posttoday

ความเสี่ยง"ธุรกิจหยุดชะงัก"พุ่งทั่วโลก

16 กุมภาพันธ์ 2560

ความเสี่ยง"ธุรกิจหยุดชะงัก"พุ่ง นักธุรกิจทั่วโลกยกให้เป็นความกลัวอันดับ 1 ในปี 2560 ส่วนหนึ่งเกิดจากยุคของ "อินเทอร์เน็ตออฟติง"

ความเสี่ยง"ธุรกิจหยุดชะงัก"พุ่ง นักธุรกิจทั่วโลกยกให้เป็นความกลัวอันดับ 1 ในปี 2560 ส่วนหนึ่งเกิดจากยุคของ "อินเทอร์เน็ตออฟติง"

กลุ่มอลิอันซ์ เยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทอลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต เผยผลสำรวจดัชนีชี้วัดความเสี่ยง ปี 2560 จากการวิเคราะห์ความเสี่ยงขององค์กรต่างๆทั่วโลก โดยการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยงจำนวน 1237 คน จาก 55 ประเทศทั่วโลก   พบว่า ความกังวลจากความสูญเสียจากการหยุดชะงักทางธุรกิจ (Business Interruption) เป็นปัญหาที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุด เป็นปีที่ห้าติดต่อกัน (37% ของคำตอบ) เพราะสามารถนำไปสู่การสูญเสียทางรายได้อย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับ สาเหตุของการหยุดชะงัก ยังมีสัญญาณเตือนใหม่ๆ หลายอย่างที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายที่ไม่ใช่ทางกายภาพหรือภัยที่จับต้องไม่ได้ อาทิ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกไซเบอร์  ความรุนแรงทางการเมือง การนัดหยุดงานและการก่อการร้าย

แนวโน้มเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากยุคของ "อินเทอร์เน็ตออฟติง" (Internet of Things:IOT) และบริษัทยังต้องเผชิญความสูญเสียทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  อาทิ การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit)  ชัยชนะของทรัมป์จากการเลือกตั้ง เป็นต้น

คริส ฟิสเชอร์ เฮอร์ส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ Allianz Global Corporate & Specialty SE กล่าวว่า บริษัททั่วโลกกำลังตกอยู่ในปีแห่งความไม่แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงที่คาดเดาไม่ได้มากมาก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการเมืองและการตลาดทั่วโลก ท่ามกลางความเสี่ยงใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย นอกเหนือจากภัยแบบเดิม เช่น อัคคีภัยและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีอยู่ตลอดเวลา องค์กรธุรกิจต้องอาศัยการติดตามอย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่มีอยู่ให้เหมาะสม

ขณะที่ การพัฒนาและความผันผวนของตลาดมาเป็นอันดับ 2 ในปี 2560  (31% ของคำตอบ)  และยังเป็นความกังวลสูงสุดในธุรกิจการบินและการป้องกันประเทศ ธุรกิจให้บริการทางการเงิน ธุรกิจขนส่งและการจัดส่งสินค้าทางทะเล ตลอดจนธุรกิจที่อยู่ในแถบแอฟริกาและตะวันออกกลาง

ดังนั้น บริษัทต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อติดตามสถานการณ์ทางการเมืองและการกำหนดนโยบายทั่วโลก เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในด้านกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดต่างๆ และสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามข้อมูลของบริษัทประกันเครดิต ออยเลอร์ เฮอร์เมส (Euler Hermes) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทภายใต้กลุ่มอลิอันซ์ ชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2557 มีอุปสรรคทางการค้าใหม่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นประจำทุกปีราว 600-700 รายการ

ปัจจุบัน ทุกๆธุรกิจหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีกันมากขึ้น ในขณะที่ดิจิทัลนำโอกาสใหม่ๆมาให้กับธุรกิจ แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านสินทรัพย์จากสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ไปเป็น  สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้มากขึ้น นำมาซึ่งความเสี่ยงใหม่ๆ

ขณะที่ ภัยด้านไซเบอร์เป็นภัยธุรกิจอันดับที่ 3 โลก และเป็นอันดับที่ 2 ในทวีปอเมริกาและยุโรป และมีความเสี่ยงอันดับสูงสุดในเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ แอฟริกาใต้และ  สหราชอาณาจักร ในเวลาเดียวกันก็เป็นความกังวลลำดับต้นๆ ของโลกสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโทรคมนาคม และภาคการค้าส่งและค้าปลีก

ภัยคุกคามในปัจจุบันนี้ไปไกลเกินกว่าการเจาะข้อมูล และการละเมิดข้อมูลความเป็นส่วนตัว แม้ว่ากฎหมายใหม่ในการป้องกันข้อมูลจะช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ออกจากธุรกิจ ล่าสุดมีการบังคับใช้กฎหมายการคุ้มครองข้อมูลใหม่ทั่วยุโรปในปี 2561 (General Data Protection Regulation) ถึงแม้บริษัทต่างๆจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่บทลงโทษนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า

ในขณะเดียวกันการเพิ่มการเชื่อมต่อและความซับซ้อนของการโจมตีในโลกไซเบอร์ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความเสี่ยงมหาศาลโดยตรงต่อบริษัท แต่ยังมีความเสี่ยงทางอ้อมผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ระบบไอที ระบบประปา หรือระบบไฟฟ้า ต่อจากนั้น ก็มีภัยคุกคามจากความล้มเหลวทางด้านเทคนิค หรือข้อผิดพลาดของพนักงานซึ่งสามารถนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการหยุดชะงักทางธุรกิจ(Business Interruption)

ในยุคดิจิตอลหรือยุค 4.0 ความล้มเหลวในการส่งหรือตีความข้อมูลที่ถูกต้องอาจนำไปสู่การหยุดชะงักทางธุรกิจได้ บริษัทจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องข้อมูลที่ถือเป็นสินทรัพย์ของบริษัท ผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า บริษัทขนาดเล็กอาจจะมีการประเมินความเสี่ยงในโลกไซเบอร์ต่ำไป โดยบริษัทขนาดเล็กนี้ (รายได้น้อยกว่า 250 ล้านยูโร หรือ ประมาณ 9.4 พันล้านบาท) จัดอันดับความเสี่ยงในโลกไซเบอร์อยู่ในอันดับที่ 6 เท่านั้น ซึ่งในความจริงแล้วความผิดพลาดรุนแรงเพียงครั้งเดียวในโลกดิจิทัล อาจสร้างความเสียหายให้กับบริษัทขนาดนี้อย่างยิ่งยวด

ภัยพิบัติธรรมชาติ ถูกจัดให้เป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจ ในอันดับที่ 4 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เพิ่มขึ้น (24% และ 6% ของคำตอบตามลำดับ) ยังคงอยู่ในความกังวลอันดับต้นๆของธุรกิจ โดยเฉพาะในเอเชียที่เกิดภัยพิบัติที่มีการสูญเสียมากที่สุดในโลก ในปี 2559เช่น แผ่นดินไหวที่คุมาโมโตะ (ญี่ปุ่น) ภัยพิบัติธรรมชาติอยู่ในอันดับที่เป็นกังวลสูงสุดในญี่ปุ่นและฮ่องกง โดยในระดับโลก ธุรกิจด้านวิศวกรรม และรับเหมาก่อสร้าง มีความกังวัลในประเด็นนี้สูงที่สุด

แอ็กเซิล เธอิส กรรมการบริหาร กลุ่ม อลิอันซ์ กล่าวว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างความกังวลให้กับลูกค้าและสังคมของได้เสมอ และ กลุ่มอลิอันซ์ คาดการณ์ว่าภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น ความเสียหายจากคลื่นความร้อนและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นงานของบริษัทประกันในการพัฒนาโซลูชันส์เพื่อรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้และป้องกันและแผนประกันภัยแบบคุ้มครองร่วมกับลูกค้าและพันธมิตรภาครัฐ