posttoday

เตือนประกันอย่าแข่งราคาดุ

21 เมษายน 2560

คปภ.กังวลประกันแข่งราคาหนัก หลังพบค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขายพุ่ง หวั่นขาดทุนจนกระทบลูกค้า

คปภ.กังวลประกันแข่งราคาหนัก หลังพบค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขายพุ่ง หวั่นขาดทุนจนกระทบลูกค้า

นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการด้านตรวจสอบ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ได้กล่าวเตือนผู้บริหารที่เข้าร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ประจำปี 2560 ว่า ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบันพบว่า บริษัทประกันวินาศภัยมีการแข่งขันด้านราคาสูงมาก เห็นได้จากค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายสูงมาก จนเป็นที่น่ากังวล เพราะทำให้กำไรจากการรับประกันภัยลดลงมากด้วย ทั้งนี้ การแข่งขันเป็นเรื่องที่ดี ทำให้เกิดการพัฒนา แต่ต้องอยู่บนความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคในระยะยาว และบริษัทก็ต้องอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง

"วันนี้ส่วนต่างรายได้กับค่าใช้จ่ายบางมาก บางจนปริ่มๆ จะไม่พอ จึงต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะปีนี้เศรษฐกิจยังคงเป็นเรื่องที่นักธุรกิจกังวลอย่างมาก จากการที่อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัว ประชาชนมีหนี้สินสูง การว่างงาน ทำให้การจัดสรรเงินมาซื้อประกันลดลง" นายชูฉัตร กล่าว

นอกจากนี้ คปภ.ได้ตรวจสอบย้อนหลังไป 5 ปี พบว่าปี 2555 บริษัทประกันภัยขาดทุนมากเป็นประวัติศาสตร์ ผลจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านสินไหมทดแทนสูง และดีขึ้นในปี 2556 และปี 2557 แต่หลังจากนั้นพบว่า ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราที่สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของเบี้ยรับรวม

ทั้งนี้ ปี 2558 บริษัทประกันวินาศภัยทั้งระบบ มีค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย 1.59 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.61% จากปีก่อนหน้า ตรงข้ามกับเบี้ยรวมที่ติดลบ และปี 2559 ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 5.74% โดยกำไรจากการรับประกันภัยเหลือ 7,346 ล้านบาท หลุดจากระดับหมื่นล้านบาท เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2556 สวนทางกับเบี้ยรับรวมเพิ่มขึ้น อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นลดลงมาอยู่ที่ 7.4%

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา คปภ.ได้สั่งเพิกถอนบริษัทประกันวินาศภัย 8 บริษัท เนื่องจากมีการควบคุมการบริหารภายในไม่ดี เช่น การขยายธุรกิจ เน้นการเพิ่มปริมาณเบี้ยประกันภัยอย่างรวดเร็ว ทำให้ค่าใช้จ่ายสูง และไม่มีการทำบัญชีที่ถูกต้อง มีการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง หรือมีการทำธุรกิจไม่โปร่งใส

"การที่ธุรกิจประกันภัยไทยกำลังจะเข้าโครงการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program-FSAP) แต่ละบริษัทจะถูก คปภ.ตรวจสอบกระบวนการทำงานอย่างเข้มข้นมากขึ้น และบริษัทจะต้องประเมินตัวเองก่อนหากมีข้อบกพร่องใดจะได้เร่งปรับปรุงก่อนที่ทางเอฟแซฟจะเข้ามาตรวจสอบจริง" นายสุทธิพล กล่าว