posttoday

ปรับระบบนิเวศรายงานทางการเงิน

14 ตุลาคม 2558

โดย ปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

โดย  ปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

รายงานทางการเงินที่มีคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนเป็นเครื่องมือสำคัญที่ผู้ลงทุนสามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นรายงานทางการเงินนั้น ไม่ง่ายนะครับ ต้องผ่านหลายขั้นตอน เพื่อให้ได้รายงานที่มีความครบถ้วน ถูกต้อง ได้มาตรฐานโดยในระบบนิเวศของการจัดทำรายงานทางการเงินนั้น มีผู้ที่ประจำอยู่สามด่านสำคัญที่จะช่วยกันทำงานครับ

ด่านแรก ผู้มีหน้าที่จัดทำงบการเงิน (preparer) ของบริษัท เริ่มตั้งแต่ พนักงานฝ่ายบัญชี สมุห์บัญชี ได้ไปจนถึง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านบัญชีและการเงิน (CFO) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(CEO)ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการจัดทำข้อมูลทางการเงิน ด่านที่สองคือ กรรมการ และกรรมการตรวจสอบ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลให้บริษัทมีระบบบัญชีและระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสมและกำกับดูแลการจัดทำงบการเงินให้ถูกต้องและด่านที่สาม คือ ผู้สอบบัญชีซึ่งเป็นดวงตาจากภายนอกบริษัทที่เข้ามาช่วยตรวจสอบและแสดงความเห็นต่อความถูกต้องของงบการเงิน

ในส่วนของ ก.ล.ต.  ที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้รายงานทางการเงินมีความน่าเชื่อถือและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ข้อมูลมากที่สุด ตั้งแต่การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยผลักดันและสนับสนุนให้สภาวิชาชีพบัญชีกำหนดมาตรฐานวิชาชีพบัญชีของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งในส่วนของการพัฒนามาตรฐานการบัญชี และมาตรฐานการสอบบัญชีการกำกับดูแลผู้สอบบัญชี โดยกำหนดให้ผู้สอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียนต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.  และ ก.ล.ต. จะติดตามดูแลคุณภาพการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีเหล่านี้ อย่างสม่ำเสมอ ทั้งในด้านคุณภาพในการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีแต่ละราย และคุณภาพของสำนักงานสอบบัญชีที่ผู้สอบบัญชีสังกัดครับ
 
อีกมาตรการหนึ่งที่ ก.ล.ต. ดำเนินการมาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องก็คือ การติดตามและตรวจทานงบการเงินของบริษัทโดยหากพบว่า งบการเงินมีข้อผิดพลาดหรือไม่ถูกต้อง จะสั่งให้บริษัทที่แก้ไขให้ถูกต้อง และในกรณีที่พบว่า บริษัทมีการทำธุรกรรมที่อาจมีข้อสงสัยว่า มีเหตุผลในเชิงธุรกิจหรือไม่ หรือมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้น หรือส่งผลต่อราคาหุ้นของบริษัทในลักษณะที่ผิดปกติก.ล.ต. ก็อาจสั่งให้บริษัทจัดให้มีผู้สอบบัญชีทำการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ และรายงานต่อ ก.ล.ต. และเผยแพร่การสั่งการและรายงานของบริษัทไว้บนเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบด้วยครับ

แม้จะดำเนินการในหลายด้านพร้อมกัน แต่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะ ก.ล.ต. ยังคงต้องสั่งให้บริษัทแก้ไขงบการเงินอยู่พอสมควรครับ  ดังนั้น ก.ล.ต. จึงได้วิเคราะห์สภาพแวดล้อมในระบบนิเวศของการทำรายงานทางการเงินอย่างละเอียด  เจาะลึก  และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเห็นพ้องร่วมกันว่าควรจะต้องเพิ่มมาตรการในการส่งเสริมการทำหน้าที่ของpreparer ที่เป็นด่านแรกให้มีประสิทธิภาพโดยจะเริ่มจากการสื่อสารให้ด่านหน้านี้ ตระหนักถึงความสำคัญ มีความรู้ความเข้าใจในของบทบาทของตน และจะพัฒนาความรู้ความสามารถโดยร่วมกับสภาวิชาชีพบัญชีฯจัดทำหลักสูตรสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำรายงานทางการเงินอีกทั้งในอนาคตหลังจากที่ได้เตรียมความพร้อมไประยะหนึ่งแล้ว ก.ล.ต. ก็จะกำหนดคุณสมบัติของผู้จัดทำบัญชีและ CFO เช่น ผ่านหลักสูตรการอบรมความรู้ด้านบัญชีและมีประสบการณ์การทำงานเพียงพอ  เป็นต้น และกำหนดให้ CEO และ CFO ลงนามรับรองความถูกต้องของรายงานทางการเงินที่นำส่ง ก.ล.ต. เพิ่มเติมจากเดิมที่ให้กรรมการ
ผู้มีอำนาจเป็นผู้ลงนามเท่านั้น นอกจากนี้ ในอนาคต ก.ล.ต. ก็จะกำหนดให้ CFO ต้องจัดทำรายงานการประเมินระบบการควบคุมภายในในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานทางการเงินว่า มีความรัดกุม เหมาะสม หรือไม่เพียงใด และเผยแพร่ต่อสาธารณชนในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถประเมินได้ว่า บริษัทมีระบบการควบคุมภายในดังกล่าวที่ดีพอหรือไม่

ขณะเดียวกัน ก.ล.ต.ก็จะยังคงให้ความสำคัญกับกรรมการตรวจสอบและผู้สอบบัญชีให้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความถูกต้อง ครบถ้วน ของรายงานทางการเงินโดยจะส่งเสริมบทบาทและสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่นะครับ เช่น ในส่วนของกรรมการตรวจสอบ ก.ล.ต. ก็จะจัดทำแนวปฏิบัติและเครื่องมือที่จำเป็นในการทำหน้าที่ของกรรมการตรวจสอบ และจัดหลักสูตรให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง  ในส่วนของการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้สอบบัญชี ก็จะร่วมมือกับสภาวิชาชีพบัญชีฯ ในการพัฒนาคุณภาพของผู้สอบบัญชี และให้การสนับสนุนด้าน technical support เช่น จัดทำคู่มือแนวทางการตรวจสอบ จัดworkshop และให้คำปรึกษาปัญหาด้านการสอบบัญชี  นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่จะเพิ่มจำนวนผู้สอบบัญชีให้เพียงพอต่อการเพิ่มขึ้นของบริษัทจดทะเบียน โดยการปรับปรุงกระบวนการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีให้รวดเร็วขึ้นด้วยครับ
 
มาตรการที่ผมได้กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่ ก.ล.ต. ได้ปรับโฟกัส เพื่อวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของระบบนิเวศ ให้เห็นมูลเหตุของปัญหาที่แท้จริงและแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น เพื่อการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืนของตลาดทุนและเศรษฐกิจไทยแต่จะสัมฤทธิ์ผลเพื่อให้เกิดรายงานทางการเงินที่มีคุณภาพ เป็นประโยชน์แก่การตัดสินใจลงทุนได้หรือไม่นั้น สิ่งสำคัญก็คือ ความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่จะช่วยกันสร้างระบบนิเวศของการจัดทำรายงานทางการเงิน
ที่สมดุลโดยเฉพาะในส่วนของ preparer ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการจัดทำงบการเงินตั้งแต่ต้นทาง ที่อาจจะต้องเริ่มตรียมพร้อมกันตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้พร้อมรับกฎเกณฑ์ที่จะออกมาในอนาคตครับ
 
“ก.ล.ต. ดูแลตลาดทุน เพื่อให้คุณมั่นใจ”