posttoday

คปภ.วางกรอบ แซนด์บ็อกซ์ประกัน

08 เมษายน 2560

คปภ. เร่งวางกรอบการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย

โดย...วารุณี อินวันนา

คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เร่งวางกรอบการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย (Insurance Regulatory Sandbox) เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดตัวไปแล้ว ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างดำเนินการ

วราวรรณ เวชชสัสถ์ รองเลขาธิการ ด้านการกำกับ คปภ. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค. เป็นวันสุดท้ายในการรับฟังความคิดเห็นและร่วมกันวางแนวทางการเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการของธุรกิจประกันภัย หรือสนามทดสอบนวัตกรรม จากบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย นายหน้าประกันภัยประเภทนิติบุคคล

ทั้งนี้ จะรวมถึงบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินหรือฟินเทค ผู้มีความชำนาญด้านเทคโนโลยี ที่สนใจจะเสนอนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัย หรือนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในธุรกิจประกันภัย แต่ต้องดำเนินการร่วมกับบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต วินาศภัย หรือนายหน้าประกันชีวิต หรือวินาศภัยประเภทนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาต

เบื้องต้น คปภ.ได้กำหนดกรอบธุรกรรมที่สามารถนำมาทดสอบได้ จะต้องเป็นนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่เคยมีหรือไม่เหมือนกับผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่นำเสนออยู่แล้วในไทย หรือเป็นนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการที่มีอยู่เดิม ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ กระบวนการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย กระบวนการเรียกร้อง และ/หรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทน Smart Contract ที่เป็นระบบการให้บริการอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้เอกสาร

“วันที่ 19 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับภาคเอกชนเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อรับฟังข้อเสนอและความเห็น และจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเข้าทดสอบ เลือกลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในการทดสอบ เพื่อดูผลกระทบทั้งด้านบวก ด้านลบ และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น หากกลุ่มเป้าหมายได้รับความเสียหาย บริษัทประกันจะต้องชดใช้ โดยจะมีตัวแทน คปภ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาว่าผ่านการทดสอบหรือไม่” วราวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ คปภ.ได้ศึกษาการเปิดสนามทดสอบนวัตกรรมประกันภัยจากหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ที่ทดสอบประกันอุบัติเหตุการเดินทาง หรือ TA ที่มีความคุ้มครองเรื่องเครื่องบินล่าช้า ซึ่งมีระบบตรวจสอบเวลาการบิน หากเกิดการล่าช้า ระบบจะเปลี่ยนแปลงสายการบินให้อัตโนมัติ หรือในเอเชียที่ไต้หวัน สิงคโปร์ บรูไน โดยเฉพาะจีน มีการพัฒนาเร็วมาก เพื่อนำผลศึกษามาพัฒนาใช้ให้เหมาะสมกับไทย

จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการประจำคณะ อนุกรรมการดิจิทัล สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า จากการส่งหนังสือรับฟังความคิดเห็นถึงบริษัทสมาชิก พบว่า ทุกบริษัทเห็นด้วยและพร้อมเข้าทดสอบ เพราะธุรกิจดิจิทัลมาแรงมาก และภาคธุรกิจประกันชีวิตกำลังสร้างกระบวนการขาย การให้บริการผ่านอินชัวร์เทค ซึ่งหลายเรื่องยังไม่มีกฎหมายรองรับก็สามารถนำมาทดสอบได้ หากมีประโยชน์ต่อธุรกิจและต่อลูกค้า

“คปภ.สามารถไปแก้ไขกฎหมายเพื่อให้รองรับสินค้า หรือบริการนั้นๆ ได้เร็วขึ้น จากปัจจุบันที่บริษัทประกันชีวิตจะต้องไปชี้แจงเอง ซึ่งใช้เวลานาน” จิรเศรษฐ กล่าว

นอกจากนี้ สนามทดสอบดังกล่าวยังเปิดทางให้บริษัทประกันชีวิตทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ได้อย่างถูกต้องภายใต้การดูแลของ คปภ. จากปัจจุบันกฎหมายไม่เปิดให้บริษัทประกันชีวิตลงทุนในสตาร์ทอัพ

ที่สำคัญการเปิดให้มีสนามทดสอบนวัตกรรมยังสนับสนุนให้หน่วยงานกำกับดูแล และภาคธุรกิจประกันภัย ปรับตัวได้ทันกับเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงกิจกรรมการใช้บริการของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย