posttoday

สิงคโปร์: ต้นแบบชาติอัจฉริยะ

13 กรกฎาคม 2559

โดย จินดาพร ติยะธนากูล กองทุนบัวหลวง

โดย จินดาพร ติยะธนากูล  กองทุนบัวหลวง

หากกล่าวถึงประเทศในอาเซียนที่มีพัฒนาการล้ำหน้ากว่าใคร คงหนีไม่พ้นสิงคโปร์ แค่เพียง 100 ปีกว่าเท่านั้น จากเกาะเล็กๆที่แทบไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดๆ แม้แต่น้ำดื่มยังต้องนำเข้าจากต่างแดนรวมทั้งยังเคยคอรัปชั่นติดอันดับโลก ก้าวมาสู่ประเทศที่เจริญรุดหน้าทางเศรษฐกิจ เป็นศูนย์กลางการค้าและการเงินของภูมิภาค และมีรายได้ต่อหัวประชากรเป็นอันดับ 6  ของโลก อีกทั้งสามารถก่อร่างสร้างสังคมที่มีระเบียบวินัยและลดการคอรัปชั่นจนเหลือน้อยที่สุดในเอเชียไปแล้ว

ในสังคมร่วมสมัย เทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อธุรกิจและชีวิตประจำวันมากขึ้น  และตัวเทคโนโลยีเองก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ผลิตภัณฑ์อันทันสมัยเกิดใหม่ขึ้นเรื่อยๆขณะที่ผลิตภัณฑ์เก่าๆ ล้มหายตายจากไปอย่างเช่นกล้องดิจิทัลมาแทนที่กล้องฟิล์ม โทรศัพท์สมาร์ทโฟนมาแทนที่โทรศัพท์มือถือธรรมดา  เครื่องคอมพิวเตอร์มาแทนที่เครื่องพิมพ์ดีด เป็นต้นผู้นำสิงคโปร์เล็งเห็นโอกาสและความเสี่ยงที่มาพร้อมกับกระแสความเปลี่ยนแปลงรอบนี้

นายกฯลีเซียนลุงได้วางแนวความคิดที่จะนำเทคโนโลยีมาสร้างความได้เปรียบให้กับประเทศ โดยพัฒนาให้สิงคโปร์กลายเป็น Smart Nation หรือประเทศอัจฉริยะแห่งแรกของโลก ด้วยสโลแกน Connecting everyone, everything, everywhere and all the time (E3A) หรือ ”เชื่อมต่อทุกคน ทุกสิ่ง ทุกที่ และทุกเวลา”ผ่านการนำระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีโทรคมนาคมทันสมัยมาใช้เชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชน สร้างสังคมให้น่าอยู่และปลอดภัย และที่สำคัญคือสร้างโอกาสทางธุรกิจและส่งเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้ประเทศ

แต่กว่านโยบายสร้างชาติอัจฉริยะจะเริ่มขึ้น นายกฯลีเซียนลุงได้วางฐานรากโครงการนี้ไว้นานแล้ว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เขาได้ประกาศแผนแม่บท Intelligent Nation 2015 (iN2015) เพื่อวางรากฐานระบบสื่อสารและสารสนเทศของประเทศให้แข่งขันได้ในระดับโลก โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมให้ล้ำสมัย พร้อมกับให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ความสามารถของพลเมืองในด้านเทคโนโลยี ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่ความเร็วของระบบและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงติดอันดับต้นๆของโลก เกิด Connectivity หรือระบบอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงเสมือนเครือข่ายเดียวกัน รวมถึงการติดตั้งเซ็นเซอร์ทั่วทั้งเกาะเพื่อเก็บรวบรวม วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลต่างๆ เช่น สภาพอากาศการจราจร คิวรถแท็กซี่ในแต่ละช่วงเวลา หรือแม้แต่ลักษณะการดำรงชีวิตของประชากร แล้วลงทุนสร้าง platform เพื่อจัดเก็บข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ ในวันที่โครงสร้างพื้นฐาน คน และข้อมูลพร้อมสมบูรณ์ วันนั้นก็จะพัฒนาประเทศให้กลายเป็นชาติอัจฉริยะ

กลยุทธ์สำคัญที่จะเป็นกุญแจไขไปสู่ประเทศอัจฉริยะให้สำเร็จได้ก็คือ การทำงานร่วมกันระหว่างประชาชน ธุรกิจ และหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น บริษัทเทคโนโลยีโดยตรงอย่าง Apple, Microsoft, Google หรือIBM บริษัทรถยนต์ล้ำสมัยอย่าง Tesla มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Massachusetts Institute of Technology (MIT) รวมไปถึงธุรกิจเกิดใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีไอทีเป็นตัวขับเคลื่อน (Startup) ภาคเอกชนเหล่านี้จะเป็นตัวแปรสำคัญสูงสุดในการสร้างนวัตกรรมจากฐานข้อมูลมหาศาลที่ภาครัฐจัดเก็บไว้ เสมือนกับประเทศสิงคโปร์เป็น “ห้องแลปมีชีวิต” นั่นเองและนำเทคโนโลยีพร้อมข้อมูลเหล่านี้มาสร้างรายได้ในเชิงพาณิชย์ โดยรัฐบาลสิงคโปร์พร้อมช่วยเหลือหรือสนับสนุนในทุกด้าน ทั้งเงินทุนและวางกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างชาติ อีกทั้งสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยในการต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าโครงสร้างพื้นฐานที่ดี หรือแรงงานที่มีศักยภาพ จนอาจกล่าวได้ว่า มาแต่ตัวกับหัวสมองก็พอ นอกนั้นรัฐบาลสิงคโปร์ “จัดให้” ทั้งหมด

ตัวอย่างเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ชีวิตคนสิงคโปร์สะดวกสบายและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นก็อย่างเช่นการติดเซ็นเซอร์ที่แขนผู้ป่วยเพื่อติดตามผลการรักษา ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลบ่อยๆ ทำให้แพทย์ดูแลคนไข้รายอื่นๆ ได้มากขึ้น รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจะช่วยลดปัญหาจราจร แล้วยังช่วยลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากไม่จำเป็นต้องซื้อ ไม่ต้องสอบใบขับขี่ ไม่ต้องเสียค่าจอดและค่าซ่อมบำรุง หรือการส่งสินค้าและพัสดุด้วยโดรน (Drone) โดยร่วมมือกับไปรษณีย์สิงคโปร์ (SingPost) ให้ใช้แอพพลิเคชั่นยืนยันตัวตนก่อนรับสินค้าและติดตามพัสดุ ทำให้ส่งสินค้าที่หนักไม่เกิน 500 กรัมถึงที่หมายในรัศมี 1-2 กิโลเมตร ภายใน 5 นาทีอย่างปลอดภัย และประหยัดต้นทุนค่าแรง

แม้ว่าวันนี้ ประเทศสิงคโปร์จะก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ประชากรร่ำรวย และเป็นเมืองน่าอยู่อาศัยในลำดับต้นๆ ของโลก จนใครต่อใครอยากเข้าไปลงทุน แต่เขาหาได้หยุดพัฒนาตัวเองแต่อย่างใด ทั้งยังเริ่มใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาสร้างโอกาสให้ประเทศก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น จึงไม่แปลกใจเลยที่ประเทศแห่งนี้ยังคงเป็นจุดหมายหลักที่นักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นและพร้อมลงทุน

ประเทศอื่นในอาเซียนเองก็ควรศึกษาและติดตามพัฒนาการด้านนี้ของสิงคโปร์ เพื่อนำมาเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เทคโนโลยีล้ำสมัยเหล่านี้อาจจะเป็นประโยชน์หรือภัยคุกคามในทางใดทางหนึ่ง หรืออาจไม่ส่งผลใดๆ เลยก็เป็นได้ แต่คนที่เตรียมพร้อมย่อมได้เปรียบเสมอ เพราะนั่นคือความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในอนาคต