posttoday

กลุ่มแบงก์ปรับตัวขึ้นต่อ

21 กุมภาพันธ์ 2560

โดย...บล.กสิกรไทย

โดย...บล.กสิกรไทย

ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐยังคงทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง แม้ว่าแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจะปรับเพิ่มขึ้นรับข่าว โดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมประกาศแผนการลดภาษีครั้งใหญ่ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า แต่กลุ่มที่เป็นตัวนำยังคงเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์

ซึ่งมีน้ำหนักในดัชนี S&P500 สูงที่สุดถึง 5.32% โดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. 2560 กว่า 4.5% มากกว่ากว่า S&P500 ที่ปรับขึ้น 2.96% ปัจจัยหลักน่าจะมาจากความคาดหวังที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ มีคำสั่งปฏิรูปภาคการเงิน โดยเฉพาะคำสั่งทบทวนกฎหมาย Dodd-Frank (Dodd-Frank Wall Street Reform and Consumer Protection Act) ซึ่งถือเป็นปัจจัยเร่งโดยตรงต่อภาคธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐ และทำให้เกิดเหตุการณ์ราคาหุ้นธนาคารปรับตัวขึ้นทั่วโลก

กลุ่มธนาคารพาณิชย์ในดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เดือน ก.พ. 2560 ปรับตัวขึ้น 3.14% ทำให้ตั้งแต่ต้นปี 2560 ปรับขึ้นมาแล้ว 6.84% ที่น่าสนใจ คือ NVDR มีการเข้าซื้อสุทธิในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่ต้นปีกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท มากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกกลุ่มอุตสาหกรรม (NVDR ซื้อในตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่ต้นปี 2560 รวม 3.75 หมื่นล้านบาท) จากปริมาณการเข้าซื้อสุทธิของ NVDR ทำให้เห็นถึงโอกาสที่เม็ดเงินของนักลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่จะมุ่งเข้าหากลุ่มธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้ คาดว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์จะยังสามารถเดินหน้าปรับตัวขึ้นต่อได้ จากราคาหุ้นปัจจุบันที่ยังถูกกว่าตลาดมากอัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น(พี/อี เรโช) และราคาต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี  ต่ำเพียง 10.3 และ 1.4 เท่า ในขณะที่ให้อัตราเงินปันผล 2.9% โดย บล.กสิกรไทยเลือกหุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) (ให้ราคาเป้าหมาย 192 บาท) และธนาคารกรุงไทย (KTB) (ให้ราคาเป้าหมาย 21 บาท) เป็นหุ้นเด่นของกลุ่มต่อเนื่อง

แรงกดดันจากฟันด์โฟลว์เริ่มเบาลง เมื่อนักลงทุนต่างประเทศพลิกมาซื้อในวันที่ 16 ก.พ. 2560 จำนวน 1,430 ล้านบาท หากไม่นับรวมดีลการซื้อหุ้นรายการขนาดใหญ่ (บิ๊กล็อต) ของบริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL) และบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) เมื่อวันที่ 20 และ 26 ม.ค. 2560 การซื้อสุทธิเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา จะเป็นปริมาณที่มากที่สุดในรอบเดือนครึ่ง เช่นเดียวกับตลาดอนุพันธ์เมื่อต่างชาติพลิกมาเปิดสถานะซื้อสุทธิ (Long) ใน SET50 Futures จำนวน 6,380 สัญญา เป็นปริมาณที่สุดในรอบ 3 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของฟันด์โฟลว์ ภาพรวมยังเป็นแนวโน้มการไหลออก โดยขายสุทธิสะสมมาตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. 2560-ปัจจุบันกว่า 7,740 ล้านบาท หากไม่นับดีลบิ๊กล็อตจะเป็นขาย 1.47 หมื่นล้านบาท ส่วน SET50 Futures ซึ่งมีการเปิดสถานะขาย (Short) สะสมไว้กว่า 3 หมื่นสัญญาตั้งแต่ต้นปี ก็เป็นสิ่งที่น่าจับตา โดยเป็นไปได้ว่าน่าจะเป็นการเปิด Short เพื่อปิดสถานะ Long ที่เปิดสะสมไว้มาจากปี 2559-ปัจจุบัน กว่า 1.9 แสนสัญญา และเปิด Short ใหม่ใน S50M17 จึงทำให้สถานะคงค้าง (OI) ทั้งระบบของ SET50 Futures ยังไม่มีการปรับลดลง แต่กลับปรับขึ้นต่อเนื่อง โดย OI ปัจจุบันอยู่ที่ 3.19 แสนสัญญา ปรับเพิ่มขึ่น 12.7% จากสิ้นปี 2559 ที่ 2.83 แสนสัญญา แต่ยังต่ำกว่าระดับสูงสุดที่ทำไว้เมื่อเดือน พ.ย. 2559 ที่ 3.37 แสนสัญญา

ตลาดมีเรื่องให้เก็งกำไรระยะสั้น คือ แรงซื้อเพื่อเก็งผลประกอบการไตรมาส 4/2559 ที่จะคึกคักไปจนถึงวันที่ 28 ก.พ. ซึ่งจะมีการรายงานงบกว่า 517 บริษัท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) รวมถึง 53.56% โดยเฉพาะวันที่ 24 และ 28 ก.พ.จะมีการรายงานรวมกว่า 400 บริษัท ซึ่งก่อนที่จะถึงวันดังกล่าว เชื่อว่าจะมีแรงซื้อเพื่อเก็งกำไรล่วงหน้า แต่ควรระวังแรงขายเมื่อรับรู้ข่าวจริงที่จะเกิดในช่วงการรายงานงบเสร็จสิ้น