posttoday

‘สุทธิพล’ เปิดแผน คุมธุรกิจประกัน 8 แสนล.

06 มกราคม 2559

ปี 2559 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ธุรกิจประกันชีวิต

โดย...วารุณี อินวันนา

ปี 2559 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัยจะมีเบี้ยรับรวมกัน 8.10 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.85% จากบริษัทประกันชีวิต 25 แห่ง และบริษัทประกันวินาศภัย 70 แห่ง

ขณะที่สัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 6% ของจีดีพี สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนหันมาให้ความสนใจซื้อประกันชีวิต และประกันภัยเพิ่มขึ้น และแนวโน้มนี้จะมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ แผนการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่มีอัตราเติบโตสูงกว่าจีดีพี ของ สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. จะเน้นแนวทางสมัยใหม่ ด้วยการจัดระเบียบบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ทำธุรกิจอย่างโปร่งใส ไม่ทำให้ผู้บริโภคสับสน และคลุมเครือในตัวสินค้า ที่สำคัญต้องไม่เป็นการเอาเปรียบประชาชน

สุทธิพล ระบุว่า ในปีนี้ คปภ.จะมีการเข้าไปดูรายละเอียดของกรมธรรม์ เอกสารการเสนอขาย โฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่จะต้องมีความชัดเจนในสาระสำคัญด้านความคุ้มครอง และข้อยกเว้นต่างๆ โดยไม่ปล่อยให้ธุรกิจประกันอาศัยความไม่ชัดเจนในข้อความกรมธรรม์นี้ ตักตวงผลประโยชน์จากความไม่รู้ของประชาชน ควบคู่กับการให้ความรู้กับประชาชน ให้รู้เท่าทันประกันภัย

นอกจากนี้ คปภ.จะมีการควบคุมคุณภาพการขายของตัวแทน นายหน้า ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎ กติกา ถ้าประชาชนมีการร้องเรียน คปภ.จะต้องตรวจสอบและลงโทษด้วยการถอนใบอนุญาต และต้องให้ตัวแทนมีการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มความรู้ให้ทันกับกรมธรรม์ใหม่ๆ ที่ออกมา

รวมถึงการควบคุมดูแลทุกช่องทางการจัดจำหน่าย ให้ทำตามกฎ กติกา เพราะกฎ กติกาที่มีอยู่ในปัจจุบันถือว่าดีแล้ว แต่ยังมีการละเลย โดยปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากวิธีการขายที่ไม่ตรงไปตรงมา

“เราได้ขอความร่วมมือกับทางภาคเอกชนแล้ว เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน” สุทธิพล กล่าว

ขณะที่ในการสร้างความแข็งแกร่งด้านความสามารถของบริษัทประกันนั้น คปภ.จะเน้นความยืดหยุ่น และปรับปรุงกฎระเบียบเก่าๆ ที่ออกมามากในช่วงปี 2550 ซึ่งหลายเรื่องไม่ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย ร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต และ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนว่า มีกฎ กติกาใด ที่เป็นภาระและอุปสรรคในการทำธุรกิจ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น และสอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น กติกาเดิมกำหนดไว้ว่า ทุกบริษัทจะต้องมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยทำงานเต็มเวลาที่บริษัท แต่ความจริงไทยยังขาดแคลนนักคณิตศาสตร์ ซึ่งจะต้องมาดูกันว่าจะทำอย่างไร

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการเพิ่มทุนขั้นต่ำเพื่อแก้ปัญหาฐานะการเงินของบริษัท ซึ่งเดิมกำหนดว่า ธุรกิจประกันวินาศภัย จะต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนขั้นต่ำจาก 30 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท ภายใน 5 ปี โดยปีแรกต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 100 ล้านบาท ปีที่ 2 เพิ่มเป็น 200 ล้านบาท ปีที่ 3 เพิ่มเป็น 300 ล้านบาท และปีที่ 5 เพิ่มเป็น 500 ล้านบาท ส่วนบริษัทประกันชีวิต ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ จาก 50 ล้านบาท เป็น 1,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี โดยต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 500 ล้านบาทภายใน 3 ปี และ 1,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี ควบคู่กับการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk Based Capital : RBC) ที่ 150% ในปี 2559

“การเพิ่มทุนขั้นต่ำนี้ อาจจะกระทบประชาชนที่เป็นลูกค้า จึงอาจจะต้องมาพิจารณาทบทวนว่า ถ้าไม่อยากเพิ่มทุน บริษัทนั้นก็ต้องทำธุรกิจในวงจำกัด ซึ่งจะไม่สามารถแข่งขันได้ สุดท้ายอาจจะถูกกลืนธุรกิจไปในที่สุด ทางออกที่ทำให้ทุกคนอยู่ได้อย่างแข็งแกร่งต้องทำอย่างไร” สุทธิพล กล่าว

สุทธิพล กล่าวว่า รายละเอียดในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย อยู่ในแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3 (2558-2562) ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ คปภ.แล้ว แต่ยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้ เพราะต้องรอรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนก่อน ซึ่งหลักๆ จะเน้นการสร้างความเชื่อมั่นในประกันภัยให้กับประชาชน และทำให้บริษัทประกันมีความเข้มแข็งด้านการเงิน ทำธุรกิจอย่างโปร่งใส และสามารถแข่งขันได้ในสภาพตลาดสมัยใหม่

ล่าสุด จากกรณีที่ไทยมีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 กับ 900 ผู้ประมูลได้จะต้องทำให้เกิดธุรกรรมเพื่อสร้างรายได้จากทุกธุรกิจ ซึ่ง คปภ.จะส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยสามารถต่อยอดจากสถานการณ์ใหม่ๆ นี้ได้ และส่งสัญญาณให้ธุรกิจระมัดระวังความเสี่ยงที่จะตามมา เช่น เรื่องการโจมตีข้อมูลผ่านสารสนเทศทางออนไลน์ ที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ หรือ ไซเบอร์แอทแท็ก แล้ว

สำหรับในไทย มีบริษัทประกันภัยเสนอขอออกกรมธรรม์คุ้มครองไซเบอร์แอทแท็ก โดย คปภ.อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดของกรมธรรม์ดังกล่าวในประเทศต่างๆ ที่เคยขายไปแล้ว คิดว่าปีนี้จะน่าจะเห็นกรมธรรม์ดังกล่าวออกมาได้

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเตรียมตัวธุรกิจประกันภัยไทยให้พร้อม และมีศักยภาพในการรองรับเงินลงทุนจากต่างประเทศ ที่สนใจเข้ามามองหาโอกาสในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มนี้มองโอกาสในการนำผลิตภัณฑ์ความคุ้มครองใหม่ๆ เข้ามาให้บริการลูกค้าไทยในอนาคต

“การเปิดให้ต่างประเทศเข้ามา จะใช้นโยบายระมัดระวังเช่นเดิม เห็นได้จากปัจจุบันกฎหมายยังกำหนดให้คนไทยถือหุ้น 75% แต่ถ้ามีเหตุผลสมควรก็ให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 49% เช่น บริษัทมีฐานะการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน รมว.คลังก็มีอำนาจผ่อนผันให้ต่างชาติถือหุ้นได้เต็มที่ และต้องดูว่านักลงทุนที่เข้ามามีความตั้งใจที่จะทำธุรกิจประกันจริงๆ” สุทธิพล กล่าว

ขณะเดียวกัน จะสนับสนุนให้ธุรกิจประกันไทยที่มีความพร้อมออกไปเปิดตลาดอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ด้วยการตามไปให้บริการด้านความคุ้มครองให้กับลูกค้าที่เข้าไปทำตลาด เช่น ในเมียนมา ที่มีกิจการร่วมค้าระหว่างคนไทยกับเมียนมา

นอกเหนือจากการเข้าไปมีส่วนช่วยคุ้มครองความเสี่ยงจากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ภายในประเทศ และการเข้าไปรองรับนโยบายภาครัฐในการทำประกันภัยนาข้าว ที่จะสนับสนุนให้เกิดการขยายการรับประกันภัยด้านการเกษตรอื่นๆ การประกันภัยรายย่อยราคาถูก ตามเทศกาลวันหยุดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนรายย่อยเข้าถึงความคุ้มครองได้อย่างแพร่หลาย

สุทธิพล กล่าวว่า ปีนี้จะสนับสนุนให้ คปภ.และธุรกิจประกันภัย ทำงานวิจัยให้มากขึ้น เริ่มจากการวิจัยด้านประกันสุขภาพ การวิจัยด้านประกันภัยพืชผลการเกษตร รวมถึงหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) ที่ผู้เรียนจะต้องมีงานวิจัย เพื่อจะได้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และมีข้อมูลที่แท้จริง