posttoday

ลงทุนอย่างไรดี ในภาวะดอกเบี้ยต่ำติดดิน

25 เมษายน 2560

นักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปยังมองไม่เห็นเลยว่า แนวโน้มของดอกเบี้ยจะกลับไปสู่ระดับสูงเหมือนช่วง 20 ปีก่อนหน้านี้

โดย...ทนง ขันทอง กองทุนบัวหลวง

ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยต่ำที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ทำให้เกิดคำถามว่า ผู้ออมเงินจะต้องทนกับสภาพดอกเบี้ยต่ำอย่างนี้ไปอีกนานเท่าใด

นักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปยังมองไม่เห็นเลยว่า แนวโน้มของดอกเบี้ยจะกลับไปสู่ระดับสูงเหมือนช่วง 20 ปีก่อนหน้านี้ ที่ผู้ออมเงินสามารถพึ่งพารายได้จากดอกเบี้ย เป็นรายได้ที่แน่นอน จนพอใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสบายๆ สำหรับผู้มีเงินฝากในจำนวนมากพอสมควร

แม้ว่า สแตนเลย์ ฟิชเชอร์ รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะออกมาพูดเมื่อวันก่อนว่า เฟดกำลังจะลดงบดุลของตัวเองลง จากระดับ 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน ซึ่งหมายความว่าเฟดจะต้องดึงสภาพคล่องในตลาดกลับเข้ามา ทำให้ดอกเบี้ยของเฟดจะต้องค่อยๆ ขยับตัวสูงขึ้นจากปัจจุบันที่ 1.0% แต่มีข้อสงสัยว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งในปีนี้ ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ ในเมื่อนโยบายการคลังของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ กำลังประสบกับปัญหา หรือแรงต้านจากการเมืองภายใน

ถ้านโยบายการคลังเกิดสะดุด การขึ้นดอกเบี้ยอาจจะทำได้ไม่ถนัดนัก ผลกระทบต่อดอกเบี้ยของโลกจะเป็นเช่นไร

สำหรับเมืองไทยเราแล้ว ต้องยอมรับว่าโอกาสที่ดอกเบี้ยจะขยับขึ้นสูงยังมีไม่มาก แม้ว่าความห่างของดอกเบี้ยไทยและดอกเบี้ยเฟดจะต่างกันเพียง 0.50% ก็ตาม แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พูดเสมอว่า จะบริหารนโยบายดอกเบี้ยของไทยให้เอื้อต่อการดูแลสภาพเศรษฐกิจไทย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายการเงินของต่างประเทศไปเสียทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ หลายคนมองว่าดอกเบี้ยมาตรฐานของไทยน่าจะอยู่ที่ 1.50% ต่อไป หรืออย่างมากก็อาจจะขึ้นได้ถึง 1.75% ในช่วงปลายปี ถ้าหากว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

เมื่อดอกเบี้ยไม่ได้ขึ้นสูงมาก โอกาสของผู้ออมเงินที่ต้องการรายได้สม่ำเสมอ และไม่ต้องการความเสี่ยงสูง จึงต้องขึ้นอยู่กับว่าจะบริหารเงินออมอย่างไร ในขณะนี้เงินฝากออมทรัพย์อยู่ในอัตรา 0.50% ส่วนเงินฝากประจำ 3 เดือน อยู่ที่ 1.0%, 6 เดือน อยู่ที่ 1.25%, 12 เดือนอยู่ที่ 1.50%, และ 24 เดือน อยู่ที่ 1.75% มองดูแล้วรายได้จากดอกเบี้ยนั้นแทบจะไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ยิ่งถ้าหากหักลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ 1.2% ซึ่ง ธปท.คาดการณ์ไว้ รายได้จากดอกเบี้ยนั้นพูดได้ว่าแทบจะไม่ได้ให้อะไร และอาจขาดทุนเสียด้วยซ้ำ ถ้าแช่เงินฝากไว้ในแบงก์นานๆ

ไม่มีสูตรตายตัวว่า การลงทุนอย่างไรดีที่สุด เพราะการลงทุนแต่ละอย่างมีโอกาสและความเสี่ยงในตัวมันเอง ภาวะดอกเบี้ยต่ำมาเป็นเวลานาน ทำให้เม็ดเงินถูกโยกเข้าไปยังตลาดหุ้น เพื่อหวังผลว่าจะได้กำไรจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น หรือได้เงินปันผลจากบริษัทที่มีผลประกอบการดี ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มสูงมากในช่วงที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันก็มีการโยกเงินฝากเข้าไปในตลาดพันธบัตรที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า มีทั้งพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรของเอกชน

แล้วจะเลือกลงทุนอย่างไร หรือต้องใช้เวลานานเท่าใดกว่าจะเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับความต้องการของเรา ทางออกที่ดีที่สุดคือเลือกลงทุนในกองทุนที่มีการกระจายความเสี่ยง และบริหารโดยนักบริหารมืออาชีพ โดยเน้นการกระจายความเสี่ยงไปยังประเภทสินทรัพย์ต่างๆ ในลักษณะกองทุนผสม ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ หรือบางส่วนไปลงทุนยังตลาดต่างประเทศ จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ยิ่งถ้ากองทุนดำเนินนโยบายลงทุนไม่เน้นความเสี่ยงที่หวือหวา ก็จะเหมาะสำหรับผู้ออมเงินที่ต้องการโอกาสรับผลตอบแทนสม่ำเสมอ จากพอร์ตลงทุนที่กระจายความเสี่ยงอย่างสุขุมรอบคอบ