posttoday

Trumponomicsเศรษฐกิจอเมริกาแบบทรัมป์

18 พฤศจิกายน 2559

โดย เจษฎา สุขทิศ, CFA &ชยนนท์ รักกาญจนันท์, AFPT INFINITI Global Investors, The Ultimate Investment Solution

โดย เจษฎา สุขทิศ, CFA &ชยนนท์ รักกาญจนันท์,  AFPT INFINITI Global Investors, The Ultimate Investment Solution

เราทราบผลการเลือกตั้งสหรัฐฯที่หักปากกาเซียนและบรรดาสำนักโพลไปพอสมควรผลกระทบจากการเลือกตั้งครั้งนี้จะนำไปสู่นโยบายที่เปลี่ยนไปของสหรัฐฯบทความตอนนี้2หนุ่มนักการเงินจะเปิดเผยมุมมองของเขาทั้งคู่ว่ามองผลกระทบมากน้อยขนาดไหนกัน

ชยนนท์ : ตอนก่อนเลือกตั้งสหรัฐฯผมก็รู้สึกลึกๆเหมือนกันว่ามีโอกาสพลิกล็อคเหมือนกันแต่จะให้ฟันธงก็คิดว่าคลินตันน่าจะคว้าชัยได้นะคุณเจท

เจษฎา : อย่างแรกที่สะท้อนให้เห็นก็คือการสำรวจโพลแบบเดิมๆเริ่มมีข้อจำกัดและทำให้ความแม่นยำลดลงสำนักวิเคราะห์ที่ใช้ข้อมูลBig Data ในการสำรวจความเห็นอาจจะเป็นเทรนด์ใหม่ที่น่าจับตานะ

ชยนนท์ : อืมอันนี้น่าสนนะการใช้เทคโนโลยีมีอิทธิพลกับคนในหลายมิติมากขึ้นเรื่อยๆตอนนี้ก็ไปถึงขั้นท้าทายการพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคตว่าจะแม่นยำกว่าคนหรือเปล่าแล้วมุมอื่นละคุณเจท

เจษฎา : ที่ผมสนใจอีกมุมก็คือผลการสำรวจความเห็นคนสหรัฐฯพบว่าคนที่ไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิตในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเลือกทรัมป์แต่ถ้ามองว่าตัวเองมีความสุขดีจะเลือกคลินตัน ซึ่งมันสะท้อนว่า สหรัฐฯเจอปัญหา Income Gap คือ มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวหลังวิกฤตปี 2008 ที่ผ่านมา

ชยนนท์ : ผมมองว่า นโยบายของทรัมป์เอง ไม่ว่าจะเป็น ลดภาษี, อัดฉีดเงินลงทุนภาครัฐฯ, เพิ่มงบประมาณขาดดุล ไม่น่าจะทำได้อย่างที่ตั้งใจทั้งหมดนะ คนอเมริกันแค่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงบ้าง เพราะถ้าเลือกคลินตัน เขาก็มองว่า นโยบายคงคล้ายๆเดิม ไม่ต่างจากที่โอบาม่า ทำมาตลอด 8 ปี

เจษฎา : ครับ แต่ถ้า Trumponomicsเกิดจริง มันจะทำให้นักลงทุนในตลาดเชื่อว่า จะทำให้เกิดเงินเฟ้อในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น นั่นขึ้นอยู่กับว่า ทรัมป์ก่อนเลือกตั้ง และทรัมป์หลังเลือกตั้งเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า?

ชยนนท์ : ถ้าให้ดูจากทิศทางการเคลื่อนไหวของตลาดทุนรอบโลก เหมือนนักลงทุนจะเชื่อไปแล้วว่าทรัมป์มา จะทำให้เกิดเงินเฟ้อในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น และโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยจะสูงขึ้น ล่าสุด เมื่อวันพฤหัสฯที่ผ่านมา ทางเว็ปไซส์ CME Group ก็แสดงตัวเลขให้เห็นว่า Fed Fund Futures ให้โอกาสสูงมากกว่า 94% ที่ FOMC สหรัฐฯจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 25bps ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. นี้นะครับ เมื่อรวมกันระหว่าง ท่าทีของเฟดที่มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯพร้อมขึ้นดอกเบี้ย บวกกับนโยบายเศรษฐกิจแบบทรัมป์แล้ว เชื่อว่า เรากำลังเข้าสู่ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นจริงๆละ (Rising Rate Environment) หลังจากที่รอดูท่าทีกันมาเป็นปีๆ

เจษฎา : ถ้าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯขึ้นจริงๆ สินทรัพย์ที่จะได้รับผลลบเต็มๆก็คือ “ตราสารหนี้ระยะกลาง และระยะยาว” เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้น ราคาตราสารหนี้ก็จะลดลง นี้คือหนึ่งอย่างที่ผมคาดการณ์ได้เลยว่าจะเกิดขึ้นแน่ในปีหน้านะ

ชยนนท์ : แต่กับสินทรัพย์ประเภทอื่น ผมว่า ยังไม่สามารถมองได้ชัด เพราะเรายังไม่รู้ว่า Trumponomics จะมาเต็มสูบมากน้อยแค่ไหน และยิ่งมีกระแสการประท้วงของผู้ไม่ใจผลการเลือกตั้งสหรัฐฯในรัฐฯต่างๆ ผ่านมา 1 สัปดาห์ก็ยังไม่ซาลงแบบนี้ เราก็คงต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปนะคุณเจท

แต่ผมฝากข้อมูลในอดีตเพิ่มเติมหน่อย ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1928 จนถึงปัจจุบัน มีช่วงที่ US Treasury 10 ปี (พันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปี) ปรับตัวขึ้นมากกว่า 50 bps ทั้งหมด 20 ครั้งจากการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้น หรือปัจจัยอื่นใดก็แล้วแต่ แต่มีเพียง 5 ปีเท่านั้น ที่ดัชนี S&P500 ให้ผลตอบแทนติดลบ และช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นใน 7 รอบหลังสุด นับตั้งแต่ปี 1983 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเป็นบวกในช่วงนั้นได้ทุกปี เฉลี่ยราวๆ+18% ใน 12 เดือนหลังจากการขึ้นดอกเบี้ย เห็นแบบนี้ ความคิดที่เรารู้สึกว่า “ดอกเบี้ยขึ้น แล้วหุ้นร่วง” คงต้องกลับมาคิดใหม่ดีๆกันนะครับ