posttoday

ยุโรปและทรัมป์ ล้วนเป็นปัจจัยที่จะทำให้บาทอ่อน

01 พฤษภาคม 2560

โดย...ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย

โดย...ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย

ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และยุโรป (อีซีบี) มีสาระสำคัญดังนี้

1.บีโอเจมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยเงินฝากระหว่างธนาคารที่ ลบ 0.1% พร้อมคงมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล กองทุน ETFs และกองทุน J-REITs ภายใต้วงเงิน 80 ล้านล้านเยน/ปี โดยควบคุมดอกเบี้ยระยะยาว 10 ปี ไว้ที่ 0% (QQE with Yield Curve Control)

2.บีโอเจปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2560 ลงเป็น 1.4% จากเดิม 1.5% แต่ปรับคาดการณ์อัตราเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2560 ขึ้นเป็น 1.6% จาก 1.5% และปี 2561 เป็น 1.3% จาก 1.1%

3.อีซีบีคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระหว่างธนาคาร ลบ 0.4% พร้อมคงแผนผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) 6 หมื่นล้านยูโร/เดือน ไปจนถึงสิ้นปี 2560

4.แม้อีซีบียังไม่มีการหารือในการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน แต่ประธานอีซีบี มาริโอ ดรากี ได้กล่าวว่าเศรษฐกิจยุโรปมีการฟื้นตัวตามวงจร และความเสี่ยงในช่วงขาลงได้เบาบางลงแล้ว

การคงนโยบายการเงินของทั้งบีโอเจและอีซีบีสามารถตีความได้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้แย่ไปกว่าเดิม และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายเพิ่มเติม และการที่บีโอเจปรับเป้าหมายเติบโตจีดีพีขึ้น รวมไปถึงอีซีบีมองว่าเศรษฐกิจยุโรปกำลังฟื้นตัว บ่งบอกว่าเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วดีขึ้น ชี้นำถึงโอกาสที่ธนาคารกลางจะทยอยยุติการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย และเพิ่มความตึงตัวมากขึ้นตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ดำเนินการไปก่อนหน้า

เมื่อภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจะเป็นผลให้ภาพใหญ่ของกระแสเงิน จะต้องเห็นการไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ และไหลกลับเข้าตลาดพัฒนาแล้วอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยลบต่อ SET ที่จะต้องเผชิญกับสภาวะเงินไหลออกในกลางถึงยาว

แผนปฏิรูปภาษี โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้เปิดออกมาในเบื้องต้นแล้ว โดยจะมีการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสู่ระดับ 15% จากระดับ 35% และปรับลดภาษีเงินได้ของธุรกิจขนาดย่อมสู่ระดับ 15% จากระดับ 39.6% ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีการปรับจาก 7 ขั้น เหลือเพียง 3 ขั้น โดยผู้มีรายได้ในขั้นสูงสุดจะเสียภาษีในอัตรา 35% ส่วนอีก 2 ขั้น เสียภาษีในอัตรา 25% และ 10%

ทั้งนี้ แผนปฏิรูปภาษีดังกล่าว นอกจากจะไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ทำให้ตลาดกังวลการขาดดุลงบที่อาจเกิดขึ้น และทำให้ตลาดไม่มั่นใจว่าแผนดังกล่าวจะผ่านสภาคองเกรสได้

ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 0.10% ดัชนีลดลงเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับที่ดัชนีเพิ่มขึ้นเก็งกำไรเรื่องภาษีใน 2 วันก่อนหน้ากว่า 2.20% สะท้อนว่าแม้นโยบายทรัมป์จะไม่แน่นอน แต่ว่าตลาดกำลังตอบรับต่อ Trump’ s Trade Policy ที่กลับมาอีกครั้ง โดยเงินเหรียญสหรัฐเริ่มแข็งค่าขึ้นมา US Dollar Index กลับมาที่บริเวณ 99 (ฟื้นจากจุดต่ำสุด 98.69) เงินเยนอ่อนค่ามาอยู่ที่ 111.32 เยน/เหรียญสหรัฐ (เยนอ่อนค่ามา 4 วัน กว่า 1.84%)

บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) จะเป็นหุ้นที่ได้ดีจากการลดภาษีโดยตรง หากลดลงมาเหลือ 15% จะทำให้ IVL มีส่วนเพิ่มในประมาณการกำไรสูงถึง 9%  สำหรับผลการดำเนินงานงวดไตรมาสแรก ปี 2560 คาดว่าจะสูงถึง 3,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากไตรมาส 4 ปี 2559 และคาดผลการดำเนินงานรายไตรมาสของ IVL จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง ตามการแล้วเสร็จของโครงการ Rotterdam PTA expansion การเข้าซื้อกิจการของ Glenzstoff และโครงการปรับปรุง Gas Cracker ในสหรัฐ คงคำแนะนำซื้อ โดยมูลค่าพื้นฐาน 42 บาท

คาดว่าเงินเหรียญสหรัฐจะถูกซื้อคืนต่อเนื่อง เพราะนอกจาก Trump’ s Trade Policy ที่กลับมาอีกรอบ ยังมีเรื่องการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 2-3 พ.ค. 2560 ว่า เฟดจะเปิดสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปเป็นเดือน มิ.ย. 2560 ทั้งนี้ความน่าจะเป็นจาก Fed Fund Futures ในการขึ้นดอกเบี้ยเดือน พ.ค. จะยังอยู่ในระดับต่ำ 13.30% แต่เดือน มิ.ย. 2560 กลับพุ่งขึ้นมาที่ 69.70% (จากสัปดาห์ก่อนที่ยังอยู่เพียง 47%) สะท้อนว่าตลาดมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ 4 ครั้ง (2 ครั้งในครึ่งปีแรก คือ มี.ค.และ มิ.ย. อีก 2 ครั้งในครึ่งปีหลัง ก.ย. และ ธ.ค.)

มองบาทจะเริ่มอ่อนค่าและมีโอกาสกลับไปอ่อนเกิน 34.70 บาท/เหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเป็นการบีบให้เงินไหลออกได้ โดยก่อนหน้านี้นักลงทุนต่างประเทศยังไม่ได้ขายอย่างมีนัยสำคัญ เพราะบาทแข็งค่า แต่หากบาทอ่อนค่า เชื่อว่าจะไม่มีอะไรมารั้ง และกดดันดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ให้ขึ้นยาก