posttoday

ทิศทางเม็ดเงิน ต่างชาติไหลออกต่อ

15 พฤศจิกายน 2559

โดย จิตรา อมรธรรมรองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์บล.ฟินันเซียไซรัส[email protected]

โดย จิตรา อมรธรรม รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์บล.ฟินันเซียไซรัส[email protected]

ผลกำไรสุทธิของบริษัทภายใต้การวิเคราะห์ของ บล.ฟินันเซีย ไซรัส (FSS Coverage) ในไตรมาส 3 ปี 2559 ออกมาใกล้เคียง คาดลดลง 14% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส แต่เพิ่มขึ้น 570% เมื่อเทียบปีต่อปี

การฟื้นตัวก้าวกระโดดเมื่อเทียบปีต่อปี มาจากกำไร/ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันของกลุ่มพลังงาน หากดูเฉพาะกำไรปกติจากการดำเนินงานหลัก พบว่าลดลง 16% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบปีต่อปี กำไรที่ลดลงเมื่อเทียบปีต่อปี เป็นไปตามโลว์ซีซั่นของหน้าฝน ผลประกอบการจึงลดลงแทบทุกธุรกิจ ยกเว้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม โรงพยาบาล (มีโรคที่มากับหน้าฝนเป็นจำนวนมาก)

ส่วนกำไรที่โตเมื่อเทียบปีต่อปี เป็นการเติบโตแทบทุกกลุ่ม โดยเฉพาะไฟแนนซ์ พลังงานทดแทน ค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม โรงพยาบาล ส่วนหุ้นที่กำไรดีกว่าคาดมาก เราปรับประมาณการขึ้นและยังแนะนำซื้อ ได้แก่ BEAUTY, MTLS ส่วนหุ้นที่ยังมีแนวโน้มดีและยังแนะนำซื้อแม้จะคงประมาณการเดิม ได้แก่ SCB, KKP, BEM, EKH, BJC สำหรับหุ้นที่ปรับกำไรและราคาเป้าหมายลง ได้แก่ ICHI, XO, BKD, BEC

BEAUTY สวยเหลือเชื่อ

BEAUTY เป็นหนึ่งในบริษัทที่กำไรออกมาดีเหลือเชื่อ 210 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 106% เมื่อเทียบปีต่อปี และ 52% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส มากกว่าคาดการณ์ของ FSS ที่ 148 ล้านบาท ถือเป็นการสร้างสถิติสูงสุดใหม่ที่น่าสนใจ เพราะเป็นการยกฐานกำไรขึ้นเกินระดับ 200 ต่อไตรมาสเป็นครั้งแรก และเป็นการเติบโตจากยอดขายเฉลี่ยต่อสาขาเดิม (SSSG) ที่สูงถึง 34.2% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส โดยมีการเปิดสาขาเพิ่มขึ้นเพียง 5 สาขา จากไตรมาส 2 ปี 2559 มาอยู่ที่ 362 สาขา (Beauty Buffet 241 สาขา Beauty Cottage 69 สาขา Beauty Market 13 สาขา และสาขาต่างประเทศรวม 39 สาขา) ส่งผลให้รายได้รวมเพิ่มขึ้น 65% เมื่อเทียบปีต่อปี และ 26% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส เป็น 734 ล้านบาท

สะท้อนให้เห็นถึงแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และการบริหารช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ โดยสัดส่วนรายได้หลักกว่า 70% ยังมาจาก Beauty Buffet ส่วนช่องทางอี-คอมเมิร์ซ และต่างประเทศที่มีอัตรากำไรสูง เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9% ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 67.4% จาก 67.2% ในไตรมาส 2 ปี 2559 และ 66.4% ในไตรมาส 3 ปี 2559

ส่วนกำไรสุทธิงวด 9 เดือนแรกอยู่ที่ 478 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76% เมื่อเทียบปีต่อปี และเกินคาดของเราไปแล้วจนต้องปรับประมาณการกำไรสุทธิปีนี้และปีหน้าขึ้น 22% และ 24% เป็น 699 ล้านบาท เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 74% จากปีก่อน และเป็น 909 ล้านบาท โตต่อเนื่อง 30% จากปีนี้ ตามลำดับ ราคาพื้นฐานปีหน้าถูกปรับขึ้นเป็น 13.80 บาท จากเดิม 11.80 บาท และยังคงแนะนำซื้อ

ไม่เคยผิดหวังกับ MTLS

กำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2559 ของ MTLS ดีกว่าคาดมากอย่างน่าประทับใจ โดยทำได้ถึง 401 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และ 81% เมื่อเทียบปีต่อปี จากสินเชื่อขยายตัวแข็งแกร่งเกินคาด ทำให้รายได้ดอกเบี้ย +21% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และ +83% เมื่อเทียบปีต่อปี และความสำเร็จจากการปรับกลยุทธ์ปล่อยสินเชื่อในกลุ่มสินเชื่อบุคคลและนาโนไฟแนนซ์ รวมถึงสินเชื่อที่ดินในสัดส่วนที่สูงขึ้น ทำให้อัตราผลตอบแทนของสินเชื่อ (Loan Yield) ปรับขึ้นจาก 22.6% ในไตรมาสก่อนเป็น 22.9% นอกจากนี้ Credit Cost ในไตรมาส 3 ปี 2559 ลดลงเหลือ 1.5% จากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ 2.45% ตามคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี

ยอดปล่อยสินเชื่อในไตรมาสนี้แข็งแกร่งเกินคาดที่ 10,796 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และ 94% เมื่อเทียบปีต่อปี ยังทำสถิติของยอดปล่อยที่ดีที่สุดเป็นประวัติการณ์ของบริษัท มีการเปิดสาขาใหม่ 279 สาขา เป็น 1,515 สาขา แต่ยอดปล่อยสินเชื่อต่อสาขาก็สูงขึ้นเป็น 28.5 ล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ทำได้ราว 25 ล้านบาท/สาขา ด้านคุณภาพหนี้ยอดค้างชำระมากกว่า 3 เดือน ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.95% ของสินเชื่อรวม ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน และมี Coverage Ratio แข็งแกร่งมากที่ 287% FSS ปรับราคาพื้นฐานปีหน้าขึ้นเป็น 28.80 บาท และยังคงแนะนำซื้อ

เม็ดเงินต่างชาติน่าจะไหลออกต่อไป

แนวโน้มกระแสเงินทุนจากต่างชาติจากนี้จนถึงสิ้นปี มีโอกาสไหลออกจากตลาดหุ้นไทยรวมไปถึงทั้งภูมิภาค และยังไหลออกจากสินทรัพย์ปลอดภัยไปด้วย เช่น ทองคำและพันธบัตร จากปรากฏการณ์ Trump Effect ที่เน้นดูแลเศรษฐกิจแต่ในประเทศ และค่อนข้างไม่เป็นมิตรกับพันธมิตร

จะเห็นว่านับตั้งแต่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ค่าเงินในเอเชียอ่อนเกือบ 2% ทองคำร่วง 6% อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของหลายประเทศพุ่งตัวสูงขึ้น สวนทางกับตลาดหุ้นในสหรัฐที่ปรับขึ้นเกือบ 4% และค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นกว่า 2%

ยังไม่นับอีก 2 เหตุการณ์สำคัญในเดือนหน้า คือ การประชุมธนาคารกลางสหรัฐกลางเดือน และการลงประชามติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของอิตาลี (4 ธ.ค.) ซึ่งมีผลต่อทิศทางของตลาดเงินและ Flow หุ้นขนาดใหญ่ แม้ราคาจะถูกแต่มีความเสี่ยงถูกต่างชาติลดน้ำหนัก หุ้นขนาดกลาง-เล็กดูดีกว่า ทั้งนี้เรายังไม่เปลี่ยนมุมมองที่ว่าเศรษฐกิจในบ้านเราปีหน้าสดใสขึ้น