posttoday

หุ้นไทยมักบวกใน ก.พ.

06 กุมภาพันธ์ 2560

โดย...พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ, CFP, และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.หลักทรัพย์ ธนชาต

 โดย...พิชัย เลิศสุพงศ์กิจ, CFP, และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.หลักทรัพย์ ธนชาต email: [email protected]

หุ้นไทยในเดือน ก.พ. มักให้ผลตอบแทนเป็นบวก สถิติย้อนหลัง 16 ปีชี้ว่า มีถึง 12 ปี ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก เฉลี่ยอยู่ที่ 3% ยิ่งถ้าพิจารณาเฉพาะ 7 ปีล่าสุด ผลตอบแทนจะเป็นบวกทุกปี เฉลี่ย 3.7% สถิติยังชี้ว่า หุ้นกลุ่มธนาคาร ท่องเที่ยว และค้าปลีก มีโอกาสสูงกว่า 75% ที่จะให้ผลตอบแทนเป็นบวก สำหรับการลงทุนในเดือน ก.พ. ผมตั้งข้อสังเกตว่าอาจมาจากสาเหตุดังนี้ ประการแรก มีแรงซื้อเก็งปันผลที่บริษัทส่วนใหญ่จะทยอยประกาศในช่วง มี.ค.-เม.ย. หลังวิกฤตซับไพรม์ หุ้นส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ถูก กระแสเงินสดของธุรกิจทั่วไปก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่อยู่ในเกณฑ์สูงจึงดึงดูดแรงซื้อเก็งกำไรเข้ามาในตลาดหุ้นประการที่ 2 บริษัทส่วนใหญ่จะประกาศแผนธุรกิจช่วงต้นปี ซึ่งมักนำไปสู่การปรับประมาณการกำไร และราคาหุ้นเป้าหมาย จึงดึงดูดแรงซื้อเข้าตลาดหุ้น

ช่วงหลังวิกฤตซับไพรม์ เศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสแรกปี 2552 แล้วค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น นักธุรกิจจึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมุมมองเป็นบวกมากขึ้นในการวางแผนธุรกิจ

สำหรับปีนี้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้จะไม่สูงเหมือนช่วงหลายปี ขณะที่เราเห็นการปรับขึ้นประมาณการกำไรในหุ้นหลายกลุ่ม เช่น พลังงาน (ราคาพลังงานปรับสูงขึ้น) ธนาคาร (ปัญหา NPL ผ่านจุดที่แย่สุดไปแล้ว และเริ่มมีสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจ) โรงพยาบาลที่ให้บริการประกันสังคม สื่อ (การใช้งบโฆษณาเริ่มฟื้น)

ตลาดหุ้นจะมีแรงเหวี่ยงขึ้นต่อเนื่องจากปลายปี 2559 โดยมีเป้าหมายการปรับสูงขึ้นที่ 1,620 หรือถัดไปที่ 1,650 จุด แต่ตลาดหุ้นไทยเริ่มแพงแล้ว การแกว่งขึ้นรอบนี้จึงแนะแบ่งขายทำกำไรดัชนี SET ที่ 1,582 จุด มี Valuation ที่ตึงตัว ค่าพีอีที่ใช้ประมาณการกำไรปี 2560 สูงถึง 15.5 เท่า และส่วนต่างผลตอบแทนหุ้นเทียบกับพันธบัตร (12M-Forward Earning -Yield-Gap) ที่ต่ำเพียง 4.1% (อิง Bloomberg Consensus) เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 4.6% ส่วนต่างนี้ยิ่งกว้าง ยิ่งคุ้มเสี่ยงขณะที่ตลาดหุ้นภาพรวมเริ่มแพง แต่หุ้นค้าปลีก ท่องเที่ยวและธนาคารยังโดดเด่นสุด ในเดือน ก.พ. ธนชาตจึงแนะนำพอร์ตลงทุนให้ซื้อ AOT PLANB BJC IRPC KTB SAWAD SEAFCO TMB และ WHA หุ้นกลุ่มธนาคาร แม้ราคาจะปรับขึ้นมามากแล้วตั้งแต่ปลายปี 2559 แต่ในเชิง Valuation
ยังไม่แพง ความเสี่ยงจาก NPL เริ่มลดลง และไม่ใช่เรื่องใหม่ ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น รวมไปถึงบอนด์ยีลที่ไต่สูงขึ้นเป็นปัจจัยหนุนการขยายสินเชื่อ และถ่างส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หุ้นเด่นในกลุ่มนี้ได้แก่ TMB และ KBANK

หุ้นกลุ่มค้าปลีกคาดว่าจะได้แรงหนุนจากการบริโภคที่จะค่อยๆ ฟื้นตัว

กำลังซื้อในประเทศมีสัญญาณบวก หนุนโดยการฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ยางพาราและอ้อย ส่วนข้าวแม้ราคายังต่ำ แต่ปีนี้ทำนาปรังได้จากภาวะฝนฟ้าที่เป็นใจมากขึ้น

นอกจากนั้น การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลจะช่วยเติมเงินเข้ากระเป๋ามนุษย์เงินเดือนอีก 1.5 หมื่นล้านบาท/ปี ส่วนการปลดหนี้รถยนต์คันแรกจะช่วยลดภาระผ่อนหนี้ลง 1 และ 2 หมื่นล้านบาท ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ ขณะที่เม็ดเงินจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยราว 2 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ถึงมือเป้าหมายแล้ว

ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยเติมเงินเข้าระบบอีกราว 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นกว่า 1% ของ GDP กำลังซื้อฐานรากจึงมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว Valuation ยังไม่แพง ขณะที่ปัญหาปราบทัวร์ศูนย์เหรียญค่อยๆ คลายตัวลง นักท่องเที่ยวยุโรป โดยเฉพาะรัสเซียเริ่มฟื้นตัว ขณะที่คนไทยยังคงเดินทางท่องเที่ยว

“ทรัมป์เทรด” ยังคงมีอิทธิพลต่อตลาดการเงินโลกต่อไป หลังเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ตลาดหุ้นสหรัฐดีดแรง 8-9% ดอลลาร์แข็งค่า บอนด์ยีลพุ่ง ทำให้เกิดการปรับพอร์ตลงทุนทั่วโลก

ทีมเศรษฐกิจของทรัมป์ส่งสัญญาณอยากเห็นดอลลาร์อ่อน ทำให้เงินไหลย้อนกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายปกป้องทางการค้าของสหรัฐ

บาทแข็งค่าขึ้นจากระดับ 36 บาทช่วงสิ้นปี มาอยู่แถว 35 บาท/เหรียญสหรัฐ หากบาทเปลี่ยนทิศทางเป็นอ่อนค่าต้องระวังแรงขายทำกำไรทั้งหุ้น และค่าเงิน

สรุปว่า ตลาดหุ้นยังมีทิศทางเหวี่ยงขึ้น แต่เป็นจังหวะแบ่งขายทำกำไร และต้องติดตามทิศทางค่าเงินดอลลาร์/บาท ซึ่งจะอิทธิพลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน