posttoday

KBANK ทำให้ตลาดผิดหวังกลุ่มธนาคาร

18 ตุลาคม 2559

โดย จิตรา อมรธรรม รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซียไซรัส [email protected]

โดย จิตรา อมรธรรม  รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซียไซรัส  [email protected]

แม้ว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2559 ที่รายงานจะเป็นไปตามคาด แต่สิ่งที่เซอร์ไพร้ส์เราและตลาดคือ NPL ที่เพิ่มสูงขึ้นมากถึง 14% จากไตรมาสก่อน หรือประมาณ 8 พันล้านบาท ขณะที่ในช่วง 2 ไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นไตรมาสละประมาณ 3 พันล้านบาทเศษ แม้ว่าเราจะไม่หวังให้ NPL ลดลงแต่การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ถือว่าผิดคาดในทางลบ และทำให้เราต้องจับตาดูธนาคารอื่นที่กำลังจะทยอยรายงานผลประกอบการอย่างใกล้ชิดในช่วงปลายสัปดาห์ ว่า NPL ที่เพิ่มสูงขึ้นของ KBANK จะเป็นเหตุผลส่วนตัวเฉพาะธนาคารหรือไม่ แต่ในอดีตที่ผ่านมาเราพบว่าธนาคารอื่นมักเป็นไปในทิศทางเดียวกับ KBANK ซึ่งเป็นเหตุให้เมื่อวานนี้กลุ่มธนาคารเป็นกลุ่มหลักที่ฉุดตลาดลง  

อย่างไรก็ตาม สำหรับ SCB ที่ FSS เลือกเป็นหุ้นเด่นในกลุ่มธนาคารในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เราพบว่าแม้จะลองเพิ่มการตั้งสำรองฯเข้าไปในประมาณการให้เท่ากับในช่วงที่มีกรณี SSI แล้ว ROE หรือผลตอบแทนของส่วนผู้ถือหุ้นของ SCB ยังอยู่ที่ 13% ซึ่งสูงกว่า KBANK ที่อยู่ที่ 11% ความน่าเป็นห่วงสำหรับ SCB จึงน้อยลงและยังคงเป็นหุ้นเด่นในกลุ่มธนาคารของ FSS ต่อไป   

กำไรไตรมาส 3/2559 ใกล้เคียงกับที่เราและตลาดคาดไว้

KBANK รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2559 ที่ 10,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.2% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และ 7.3% เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นไปตามที่เราและตลาดคาดไว้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญที่ลดลงมาอยู่ที่ 6.9 พันล้านบาท ลดลง 21% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และ 8.5% เมื่อเทียบปี/ปี ซึ่งคิดเป็น Credit cost ที่ 1.64% จาก 2.1% ในไตรมาสก่อน และ 1.9% ในไตรมาส 3/2559 หากไม่นับรายการดังกล่าว กำไรก่อนสำรอง (PPOP) ชะลอกว่าที่เราคาดทั้งเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (Q-Q) และไตรมาสเดียวกันปีก่อน (Y-Y) เพราะรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจประกันน้อยกว่าคาด

NPL พุ่งขึ้นเกินคาด 

เงินให้สินเชื่อขยับขึ้น 0.46% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (ประมาณ 7.7 พันล้านบาท) และเพิ่มขึ้นเพียง 3.84% นับตั้งแต่ต้นปี ถือว่าอ่อนแอกว่าที่คาดโดยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ในไตรมาสนี้มาจากสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์

ด้าน NPL เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด +14% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส หรือสูงถึงราว 8 พันล้านบาท ซึ่งทำให้ NPL Ratio ขยับขึ้นเป็น 3.35% จาก 2.89% ในไตรมาสก่อน แต่เงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญยังแข็งแกร่ง โดย Coverage ratio อยู่ที่ 127.3% 

ปรับลดประมาณการกำไรปี2560 ลง

สำหรับกำไรงวด 9 เดือน ปี 2559 อยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท ลดลง 12% เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็น 78% ของประมาณการกำไรทั้งปีของเราที่ 3.86 หมื่นล้านบาท หดตัว 2.2% จากปีก่อน ขณะที่แนวโน้มกำไรไตรมาส 4 ปี 2559 คาดว่าจะอ่อนตัวลงจากค่าใช้จ่ายที่มักสูงขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี

ทั้งนี้ เราปรับลดประมาณการกำไรปี 2560 ลง 15% เป็น 3.7 หมื่นล้านบาท ลดลง 4% เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีก่อน  เพื่อสะท้อนเป้าหมายใหม่ของธนาคารที่น่าผิดหวังและต่ำกว่าคาดการณ์ของเรา โดยเป็นการปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 25% ปรับลดการโตของสินเชื่อจาก 6% เหลือ 4% ปรับลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) จาก 3.58% เป็น 3.5% และการเติบโตของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยจากเดิม 8% เป็น 5% และปรับลดราคาเหมาะสมปี 2560 ลงเป็น 202 บาท (จากเดิม 232 บาท) โดยอิง PBV 1.4 เท่า ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปี 2552 ซึ่งมีระดับ ROE ใกล้เคียงกันที่ 11% ความน่าผิดหวังดังกล่าวทำให้เราปรับลดคำแนะนำเป็นถือ จากเดิมที่แนะนำซื้อ