posttoday

คอนโดย่านเพลินจิต แพงไปหรือยัง? (ตอนที่ 1)

15 มีนาคม 2560

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

ในช่วงเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ ได้สัมผัสกับระบบรถไฟฟ้าทั้งลอยฟ้าและใต้ดิน ทำให้คนส่วนใหญ่ถ้าเลือกได้ ก็อยากอยู่อาศัยที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า นอกจากจะเดินทางสะดวก และรวดเร็ว ทั้งยังคาดการณ์เวลาเดินทางได้แม่นยำ ทำให้ไม่ต้องเผื่อเวลารถติด คนอยู่คอนโด มิเนียมใกล้รถไฟฟ้า จึงนอนตื่นสายได้อีกหน่อย ยิ่งไปกว่านั้นบริเวณรอบๆ สถานีรถไฟฟ้า โดยเฉพาะสถานีที่อยู่ในตัวเมืองชั้นใน จะล้อมรอบไปด้วยอาคารสำนักงานเกรด A แหล่งช็อปปิ้งชั้นเลิศ โรงแรมระดับ 5 ดาว ร้านอาหารเก๋ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้

ปัจจุบันจุดศูนย์กลางในกรุงเทพฯ ที่เป็นแหล่งรวบรวมไลฟ์สไตล์ที่หรูหราคงไม่มีใครชิงตำแหน่งนี้ไปได้ นั่นก็คือ บริเวณสยามสแควร์ลากยาวมาถึงเพลินจิต ซึ่งมีทั้งสยามสแควร์ สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี โรงแรมพาร์คไฮแอท (ที่กำลังจะเปิด) เกษรพลาซ่า (ซึ่งกำลังจะเปิดอาคารใหม่อีก 1 อาคาร) เซ็นทรัล ชิดลม โรงเรียนมาแตร์เดอี ฯลฯ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำติดดิน ทำให้ผู้ที่มีความมั่งคั่งหลายคน ได้นำเงินบางส่วนที่ฝากธนาคารมาซื้อคอนโดใจกลางเมืองที่เป็นเกรดพรีเมียม โดยบางคนซื้อเก็บไว้เป็นบ้านหลังที่ 2 เอาไว้พักวันไหนที่เลิกงานดึก หรือเข้ามาพักวันที่มาทำธุระในเมือง ผมเคยมีเพื่อนคนหนึ่งซื้อคอนโดราคากว่า 20 ล้านบาท เอาไว้เปลี่ยนเสื้อผ้า ว้าว! เหตุผลเศรษฐีนี่มันบาดใจคนหาเช้ากินค่ำจริงๆ บางคนก็ซื้อไว้ให้บุตรหลานพักอาศัย เพื่อสะดวกในการเดินทางไปสถานศึกษา

เหตุผลในการซื้อคอนโดระดับบนเหล่านี้ที่มาแรง คือ การซื้อไว้เป็นทรัพย์สิน ในอดีตเศรษฐีหลายคนชอบที่จะซื้อรถยนต์แพงๆ หลายๆ คัน แล้วก็พบว่าต้องหมั่นมาคอยสตาร์ทรถอยู่เกือบทุกวัน เพื่อให้รถยนต์ยังใช้งานได้ปกติ ยิ่งไปกว่านั้นมูลค่ารถยนต์ที่ซื้อไว้หลายๆ คัน ก็มีค่าลดลงอย่างน่าใจหายเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้เศรษฐีหลายคนเลือกซื้อคอนโดเป็นทรัพย์สินไว้แทน ผมมีพี่ที่รู้จักท่านหนึ่ง นิยมซื้อคอนโดหรูในทำเลดีไว้ ท่านบอกว่ามีความสุขกับการเป็นเจ้าของคอนโดเหล่านี้มาก แหม! ผมอดจะแซวในใจไม่ได้ ก็มี UNREALIZED GAIN ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทแล้ว จากคอนโดหลายยูนิตที่ถือครองอยู่

สังเกตว่าใน 2-3 ปีนี้ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เห็นแนวโน้มเหล่านี้จึงเปิดตัวคอนโดไฮเอนด์ใจกลางเมืองมาตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ ยิ่งช่วงที่สถาบันการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อกับผู้ซื้อคอนโดระดับล่างและกลางล่าง บริษัทพัฒนาอสังหาฯส่วนใหญ่จึงหันมาพัฒนาคอนโดระดับบนแทน เราจึงเห็นคอนโดระดับบนถูกนำเสนอมาหลายโครงการ และราคาก็ไต่ระดับไปจนถึง 3-4 แสน/ตร.ม. ไปแล้ว

ดังนั้นการที่จะเลือกซื้อโครงการที่มีราคาสูงแบบนี้ คงต้องทำการบ้านกันมากหน่อย เพราะว่าราคาต่อยูนิตขนาดนี้ ด้วยเงิน 10 ล้านบาท คุณอาจจะได้คอนโดที่มีพื้นที่เพียง 25 ตร.ม.เท่านั้น

แต่ถ้าจะจับลูกค้ากลุ่มนี้ ขนาดต่อยูนิต อย่างน้อยคงต้องประมาณ 40 ตร.ม.ขึ้นไป สำหรับแบบ 1 ห้องนอน ดังนั้นราคาต่อยูนิต ขั้นต่ำก็ปาเข้าไปเกือบ 15 ล้านบาทแล้ว คนกลุ่มนี้ยังชอบอะไรที่ดู PRESTIGE และจำกัด นอกจากทำเลและสิ่งแวดล้อมที่ต้องดูหรูมากประเภทที่บอกกับใครต่อใครก็ได้เต็มปากเต็มคำว่า “ฉันอยู่ที่นี่” โดยคาดหวังว่าคนฟังจะต้องร้อง “ว้าว” นี่คือโจทย์ของนักพัฒนาที่จะต้องศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าให้ดี ส่วนโจทย์ของผู้ซื้อ เนื่องจากมีโครงการระดับพรีเมียม เหล่านี้ออกมาหลายโครงการให้เลือก ดังนั้นการที่จะซื้อคอนโดเกรดนี้ คงต้องทำการบ้านให้ดีเช่นกัน

นอกจากนั้น ยังมีผู้ซื้ออีกกลุ่มที่หวังผลตอบแทนจากการเช่า ซึ่งคนกลุ่มนี้ขอผลตอบแทนที่ได้มากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร 1-2 เท่าก็พอ แต่ราคาคอนโดในอนาคตต้องไม่ลดลง และถ้าราคาขึ้นไปได้อีก ถือเป็นของแถมที่น่ายินดี ผมได้ข้อมูลจากบริษัท ซีบีริชาร์ดเอลลิส หรือ CBRE สำหรับอัตราค่าเช่าในย่านเพลินจิต ซึ่งผลตอบแทนจากการเช่าจะได้เฉลี่ยที่ 1,100บาท/ตร.ม. ความต้องการในย่านนี้มีหลายรูปแบบ ทั้ง สตูดิโอ 1 ห้องนอน 2 ห้องนอน และ 3 ห้องนอน ซึ่ง 2 แบบหลังจะกระจุกตัวอยู่เฉพาะเขตเมืองชั้นใน อย่างเช่นเพลินจิต ราชดำริ และสาทร  ถ้าจะซื้อคอนโดย่านนี้หวังลงทุนเพื่อปล่อยเช่า ก็พอจะคำนวณอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังได้ แล้วนำมาเป็นตัวช่วยในการพิจารณาเลือกซื้อคอนโดของโครงการไหนกันได้บ้างแล้วนะครับ