posttoday

Fund Flow จะหยุดไหล หรือไปต่อ?

09 กันยายน 2559

โดย เจษฎา สุขทิศ, CFA &ชยนนท์ รักกาญจนันท์, AFPT INFINITI Global Investors, The Ultimate Investment Solution

โดย เจษฎา สุขทิศ, CFA &ชยนนท์ รักกาญจนันท์, AFPT  INFINITI Global Investors, The Ultimate Investment Solution

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นบ้านเราเริ่มมีการปรับฐาน และความผันผวนสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา จนเกิดคำถามที่ว่า ตลาดหุ้นไทย จะจบรอบขาขึ้นแล้วหรือไม่ หรือ เป็นเพียงแค่การปรับฐานในระยะสั้นๆ วันนี้เราเข้าไปนั่งฟังมุมมองดีๆจาก 2 หนุ่มกูรู The War Room กันค่ะ


เจษฎา  : เราเห็นอาการของตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาว่า Fund Flow ไหลเข้า แต่เอาหุ้นไทยเราขึ้นไปไม่ได้ซักที แต่พอเข้าเดือน ก.ย. เท่านั้นละ ตลาดหุ้นไทยปรับฐานแรงเลย

ชยนนท์: ใช่ครับ จริงๆมุมมองทางเทคนิคนั้นมีสัญญาณเตือนอยู่เหมือนกัน ประการแรกเลยคือ หลังผ่านประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญมา ซึ่งถือเป็นข่าวดี และเป็นปัจจัยบวกของตลาดหุ้นไทย กลับทำให้หุ้นไทยวิ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ของปีนี้แถวๆ 1,558 จุด แค่นั้น แต่ก็มีแรงขายจากนักลงทุนสถาบันกดดันให้ตลาดหุ้นเคลื่อนไหวในกรอบ 1,520 – 1,550 จุด ตรงนี้ ไม่ไปไหนซักที

เจษฎา  :  ฝั่งค่าเงินบาท หลังจากที่แข็งค่าต่ำกว่า 35 THB/USD ก็ลงมาเทรดในกรอบ 34.50 – 34.80 THB/USD ตลอดทั้งเดือน ทั้งๆที่ยอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยก็ยังคงมีเรื่อยๆ ซึ่งแปลว่า ต่างชาติยังสะสมหุ้นไทย

ชยนนท์  :  ซึ่งจริงๆ ก็สอดคล้องกับทิศทาง Fund Flow ที่ไหลเข้าเอเชียนะครับ เพราะจากข้อมูลของ Bloomberg เราก็จะเห็นว่า เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชียต่อเนื่อง ไหลเข้ามากที่สุดก็คือ เกาหลีใต้, ไต้หวัน, อินเดีย และไหลเข้าตลาดหุ้นไทยเป็นอันดับ 4 ของเอเชียทีเดียว (ข้อมูลของ Bloomberg ไม่ได้มีรวมเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้าตลาดหุ้นจีน)

เจษฎา  :  แต่ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยทำจุดสูงสุดใหม่ไม่ได้ ไม่ผ่าน 1,550 จุด ขึ้นไปซักที เราจะเห็นว่า ตลาดหุ้นเพื่อนบ้านในกลุ่ม TIP (Thailand, Indonesia และ Philippines) ไม่สามารถผ่านจุดสูงสุดใหม่ขึ้นไปได้เหมือนกัน และตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ก็พบว่า ต่างชาติเริ่มขายสุทธิใน ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย และฟิลลิปปินส์ บ้าง หลังจากที่ซื้อสุทธิมาตั้งแต่หลังสหราชอาณาจักรโหวต BREXIT

ชยนนท์ ไปดูฟากตลาดตราสารหนี้ ผมว่า น่ากังวลเหมือนกันนะคุณเจท เพราะ Bond Yield ของไทย (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่เริ่มย่างเข้าไตรมาส 3 ทั้งๆที่ค่าเงินบาทก็แข็งค่า ในตลาดหุ้นก็มีเงินซื้อสุทธิเข้ามาแทบทุกวัน ตรงนี้คุณมองว่ายังไง

เจษฎา  :  สาเหตุหลักจริงๆที่ Bond Yield ปรับตัวขึ้นก็เพราะ ความกังวลว่าเฟดจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปีนี้ ที่เหลือการประชุมอีกแค่ 3 ครั้ง คือ เดือนนี้ เดือน พ.ย. และเดือน ธ.ค. ตลาดเชื่อว่า ไม่ช้าก็เร็ว เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยแน่ๆ จึงมีนักลงทุนบางส่วนที่นำเงินมาลงทุนในตราสารหนี้ กำไรทั้งค่าเงิน กำไรทั้งจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี เริ่มขายทำกำไรกันบ้าง เขาก็ต้องล็อคผลตอบแทนเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตลง เป็นเรื่องธรรมดา

ชยนนท์  :  แบบนี้แปลว่า ถ้าธนาคารกลางสหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ยจริง เงินจะยิ่งไหลออกหรือเปล่าคุณเจท

เจษฎา  :  สุดท้าย มันอยู่ เราเชื่อว่า เฟด จะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ในอัตราเร่งเร็วขนาดไหน ถ้า 1 ปี ขึ้น 1 ครั้งแบบนี้ ผมว่า เงินทุนไม่ไหลออกหรอกครับ และจากที่เราตรวจสอบ Fund Flow กันมาในรอบ 1 เดือน เราก็ไม่เห็นสัญญาณผิดปกติว่าต่างชาติจะเอาเงินออกไปเร็วๆนี้ และ โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 21 ก.ย. ที่จะถึงก็ถือว่าน้อยลงมากๆ ผมว่า ไม่น่ากังวลว่าต่างชาติจะขนเงินกลับในเร็ววันครับ

ชยนนท์  :  ผมได้มีโอกาสอ่านบทวิเคราะห์ของ บล.กสิกร มีการดูข้อมูลย้อนหลังว่า ช่วงที่ต่างชาติเข้าซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยเป็นระลอกๆ แต่ละรอบ ซื้อหนักขนาดไหน พบว่า ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ไม่เคยซื้อเกิน 120,000 ล้านบาทเลย นี่อาจเป็นอีกสัญญาณนะคุณเจท ที่เราต้องระวังหน่อยว่า Fund Flow จะชะลอการไหลเข้ามา ซึ่งอาจเพราะรอดูสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยจากเฟดก็เป็นไปได้

เจษฎา  :  ผมสรุปทั้งหมดทั้งมวลให้นะคุณแบงค์ ผมเชื่อว่า Fund Flow ไม่ไหลออกมาระยะสั้นๆ ความผันผวนที่เกิดขึ้นช่วงนี้ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยพื้นฐานของหุ้นขนาดกลาง และขนาดเล็กที่วิ่งขึ้นตามไม่ทันราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นมา เชื่อว่า เมื่อตลาดรับรู้เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปซักระยะ เงินทุนจะยังไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ รวมถึงหุ้นไทยอีกรอบ