จะรายงานงบออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดหวัง และนำไปสู่การปรับลดคาดการณ์ของ Consensus ในหลายๆ บริษัท จากการรวบรวมล่าสุด พบว่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากที่ภาค Real Sector ทยอยประกาศงบ พบว่า Consensus ได้มีการปรับคาดการณ์กำไรรายบริษัทลงกว่า 47 บริษัท คิดเป็น 36.3% มาร์เก็ตแคป และปรับราคาพื้นฐานลง 53 บริษัท คิดเป็น 30% มาร์เก็ตแคปขณะที่มีการปรับคาดการณ์กำไรรายบริษัทขึ้น 39 บริษัท คิดเป็น 32.6% มาร์เก็ตแคป) และปรับราคาพื้นฐานขึ้น 51 บริษัท คิดเป็น 52% มาร์เก็ตแคป (ส่วนใหญ่ที่ปรับขึ้นจะเป็นหุ้นใหญ่)

ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากนี้เมื่อผ่านช่วงประชุมนักวิเคราะห์จะได้เห็นการปรับลดประมาณการกันมากขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าแม้บริษัทขนาดใหญ่จะถูกปรับมูลค่าพื้นฐานขึ้น แต่บริษัทส่วนใหญ่ในตลาดที่เป็นขนาดกลาง-เล็กกำลังถูกปรับลดลงมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกดดันตลาดในระยะถัดไป