posttoday

BREXIT ผ่านไป อะไรจะเกิดขึ้นต่อ?

01 กรกฎาคม 2559

โดย เจษฎา สุขทิศ, CFA &ชยนนท์ รักกาญจนันท์, AFPT INFINITI Global Investors, The Ultimate Investment Solution

โดย เจษฎา สุขทิศ, CFA &ชยนนท์ รักกาญจนันท์,  AFPT INFINITI Global Investors, The Ultimate Investment Solution

ผ่านไปแล้วกับผลการลงประชามติ “BREXIT” ของสหราชอาณาจักรนะครับ วันนี้มานั่งจิบกาแฟฟังสองหนุ่มคุยกันว่า เหตุการณ์อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป เศรษฐกิจโลกจะเดินไปในทิศทางไหน แล้วนักลงทุนไทยต้องปรับตัว หรือรู้อะไรเพิ่มเติมหรือเปล่า

ชยนนท์ โดยรวม ผมมองว่า ผลการทำประชามติ ถือว่าผิดจากที่คนส่วนใหญ่คาดการณ์นะครับ และเพราะว่า ไม่ได้คาดการณ์มาก่อนนี้ เลยทำให้ตลาดการเงินโลกผันผวนอย่างที่เห็น คุณเจท คุณเริ่มก่อน คุณมองว่ายังไง

เจษฏาระยะยาว นักเศรษฐศาสตร์ และ นักลงทุนส่วนใหญ่ มองว่า การออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศ อันนี้ ผมก็เห็นด้วย เพราะ อย่างสหราชอาณาจักรเอง มีการค้าขายกับอียูเกือบๆครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมด ดังนั้น เมื่อออกจากอียูไปปั๊บ ก็ต้องมาเจรจาเงื่อนไขภาษีและอีกหลายๆอย่างใหม่ทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่า มันไม่ดีเหมือนก่อนแน่นอน ระหว่างนี้ อังกฤษ ก็ต้องเดินหน้าเจรจา หาพันธมิตรนอกอียูมากขึ้นละ ส่วนฝั่งอียูเอง ก็น่าจะมีปัญหา เพราะกลายเป็นว่า ผู้สนับสนุนหลัก 1 ใน 3 (อีก 2 ที่คือ เยอรมัน และฝรั่งเศส) กลับตีจากก๊วนแล้ว ความเข้มแข็งก็คงไม่เท่าเดิม และ อย่างที่เห็นในระยะสั้นๆในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า นักการเมืองของหลายๆประเทศสมาชิกก็มีความเห็นว่า อยากจะให้ประเทศตัวเองทำประชามติบ้างว่า ประชาชนอยากให้ประเทศตัวเองอยู่ในอียูต่อไปหรือไม่ เจอแบบนี้ ไม่ค่อยดีนะครับ

ชยนนท์ ครั้งนี้ ผมขอมองแย่งนะคุณเจท ย้อนกลับไปปี 1992 ตอนที่จอร์จ โซรอส ถล่มค่าเงินปอนด์ ชนะธนาคารกลางอังกฤษ ครั้งนั้น การอ่อนค่าของค่าเงินปอนด์เนี่ย เป็นสาเหตุหลักเลยที่ทำให้การส่งออกของอังกฤษฟื้นตัว และทำให้ตลาดหุ้นกลับมาเป็นขาขึ้นได้ 4 ปี จนมาเจอวิกฤตต้นยำกุ้งที่บ้านเรา ผมว่า รอบนี้ ค่าเงินปอนด์ ก็ลงมาแรงได้ใจ พยายามทำ QE อัดฉีดเงินมาแทบตาย ค่าเงินไม่อ่อนค่า แต่พอ BREXIT ขึ้นมา ก็อ่อนค่าสมใจ แบบนี้ ผมว่า การออกจากอียู อาจจะไม่ได้แย่มากอย่างที่หลายคนกังวลก็ได้

เจษฏา คุณมองแค่ระยะสั้นไปหรือเปล่า? ก็จริงที่เหลือเวลาอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปี กว่าที่สหราชอาณาจักรจะออกจากอียูจริงๆ แต่มันก็คือ “ความไม่แน่นอน” นะ ตลาดการเงิน ตลาดหุ้น ไม่ค่อยชอบความไม่แน่นอน ยิ่งกินเวลาตั้ง 2 ปี เดี๋ยวมีข่าวโน้น ข่าวนี่ เจรจาล้มบ้าง เลิกบ้าง คนทำธุรกิจจริง ไม่รู้จะดำเนินกลยุทธ์ไปในทิศทางไหน ตรงนี้ จะทำให้การลงทุนชะลอตัวหรือเปล่า ต้องคิดดีๆ

ชยนนท์ ยอมรับเลยว่า ผมมองแค่ระยะสั้นๆเอาแค่ 3-6 เดือนข้างหน้า ไกลกว่านั้น บอกตรงๆ ผมก็บอกไม่ออกเหมือนกันคุณเจท แต่ผมเห็นข้อดีอีกข้อของ BREXIT นะ ก็คือ หลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์ ปรากฏว่า Fed Fund Futures หรือ การคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ถูกปรับลดให้โอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยน้อยลงเยอะมากๆ ล่าสุด ตลาดคาดว่า เฟด น่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้แค่ 1 ครั้งในปีนี้เท่านั้น ละมีนักลงทุนบางส่วนเชื่อว่า เฟดอาจพิจารณาลดดอกเบี้ยในปี 2017 ด้วยนะ

เจษฎา เฟด ไม่กล้าขึ้นดอกเบี้ย ก็แปลว่า ยังไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจดีจริงๆหรือเปล่า ตรงนี้คือ ปัจจัยลบ แต่ปัจจัยบวกก็คือ ถ้าเฟดยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯก็จะยังไม่แข็งค่า Fund Flow ของโลกก็น่าจะไหลกลับมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง คุณคิดแบบนี้ใช่ไหมละ?

ชยนนท์ ถูกต้องเลย อันนี้และหัวใจของการลงทุนในยุคหลังปี 2008 นั้นก็คือ “Liquidity Drive” ถ้าค่าเงินดอลล่าร์ยังไม่แข็งค่า ตลาดหุ้นเกิดใหม่ และพวกการลงทุนในสิค้าโภคภัณฑ์ ก็อาจจะกลับมาเป็นพระเอกหลังจากนี้ได้นะล่าสุดมาร์ค โมเบียส เจ้าแห่งตลาดเกิดใหม่ บอกว่า เหตุการณ์ BREXIT อาจทำให้เอเชีย กลับมาเป็นสูญการทางการเงินแทนยุโรป แทนอังกฤษ ได้ในระยะยาวด้วย น่าสนใจนะ

เจษฎา ยังไง ผมก็ว่า ควรระมัดระวังนะ ระยะสั้นอาจจะดูว่าปัญหายังไม่กระทบ หรือ ตลาดยังเชื่อว่า ผลลบยังไม่เกิดในเร็ววันก็จริง แต่เราไม่รู้หรอกว่า ความเสี่ยงแบบนี้ มันจะมาอีกทีตอนไหน เหตุการณ์ BREXIT ทำตลาดหุ้นลบรุนแรงในวันเดียว แล้วรีบาวน์กลับขึ้นมาได้ทั้งโลกแบบนี้ มันบ่งบอกว่า ไม่ใช่ภาวะปกติ และเหตุการณ์แบบนี้ อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ใครที่พอร์ตการลงทุนเสี่ยงเกินไป สัดส่วนการไม่เหมาะสม ก็ต้องปรับให้สมดุลมากขึ้น เชื่อแน่ว่า เราจะเจอความผันผวนแบบนี้ในอนาคตครับ

ชยนนท์ ความผันผวน ก็คือ โอกาสในการลงทุน อย่าไปกลัวมันมาก แล้วเอาแต่ฝากในธนาคารกินดอกเบี้ยต่ำกว่า 1% แล้วกัน