posttoday

เตรียมพร้อม เพื่อชีวิตที่ดีวัยเกษียณ

20 เมษายน 2560

โดย...ศิริพร สินาเจริญ, CFA กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงศรี

โดย...ศิริพร สินาเจริญ, CFA กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงศรี

จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติกับคนในวัยที่เริ่มทำงาน พบว่า ร้อยละ 90% ของคนกลุ่มนี้มองเรื่องของการออมเงินและการเตรียมความพร้อมสำหรับชีวิตในวัยเกษียณเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก ทั้งที่ความจริงแล้วการเตรียมพร้อมในเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากมีการวางแผนและเริ่มลงทุนออมเงินได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะบรรลุเป้าหมายได้เร็วและง่ายขึ้นเท่านั้น

ปัจจุบันธนาคารโลกได้เสนอกรอบแนวคิดในการปฏิรูประบบบำนาญแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยใช้ทฤษฎีเสาหลัก 5 ต้น ดังต่อไปนี้

เสาต้นแรก คือ ระบบหลักประกันทางสังคมแบบที่ไม่ต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน เป็นการช่วยเหลือแบบให้เปล่า เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

เสาต้นที่สอง คือ ระบบบํานาญภาคบังคับ โดยมีการจ่ายเงินเข้ากองทุน ซึ่งอาจมาจากนายจ้าง ลูกจ้าง หรือภาครัฐ โดยมีภาครัฐเป็นผู้บริหารเงินก้อนดังกล่าว และจะได้รับผลประโยชน์หลังเกษียณ นั่นก็คือ ระบบประกันสังคม

เสาต้นที่สาม คือ ระบบบํานาญภาคบังคับที่กําหนดจํานวนเงินสะสมเข้ากองทุนเพื่อรองรับการเกษียณที่มีการบริหารจัดการโดยองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาเฉพาะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการออมเพิ่มเติมจากการออมในเสาต้นที่สอง ซึ่งก็คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการนั่นเอง

เสาต้นที่สี่ คือ ระบบบํานาญภาคสมัครใจที่กําหนดจํานวนเงินสะสมสำหรับรองรับการเกษียณ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) กองทุน LTF กองทุน RMF และประกันแบบบำนาญ เป็นต้น

เสาต้นที่ห้า เป็นระบบที่ใช้ทรัพย์สินอื่น เพื่อรองรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ เช่น โครงการ Reverse Mortgage ซึ่งในประเทศไทยยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก

เมื่อหันกลับมามอง 5 เสาหลักในประเทศไทย พบว่า เสาต้นแรก อาจไม่เพียงพอสำหรับคุณภาพชีวิตที่ดี เห็นได้ว่าจำนวนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้รับในแต่ละเดือนยังไม่เพียงพอสำหรับการยังชีพขั้นพื้นฐาน ส่วนเสาต้นที่สอง ก็ยังมีความเสี่ยงเรื่องความยั่งยืนของกองทุน เนื่องจากประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ในขณะที่ประชากรวัยแรงงานที่สามารถส่งเงินสมทบเข้าระบบประกันสังคมลดน้อยลง และในส่วนของเสาต้นที่สาม ก็ไม่มีในแรงงานภาคเอกชน ดูแล้วเสาต้นที่สี่ น่าจะเป็นความหวังสำหรับคนที่มีการเตรียมพร้อมตั้งแต่ยังอยู่ในวัยที่มีศักยภาพในการหารายได้

คำถามคือ แล้วเราจะบริหารจัดการเงินออมและควรมีการลงทุนอย่างไร เพื่อให้เงินออมงอกเงยและเพียงพอ ณ วันเกษียณ?

อย่างแรกที่ต้องรีบบริหารจัดการ คือ การกันเงินออมออกจากเงินเดือนอย่างน้อย 15% อย่างที่สอง คือ หาแหล่งลงทุนที่จะทำให้เงินลงทุนงอกเงยอย่างมั่นคง คำถามต่อมาคือ...แล้วมีการลงทุนในรูปแบบใดให้เลือกลงทุนได้บ้าง? 

คำตอบก็คือ มีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลายรูปแบบ เช่น กรณีที่ต้องการคุ้มครองความมั่งคั่งจากความเสี่ยง ก็จะเหมาะกับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ทั้งในส่วนของประกันชีวิตที่เน้นทุนคุ้มครองชีวิตสูง ประกันชีวิตที่เน้นผลตอบแทนคืนรายปี รวมทั้งประกันชีวิตที่ผูกเข้ากับหน่วยลงทุนกองทุนรวม

สำหรับกรณีที่ต้องการลงทุนเพื่อโอกาสในการเพิ่มความมั่งคั่งอาจพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะกับวัตถุประสงค์ในการลงทุนและระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ ทั้งนี้ โดยส่วนตัวแล้วมองว่ากองทุน RMF เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้แผนการลงทุนเพื่อเกษียณมีความต่อเนื่อง และช่วยให้ผู้ลงทุนมีเงินเพียงพอกับการใช้จ่ายเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยเกษียณ อีกทั้งการลงทุนในกองทุนดังกล่าวยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีควบคู่ไปกับโอกาสในการรับผลตอบแทนจากการลงทุนอีกด้วย

นอกจากนี้ กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่มีความน่าสนใจเช่นกัน โดยนักลงทุนสามารถลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้วเพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่มั่นคงสม่ำเสมอ เช่น กองทุนที่ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ของสหรัฐ หรือประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น หากนักลงทุนต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าประเทศดังกล่าวก็อาจพิจารณาลงทุนในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือตลาดเกิดใหม่ เช่น กลุ่มประเทศ BRIC (Brazil Russia India and China) ทั้งนี้ การลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงและความผันผวนที่สูงขึ้นเช่นกัน อีกทั้งเรายังสามารถเลือกลงทุนเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมได้อีกด้วย เช่น กลุ่มการแพทย์ กลุ่มพลังงาน กลุ่มเทคโนโลยี สิ่งสำคัญคือผู้ลงทุนจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ และพิจารณาจัดสรรเงินลงทุนอย่างเหมาะสมในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงและช่วยเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนที่ดีในทุกภาวะเศรษฐกิจนั่นเอง