posttoday

น้ำมัน อีซีบี เงินบาท และ KCE

14 มีนาคม 2560

โดย...ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย

โดย...ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย

วันนี้ผมขอพูดถึง 3 เรื่องที่ถือว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจของตลาดทุนในช่วงนี้ ตั้งแต่ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง โอกาสในการปรับเปลี่ยนนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และการอ่อนค่าของเงินบาท โดยจะขอเริ่มจากราคาน้ำมันเวสต์เทกซัส (WTI) ลงต่ออีก 2% ทำจุดต่ำสุดตั้งแต่ต้นปีที่ 49.28 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากแรงกดดันของสต๊อกน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐ ซึ่งรายงานโดยสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ปรับพุ่งขึ้น 8.2 ล้านบาร์เรล (มากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่ม 2 ล้านบาร์เรล) สู่ 528.4 ล้านบาร์เรล โดยเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 9 สัปดาห์ และยังเป็นระดับการขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากนั้น ราคาน้ำมันยังถูกแรงกดดันจากการแข็งค่าของค่าเงินเหรียญสหรัฐตามแรงเก็งกำไรการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันอาจมีแรงซื้อเก็งกำไรขึ้นมาอีกครั้ง ในช่วงใกล้การประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก (โอเปก) และนอกโอเปกที่คูเวตในวันที่ 25-26 มี.ค. คาดว่าการประชุมดังกล่าวจะทำให้กลุ่มนอกโอเปกเร่งลดกำลังการผลิตให้เป็นไปตามข้อตกลง ซึ่งปัจจุบันกลุ่มนอกโอเปกลดกำลังไปเพียง 50-60% ของข้อตกลงที่ 6 แสนบาร์เรล/วันเท่านั้น (ขณะที่กลุ่มโอเปกได้ทำการลดกำลังลงได้ถึง 93% ของที่ตกลงกันไว้ที่ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน) ทั้งนี้คาดว่ารัสเซียซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มนอกโอเปกจะมีการปรับลดลง 2 แสน และ 3 แสนบาร์เรล/วัน ตามลำดับในเดือน มี.ค. และ เม.ย. 2560

การประชุมธนาคารกลางยุโรป แม้ว่าจะคงมาตรการต่างๆ ทั้งการคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0% คง Deposit Rate ไว้ที่ลบ 0.4% และการคงมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ที่ระดับ 8 หมื่นล้านยูโร/เดือน จนถึงสิ้นเดือน มี.ค. ก่อนที่จะปรับลดสู่ระดับ 6 หมื่นล้านยูโร/เดือน ตั้งแต่เดือน เม.ย.-ธ.ค. 2560 รวมไปถึงการที่ประธานอีซีบี

มาริโอ ดรากี จะออกมายืนยันว่ายังต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายและมาตรการคิวอี เพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าหมาย ถึงแม้เงินเฟ้อจะพุ่งมาที่ 2% ในเดือน ก.พ. เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น (Cost Push) โดยเงินเฟ้อหลักยังอยู่ต่ำเพียง 0.9% แต่มองว่าการที่อีซีบีมีการปรับเป้าเงินเฟ้อปี 2560 ไปที่ 1.7% จากเดิม 1.3% และการเตรียมที่จะลด

คิวอีลงเหลือ 6 หมื่นล้านยูโร ตั้งแต่เดือน เม.ย.นี้ ก็เป็นการส่งสัญญาณว่าอีซีบีพร้อมที่จะลดและเลิกการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายในเวลาอีกไม่นาน ซึ่งเมื่อไหร่ที่อีซีบีจะเลิกใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย คาดว่าธนาคารกลางประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ก็จะต้องดำเนินตามเฟดที่ดำเนินการไปก่อนหน้า ทำให้เป็นแรงกดดันต่อกระแสเงินทุนที่จะไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ เพื่อย้อนกลับไปยังตลาดพัฒนาแล้วรุนแรงมากยิ่งขึ้น ถือเป็นความเสี่ยงต่อตลาดเกิดใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้

เงินบาทยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องล่าสุดทะยานถึง 35.42 บาท/เหรียญสหรัฐ แม้ว่าเงินเหรียญสหรัฐจะนิ่ง สกุลยูโรจะแข็งค่า 0.37% ก็ตาม สะท้อนว่าการอ่อนของเงินบาทเป็นผลมาจากกระแสเงินไหลออกที่ชัดเจน ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าบาทจะต้องอ่อนไปอย่างน้อยก็จนถึงช่วงใกล้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) วันที่ 14-15 มี.ค. 2560 แม้ว่าเฟด จะมีการขึ้นดอกเบี้ย แต่ตลาดก็จะไปกังวลกับความเสี่ยงที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 3 ครั้งในปีนี้ โดยให้ดู Dot Plot หากกรรมการเฟดมีการปรับดอกเบี้ยคาดการณ์ขึ้นจากเดิมที่ 1.375% เชื่อว่าจะทำให้เงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าต่อ และบาทอ่อนค่ายาวได้

โดยสายงานวิจัยตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย คาดว่าเงินบาทมีโอกาสที่จะอ่อนไปถึง 35.7 บาท/เหรียญสหรัฐ ในปี 2560 กลยุทธ์การลงทุนภายใต้บาทอ่อนค่าต่อเนื่องยังคงเลือกหุ้นบริษัทเคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยังได้ประโยชน์จากราคาทองแดงที่ปรับฐานลงอย่างต่อเนื่อง

ภาพ...เอเอฟพี