posttoday

ปรับฐานในตลาดหุ้น หนักไม่หนัก เฟด จะเป็นคนตัดสินใจ

26 สิงหาคม 2559

โดย เจษฎา สุขทิศ, CFA &ชยนนท์ รักกาญจนันท์, AFPT INFINITI Global Investors, The Ultimate Investment Solution

โดย เจษฎา สุขทิศ, CFA &ชยนนท์ รักกาญจนันท์, AFPT INFINITI Global Investors, The Ultimate Investment Solution

นับตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 1 เป็นต้นมา นักวิเคราะห์ และนักลงทุนก็เริ่มเชื่อน้อยลงว่า ที่ประชุม FOMC (คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ หรือ เฟด) จะมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยน้อยลง และนี่คือ หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เงินทุนส่วนใหญ่ของโลกยังออกมาแสวงหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ในห้อง War Room วันนี้ เหมือนมีคนจะได้กลิ่นบางอย่างว่า เวลานั้นใกล้จะหมดไปแล้ว ลองไปฟัง 2 กูรู เขาคุยกัน

ชยนนท์ : สวัสดีคุณเจท ช่วงนี้ถ้าเราตามข่าวการลงทุนในตลาดโลก จะเห็นว่า มีแต่ข่าวเงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ เศรษฐกิจในเอเชียมันดีขึ้นอย่างนั้นจริงหรือเปล่าคุณเจท เงินทุนเลยไหลเข้าแบบนี้

เจษฎา : ที่เราเห็น  Fund Flow หรือ เงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะ ในเอเชียมากขึ้นจริงๆ ก็คือ ช่วงหลังจากการโหวตประชามติ BREXIT ที่อังกฤษนะ แต่ที่น่าแปลกใจ ก็คือ โดยปกติ ความเสี่ยงสูงขึ้น เงินควรไหลเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็น Safe Haven อย่างเช่น ตราสารหนี้ หรือ ทองคำ หรือ ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ...

ชยนนท์ : แต่กลายเป็นว่า ค่าเงินดอลล่าร์ก็ไม่แข็งค่า ราคาทองก็ไม่ทำจุดสูงสุดใหม่ แถมเงินไม่ไหลเข้าตราสารหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะซะด้วย

เจษฎา : ใช่ครับ ไม่รู้นักลงทุนใช้เหตุผลอะไร พอคิดว่ามีความเสี่ยง เงินไหลเข้ามาตลาดเกิดใหม่ทันที ที่ไหลเข้ามาเยอะๆก็คือ ตลาดหุ้นไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย และกลุ่ม ASEAN นี่ละครับที่ชัดเจน

ชยนนท์ : เหตุผลเบื้องหลัง เป็นเพราะ ดอกเบี้ยทั่วโลกมันต่ำเกินไปหรือเปล่าคุณเจท เงินทุนเลยไม่อยากไป

เจษฎา : นี่คือสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนกังวลว่า เพราะดอกเบี้ยในตลาดมันต่ำมากๆ นักลงทุนเลยดูปัจจัยพื้นฐานน้อยลง พยายามหาว่า เงินมันวิ่งไปไหน ก็จะวิ่งตามไปมากขึ้น พอเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ สินทรัพย์เสี่ยงที่ถึงแม้ปัจจัยพื้นฐานจะไม่ได้ดีมากนัก แต่ราคาสินทรัพย์ยังปรับตัวขึ้นมาไม่มาก ก็สามารถวิ่งขึ้นมาได้

ชยนนท์ : คุณจะบอกว่า ที่ตลาดหุ้นเอเชียวิ่งขึ้นมาได้เนี่ย มาจากอำนาจเงินล้วนๆ ไม่มีมุมมองเชิงปัจจัยพื้นฐานที่ดีขึ้นเลยหรอ? ผมว่าไม่จริงนะ ดูอย่างไทยเราเองสิ GDP Growth ก็กลับมาโต 3.5% ในไตรมาส 2/2559 ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนก็ปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่แล้วเกิน 6% แบบนี้ จะบอกว่า ปัจจัยพื้นฐานไม่ดี ก็กระไรอยู่

เจษฎา : ดีแค่ไตรมาสเดียว ก็ไม่ได้หมายความว่า จะดีได้ไปตลอดนะ แต่ออกตัวก่อนว่า ผมไม่ได้แช่ง หรือมีมุมมองเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทย  แต่ก็มองเท่าที่ข้อมูลออกมาให้เห็นตรงหน้าตอนนี้

ชยนนท์ : แสดงว่า ในมุมมองของคุณ ดอกเบี้ยในตลาดนั้นต่ำเกินไป และใกล้ได้เวลาขึ้นดอกเบี้ย?

เจษฎา : มองสองด้านนะคุณแบงก์ ถ้าไม่ขึ้นดอกเบี้ย ก็เกิดฟองสบู่ใน Investment Assets เพิ่มขึ้น และไม่รู้มันจะแตกเมื่อไหร่ แต่ถ้าขึ้นดอกเบี้ย เหล่า Investment Assets ก็น่าจะผันผวน และมีการปรับฐาน เหมือนเรามีทางเลือกแค่ว่า จะให้ตลาดหุ้นปรับฐานวันนี้ หรือไปรอปรับฐานหนักกว่า ในวันข้างหน้า

ชยนนท์ : ถ้าเป็นผมนะ ไปรอปรับฐานวันหน้าดีกว่า เพราะถ้าลงแรงวันนี้ ขายหนีออกมาไม่ทัน (ฮ่าๆ)

เจษฎา : แล้วคุณว่าดอกเบี้ยจะขึ้นเมื่อไหร่?

ชยนนท์ : ถ้าดูจาก Fed Fund Futures โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. และ พ.ย. ที่จะถึงนี้ ยังถือว่าน้อยอยู่นะ ต่ำกว่า 30% แต่การประชุมเดือน ธ.ค. โอกาสเพิ่มขึ้นเกินกว่า 50% แล้ว เพราะฉะนั้น ผมเชื่อว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่สองในเดือน ธ.ค. 2559 นี้ ดังนั้น ผมว่า ภายในเดือน ก.ย. - ต.ค. ข้างหน้า ถ้าจะมีการปรับฐานในตลาดหุ้น น่าจะยังไม่ใช่ปรับฐานใหญ่ ที่น่ากลัวอะไร แต่หลังจากปีนี้ไป คงต้องมาดูกันว่า เฟด จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขนาดไหน ถ้าเร็วไป ก็ไม่ดีแน่นอน เรื่องนี้ เฟดจะเป็นตัวชี้ชะตา Fund Flow ของโลก

เจษฎา : แต่ในมุมมองของการจัดพอร์ต Asset Allocation ผมมองว่า พอร์ตการลงทุนปัจจุบันของนักลงทุนก็ไม่ควรเสี่ยงมากนะ ไม่ควรอยู่ในตลาดหุ้นมากเกินไป เชื่อเถอะไม่มีใครจับจังหวะได้ถูกทุกครั้งทุกรอบ เรารู้แล้วว่า ตลาดหุ้นตอนนี้ ปรับตัวขึ้นมาเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐาน ดังนั้น ปลอดภัยไว้ก่อนครับ