posttoday

ปรับฐานเพื่อเตรียมไปต่อ

25 กรกฎาคม 2559

โดย...บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย

โดย...บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย

ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรปเป็นไปอย่างที่คาดหมาย ECB คงมาตรการเดิมทั้ง อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0% อัตราดอกเบี้ยเงินฝากระวห่างธนาคาร (Deposit Rate) ที่ -0.4% และการคงขนาดวงเงิน QE ไว้ที่ 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ไปจนถึงเดือน มี.ค.60 ทั้งนี้ ECB ยังเปิดช่องที่จะขยายมาตรการในในอนาคต โดย มาริโอ ดรากี ประธาน ECB ระบุว่าพร้อมที่จะใช้เครื่องมือทุกอย่างเพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาด และยังจับตาความไม่แน่นอนเกี่ยวกับ BREXIT อย่างใกล้ชิด

จากผลการกระชุมและการแถลงของประธาน ECB บ่งบอกชัดเจนว่าตลาดจะมีสภาพคล่องส่วนเกินล้นไปอีกนาน เพราะ ECB ไม่มีทีท่าที่จะลดขนาด QE มีแต่เตรียมที่จะเพิ่มขนาดในอนาคต ซึ่งสภาวะแบบนี้จะทำให้ตลาดหุ้นยุโรปและตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะกลาง-ยาวยังน่าจะอยู่ภายใต้แนวโน้มขาขึ้นต่อไป

สัปดาห์หน้าติดตามการประชุม การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในวันที่ 26-27 ก.ค. คาดว่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ แต่ที่ตลาดให้ความสำคัญจะไปอยู่ที่การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ในวันที่ 28-29 ก.ค.59 ซึ่งตลาดมีความคาดหวังว่า BoJ จะมีการปรับลดดอกเบียนโยบายจก 0% ให้เป็น -0.1% และ การลดดอกเบี้ยเงินฝากระหว่างธนาคารที่จะนำมาฝากกับ BoJ จาก -0.1% เป็น -0.2% และการเพิ่มวงเงินเข้าซื้อตราสารต่างๆ โดยน่าจะเน้นไปที่การขยายวงเงินการเข้าซื้อ ETF และ REITs

นอกจากนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังเตรียมปล่อยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ภายใต้วงเงิน 20 ล้านลานเยน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้พ้นสภาวะเงินฝืด รวมทั้งการเพิ่มวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของรัฐบาลอีก 6 ล้านล้านเยน คาดว่าจะมีการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในช่วงต้นเดือน ส.ค.59 คาดว่าจะมาตรการทั้งหมดจะเป็นปัจจัยบวกต่อ Sentiment การลงทุนต่อตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย

Fund Flow ที่ไหลบ่าเข้ามาได้ทำให้ SET Index ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างโดดเด่นในเดือน ก.ค. กว่า 4.5% โดยเป็นการขึ้นมาหลังฟื้นตัวจาก BREXIT เมื่อ 24 มิ.ย.59 กว่า 6.85% (สวนจากที่ปรับลดลงในช่วง 6 – 24 มิ.ย.59 1.56%) โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวขึ้นมามากกว่าตลาด ไล่ตั้งแต่ สื่อสารจากติดลบในช่วง 6 – 24 มิ.ย.59 2.43% สามารถฟื้นมาได้ 12.9% ธนาคารฯ จาก -2.73% กลายเป็น 10.09% รับเหมาฯจาก -1.69% เป็น 10.35% การเงินบวกต่อเนื่องจาก 2.16% เป็น 9.31% บันเทิงจาก -1.16% เป็น 8.31% พลังงานจาก -2.74% เป็น 8.03% วัสดุฯจาก -1.71% เป็น 7.36% ส่วนกลุ่มที่ขึ้นน้อยกว่าตลาด จะไล่ตั้งแต่ ชิ้นส่วนฯ จาก -2.97% เป็น 6.74% ปิโตรฯ -6.36% เป็น 6.51% อาหาร จาก -2.34% เป็น 6.36% เกษตร -4.64% เป็น 5.97% ท่องเที่ยว -3.36% เป็น 5.47% อสังหาฯจาก -1.08% เป็น 4.43% ยานยนต์บวกต่อจาก 0.9% เป็น 3.6% ค้าปลีกจาก 2.82% เป็น 3.24% ขนส่งจาก 1.24% บวกต่ออีก 2.98% โรงพยาบาลจาก -1.99% เป็น 0.84%

SET Index เริ่มเห็นการถูกขายทำกำไร มองดัชนีกำลังเข้าสู่ช่วงพักตัว หลังบวกมา 4 สัปดาห์ติดต่อกันสูงสุดกว่า 7% โดยกลุ่มธนาคารฯ มีอาการ Sell on Fact หลังแต่ละธนาคารฯประกาศผลประกอบการกันเสร็จเรียบร้อย เช่นเดียวกับกลุ่มรับเหมาฯ วัสดุฯ อสังหาฯ ที่ขึ้นแรงในช่วงก่อนหน้าก็เริ่มปรับลดลงเช่นเดียวกัน มองการปรับลดลงดังกล่าวยังไม่มีสัญญาณลบที่น่ากังวล เป็นเพียงแค่การถูกขายทำกำไรตามปกติ ระยะสั้นอาจกดดัน SET Index บ้าง แต่จะไม่หนักหน่วงจนทำให้ดัชนีต้องลงไปต่ำกว่า 1,491 จุด โดยตลาดยังมีแรงหนุนจากการกลับเข้าซื้อของนักลงทุนต่างประเทศ และการเก็งกำไรผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะทำให้ตลาดยังคงมีเงินหมุนเวียนจากนักลงทุนในประเทศในระดับสูงต่อเนื่อง และจะทำให้ดัชนีกลับไปทดสอบเป้าหมาย 1,530 จุดได้ในระยะถัดไป