posttoday

จัดเงินในกระเป๋าง่ายๆ โดยใช้หลัก "เงิน 3 ก้อน"

10 พฤษภาคม 2560

โดย...เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP กองทุนบัวหลวง

โดย...เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP กองทุนบัวหลวง

ปัจจุบันคนไทยหันมาใส่ใจเรื่องการจัดการเงินๆ ทองๆ มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงได้ง่ายในโลกโซเชียล การรับรู้และกระแสในวงกว้างทำให้เกิดคำถามตามมา เพราะส่วนใหญ่รู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องจำเป็น แต่ก็หยุดอยู่แค่นั้น ยังไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไรจึงจะถูกต้อง ในเรื่องของ ฮาว ทู?

การใช้ที่ปรึกษาการเงิน หรือให้ผู้รู้ช่วยจัดให้ เป็นทางเลือกที่คนส่วนใหญ่นึกถึง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงนักวางแผนการเงินได้ ทำให้ผู้คนจำนวนมากยังไม่ได้เริ่มต้น

หลักการ “เงิน 3 ก้อน” เป็นการจัดการเงินขั้นพื้นฐาน เป็นคำแนะนำง่ายๆ ที่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้ด้วยตนเอง ช่วยให้ผู้ปฏิบัติสามารถตั้งหลักได้ แยกเงินเป็น ช่วยให้เริ่มต้นเก็บออมและลงทุนได้อย่างถูกต้อง และไม่สับสนเมื่อถึงเวลาใช้จ่าย ตามเป้าหมายที่วางไว้

“เงิน 3 ก้อน” เริ่มต้นด้วยการจัดการเงินกำหนดเป้าหมายใหญ่ของเงินในกระเป๋า รวมถึงเงินรายได้ที่จะได้รับ โดยให้จัดเงินเป็น 3 ก้อน ได้แก่

1) เงินใช้จ่ายประจำ

2) เงินสำรองยามฉุกเฉิน และ

3) เงินลงทุนตามเป้าหมาย

ก้อนที่ 1 เงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รายเดือน รวมถึงเงินผ่อนจ่ายต่างๆ และเงินที่จะต้องจ่ายออกใน 3 เดือน เงินก้อนนี้ต้องการสภาพคล่องสูง ถอนได้เมื่อต้องการ ไม่ขาดทุน ห้ามนำไปเสี่ยง เน้นความปลอดภัยสูง

การเก็บที่เหมาะสมสำหรับเงินก้อนที่ 1 คือ การฝากไว้ที่บัญชีออมทรัพย์ ที่ไม่ติดเงื่อนไขการถอน (ไม่ใช่บัญชีออมทรัพย์ประเภทที่กำหนดให้ถอนได้เพียง 1-2 ต่อเดือน) สำหรับเงินที่ต้องจ่าย แต่ไม่รีบจ่ายใน 1 เดือน อาจจะเก็บไว้ในกองทุนตราสารหนี้ที่ใช้บริหารสภาพคล่อง หรือกองทุนรวมตลาดเงิน (MoneyMarket Fund) เมื่อขายคืนจะได้เงินภายใน 1 วันทำการ แนะนำว่าควรมีบริการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต หรือผ่านระบบมือถือ จะสะดวกขึ้นมาก

กองทุนบริหารสภาพคล่อง หรือกองทุนรวมตลาดเงิน แม้ผลตอบแทนจะไม่มาก แต่โดยรวมก็ยังดีกว่าการปล่อยเงินไว้ในออมทรัพย์เฉยๆ โดยไม่ได้ทำอะไร และประโยชน์อีกอย่าง คือ การเก็บเงินไว้ออมทรัพย์แค่พอใช้จ่ายแต่ละเดือน คือจะช่วยคุมการใช้เงินได้ด้วย

ก้อนที่ 2 เงินสำรองยามฉุกเฉิน เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ละเลย ไม่ให้ความสำคัญ ทั้งที่มีความจำเป็นอย่างมากในสถานการณ์ฉุกเฉิน หลักคิดของเงินก้อนนี้ คือ วันใดที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ทำงานไม่ได้หรือรายได้ไม่เข้ามา ก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในรูปแบบเดิมๆ หรือใกล้เคียงเดิม ได้ไปอีกอย่างน้อย 4-6 เดือน ดังนั้นเงินก้อนนี้ควรมีไว้อย่างน้อยเท่ากับ 4-6เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือนทั้งรายจ่ายประจำ และการผ่อนชำระต่างๆ

เงินส่วนนี้ควรแยกออกจากเงินใช้กรณีเจ็บป่วยให้ชัดเจน เพราะเป้าหมายคือสำรองเพื่อการดำรงชีพในสภาวะที่ขาดรายได้ ไม่ใช่กรณีเจ็บป่วย ซึ่งในวันที่เกิดเหตุไม่คาดคิด จะได้ไม่เดือดร้อน ไม่ลนลาน เพราะยังสามารถอยู่ได้ ไม่ต้องถูกสถานการณ์บีบคั้นให้เร่งหารายได้ จนทำให้ตัดสินใจในสิ่งที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับอนาคต

เงินสำรองยามฉุกเฉินควรมีเท่าไร 3 หรือ 4 หรือ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายและภาระรายเดือน เรื่องนี้ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่หากนำเรื่องการคุ้มครองความเสี่ยงมาประยุกต์ใช้ ก็จะมี 2 เรื่องให้พิจารณา คือ โอกาสที่รายได้จะไม่เข้าหรือตกงานมีมากน้อยแค่ไหน และหากรายได้ขาดหายจริงจะเดือดร้อนมากน้อยแค่ไหน ถ้าเดือดร้อนมากก็ควรมีสำรองมาก เช่น พนักงานขายที่รายได้หลักขึ้นอยู่กับค่าคอมมิชชั่น ยอดขาย หรือเมื่อเก็บเงินลูกค้าได้ ความไม่แน่นอนของรายได้จะมากกว่าพนักงานฝ่ายบัญชี หรือผู้ที่มีเงินเดือนประจำ

พนักงานกลุ่มนี้ก็ควรมีเงินสำรองยามฉุกเฉินที่มากกว่า หรือผู้ที่มีภาระความรับผิดชอบด้านค่าใช้จ่ายสูง คนทำงานที่มาจากต่างจังหวัดต้องเช่าหอพักอยู่หรือผ่อนคอนโด หรือมีภาระหน้าที่หลักในการส่งเสียเลี้ยงดูครอบครัว หรือบุพการีรายเดือน หากขาดรายได้ ก็จะประสบปัญหามากกว่าคนทำงานที่มีบ้านของตนเองหรืออยู่บ้านเดียวกับพี่น้องพ่อแม่ หรือผู้ที่โสดไม่มีบุคคลในการอุปการะดูแล เป็นต้น

เงินก้อนที่ 2 มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บไว้ในที่ความเสี่ยงต่ำเช่นเดียวกัน แต่อาจจะรับความผันผวนหรือมีข้อจำกัดได้บ้าง เพื่อเพิ่มโอกาสของผลตอบแทน แต่ก็ไม่ควรนำไปลงทุนในกองทุนหุ้น หรือกองทุนที่มีความผันผวนสูง อาจจะใช้กองทุนตราสารหนี้ที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายเป็นที่เก็บออม หรือใครสะดวกจะใช้กองทุนรวมตลาดเงินก็สามารถทำได้ ในกรณีที่ไม่เกิดปัญหา

เงินก้อนนี้ก็จะลงทุนหรือฝากไปเรื่อยๆ เสมือนส่วนที่ลงทุนยาวในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือแม้แต่จะใช้วิธีฝากประจำไว้กับธนาคารเพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยดีกว่าการแช่ไว้ในบัญชีออมทรัพย์ก็ทำได้ ในวันที่เกิดความจำเป็นต้องใช้เงิน ก็สามารถถอนได้เพียงแต่ไม่ได้รับดอกเบี้ยในงวดนั้น

เงินก้อนที่ 3 เงินลงทุนตามเป้าหมาย ภายหลังการจัดระเบียบเงินลงทุนก้อนที่ 1 และเตรียมเงินสำรองยามฉุกเฉินก้อนที่ 2 เรียบร้อยแล้ว เงินก้อนที่ 3 ก็จะมีการจัดแบ่งตามระยะเวลาตามเป้าหมายการใช้เงินเป็น ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้น คือการลงทุนที่มีเป้าหมายต้องใช้เงินนั้นภายในไม่เกิน 3 ปี เป้าหมายระยะกลาง คือแผนจะใช้เงินภายใน 3-7 ปี เช่นเป้าหมายการเงินเตรียมเรียนต่อ ท่องเที่ยว ดาวน์รถ ดาวน์บ้าน แต่งงาน เตรียมปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน เป็นต้น

การลงทุนสำหรับเป้าหมายระยะสั้น โดยเฉพาะเงินที่ต้องใช้ภายใน 1 ปี ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก ไม่ควรลงทุนในหุ้น หรือกองทุนหุ้น เพราะมูลค่าจะมีความผันผวน การเก็บเงินหรือลงทุนควรใช้กองทุนตราสารหนี้หรือการฝากบัญชีธนาคาร เนื่องจากผันผวนต่ำ

การลงทุนสำหรับเป้าหมายระยะกลาง ควรเป็นการลงทุนผสมผสานทั้งตราสารหนี้และหุ้นในระดับที่พอเหมาะ แม้จะมีระยะเวลาที่ยาวขึ้น เช่น นาน 5 ปี 7 ปี จนหลายคนคิดว่านานพอและน่าจะลงทุนในหุ้นได้ในสัดส่วนที่สูง แต่อย่าลืมว่าเวลาเดินอยู่ตลอดเวลา เป้าหมายระยะกลางเมื่อเวลาผ่านไปจะกลายเป็นเป้าหมายระยะสั้นได้เร็วมาก จึงควรระมัดระวังการลงทุนในหุ้นสำหรับเป้าหมายระยะกลาง โดยกำหนดสัดส่วนที่พอเหมาะ และปรับลดสัดส่วนลงเมื่อเวลาลดลง และเมื่อกลายเป็นเป้าหมายระยะสั้นตามเวลาที่ลดลง

เป้าหมายระยะยาว เช่น แผนเตรียมเกษียณ ที่มีระยะเวลายาวนานเกิน 7 ปีขึ้นไป สามารถจัดสรรการลงทุนให้ลงทุนในหุ้นหรือกองทุนหุ้นได้ในสัดส่วนที่สูง (บางตำราบอกว่า เกิน 5 ปีก็เป็นเป้าหมายระยะยาวแล้ว) แนวคิดสำคัญสำหรับการลงทุนในหุ้นสำหรับเป้าหมายระยะยาวก็คือ เมื่อมีระยะเวลานานพอ การลงทุนก็ควรทำให้ได้ประโยชน์เต็มที่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ การลงทุนในหุ้นที่นานพอ ระยะเวลาจะช่วยลดความผันผวนระหว่างทางได้เป็นอย่างดี เพื่อให้มีโอกาสรับผลตอบแทนโดยรวมที่สูง ทำให้การบรรลุเป้าหมายการลงทุนเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น