posttoday

คนไทยกินทุเรียนแพง แต่คนทั้งโลกกินข้าวไทยถูก (ตอนข้าว 1)

19 ตุลาคม 2559

โดย กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

โดย กิติชัย  เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

แม้ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่วิปโยคที่สุดของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ ในฐานะเราคนไทยส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ย่อมรู้ว่า “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ผมอยากให้คนไทยทั้งชาติแปรความโศกเศร้าเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ด้วยการที่ใครมีหน้าที่อะไรก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้ดี และสมบูรณ์ที่สุด สมัครสมานรักใคร่ กลมเกลียวกัน ไม่แตกแยก แบ่งสีแบ่งพวก ให้มีความสำนึกว่า เราเป็นพี่น้องกัน มีพ่อคนเดียวกันคือ พระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้พระองค์บนสรวงสวรรค์ได้ปลื้มปิติ ไม่ดีกว่าหรือ ดีกว่าการไปจับผิคคนที่ไม่ใส่เสื้อดำ ไม่เปลี่ยนสี PROFILE FACEBOOK หรือ LINE ให้เป็นสีดำ มันจะยิ่งสร้างความแตกแยกให้กับสังคม เขาเหล่านั้นอาจจะมีความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ เวลา หรือเหตุผลส่วนตัวอื่นๆ อย่าลืมนะครับ ปัจจุบันนี้ประชากรไทยมีหกสิบกว่าล้านคน ถ้าทุกคนต้องการเสื้อดำคนละ 4 ตัวเอาไว้ใส่สลับเปลี่ยนนั่นหมายถึงเสื้อเกือบ 300 ล้านตัวเลยทีเดียว ซึ่งปกติในตลาดไม่ได้มีการสำรองเสื้อดำไว้มากขนาดนั้น และไม่ใช่จะปุปปัปผลิตขึ้นมาได้ทันที เพราะโรงงานทอผ้าก็ไม่ได้ตุนผ้าสีดำเอาไว้มากมาย ทำให้เสื้อดำชาดหายไปจากตลาดในช่วงนี้ เราคนไทยด้วยกันทั้งนั้นรักกันไว้เถิดครับ อย่าให้คนทั่วโลกหัวเราะเยาะเราเลย

กลับมาเรื่องของกล้วยที่ผมเขียนค้างไว้เมื่อบทความที่แล้ว นอกจากจีนที่ได้มาเช่าพื้นที่เพื่อทำการเพาะปลูกกล้วยที่ลาว และจังหวัดเชียงรายของไทย ทางเวียดนามเองก็เร่งรัดการปลูกกล้วยเพิ่มเพื่อให้ได้ปริมาณทีละมากๆ เนื่องจากความต้องการจากต่างประเทศสูงขึ้นมาก พร้อมกับราคาส่งออกที่สูงขึ้นมากด้วย ตลาดหลักๆคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน

จากบทความ 4 ตอนที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าผลไม้ไทย ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด มะพร้าว และกล้วย ส่วนใหญ่มีราคาสูงขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่ราคาข้าวไทย ช่วงหลายปีที่ผ่านมาราคากลับลดลง ตัวอย่างเช่น ข้าวขาว 100% ชั้น 1 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2553 อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 24-25.50 บาท ขณะที่ราคาวันที่ 14 ตุลาคม 2559 อยู่ที่ราคากกิโลกรัมละ 19 บาท จะเห็นได้ว่าช่วง 6 ปีกว่าๆแทนที่ราคาข้าวจะขึ้นไปตามดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อ กลับลดลงสวนทางเสียอีก ลองดูจากตารางข้างล่างซึ่งแสดงข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ราคาของทุเรียนสดส่งออก มังคุดส่งออก มะพร้าวสดส่งออก กล้วยไข่ที่เกษตรกรขายได้และราคาขายส่งข้าวขาว 100% ชั้น 2

คนไทยกินทุเรียนแพง แต่คนทั้งโลกกินข้าวไทยถูก (ตอนข้าว 1)

 

จากตารางประกอบ จะเห็นได้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) ขึ้นมาเพียง 6.68% ในขณะที่ราคาทุเรียนขึ้นมาถึง 149.27% คิดเป็น 22.35 เท่าของ CPI ตามมาด้วยราคามังคุดขึ้นมาถึง 53.16% คิดเป็น 7.95 เท่าของ CPIราคามะพร้าวสด (FOB)ขึ้นมาถึง 70.78% คิดเป็น 10.60 เท่าของ CPIในขณะที่กล้วยไข่ที่เกษตรกรขายได้ และราคาขายส่งข้าวขาว 100% ชั้น 2 กลับลดลง 17.70% และ 15.68% ตามลำดับสวนทางกับ CPI ที่ดีดขึ้นมา 6.68%  ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลเหล่านี้ รัฐบาลมีฐานข้อมูลหลายสิบปีของสินค้าเกษตรกรหลักๆทุกชนิด ผมไม่เข้าใจจริงๆว่า ทำไมรัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าถึงไม่นำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ผมลองมานั่งทบทวนมาตรการที่รัฐช่วยอุดหนุนราคาข้าวไม่ว่าจะเป็นวิธีจำนำข้าว หรือการประกันราคาข้าวของพรรคไทยรักไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ ตามลำดับล้วนแล้วแต่สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และผลาญงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ขอยกตัวอย่างล่าสุด กรณีจำนำข้าวของรัฐบาลชุดที่แล้วที่รับจำนำข้าวปีการผลิต 2555/2556 และปี 2556/2557 มีมูลค่าความเสียหายร่วม 1.78แสนล้านบาท ก็ยังไม่สามารถช่วยเหลือชาวนาได้อย่างเต็มที่ ในความเห็นของผมรัฐบาลควรจะทำอย่างไร คงต้องมาอ่านในบทความหน้ากันครับ