posttoday

รู้จักประกันชีวิตสำหรับผู้สูงวัย ที่ทำให้เข้าใจผิด?

26 สิงหาคม 2558

เพราะใช้คำว่า "ไม่ต้องตรวจสุขภาพ" ทำให้เข้าใจว่าเป็นการคุ้มครองการเจ็บป่วย

โดย...วารุณี อินวันนา

โครงสร้างประชากรของสังคมไทยกำลังก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยอายุเกิน 60 ปี เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการประชากรของไทยในปี 2583 หรือในอีก 25 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 32.1% จากปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ 13.2% ของประชากรทั้งประเทศ

จังหวะเดียวกันกับที่ประชาชนมองหาวิธีการสร้างหลักประกันให้ตัวเอง ทั้งด้านสุขภาพ และเงินออม เพื่อรักษาคุณภาพการใช้ชีวิตให้ดีที่สุดหลังจากไม่มีรายได้จากการทำงาน

ทำให้บริษัทประกันชีวิต  เห็นโอกาสทางการตลาดของผู้สูงวัย จึงมีการพัฒนา "ประกันชีวิตสำหรับผู้สูงวัย" ขึ้นมาและได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกันภัย (คปภ.) ให้ออกมาขายได้เมื่อปี 2556 เริ่มรับประกันตั้งแต่คนที่มีอยุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปถึง 75 ปี

ปิดช่องว่างที่ประกันชีวิตทั่วๆ ไปที่ให้ความคุ้มครองด้านสุขภาพเพิ่มเติมจะรับประกันคนที่มีอายุไม่เกิน 60 ปี และอายุยิ่งมากเบี้ยยิ่งแพง

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีการขายประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ ที่มีการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ โดย ชูข้อความว่า "ไม่ต้องตรวจสุขภาพ" ทำให้ประชาชนผู้สูงอายุ ที่มีความสนใจทำประกันจำนวนมากเข้าใจผิด มีการซื้อประกันด้วยความเข้าใจผิด คิดว่าคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากสุขภาพ เพราะใช้คำว่า "ไม่ต้องตรวจสุขภาพ" ทำให้เข้าใจว่าเป็นการคุ้มครองการเจ็บป่วย  เมื่อเข้ารับการรักษา ไม่สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ จึงมีการร้องเรียนไปยังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสร้างผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนทั่วไป

บุษรา อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทย  กล่าวว่า กรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องดังกล่าว ทางสมาคมประกันชีวิต กำลังเร่งหารือกับบริษัทประกันชีวิต ถึงแนวทางการพัฒนาปรับปรุงวิธีการเสนอขายให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ

รวมถึง  ประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ก็อยู่ระหว่างประสานกับสมาคมประกันชีวิตไทย เพื่อขอข้อมูลมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำประกันชีวิตผู้สูงอายุ ที่ระบุว่าถูกบริษัทประกันภัยเอาเปรียบ เรื่องนี้ต้องดูเงื่อนไขในกรมธรรม์เป็นหลัก

รู้จักประกันชีวิตสำหรับผู้สูงวัย

บุษรา อธิบายว่า  แบบประกันชีวิตสำหรับผู้สูงวัยพัฒนาขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยเข้าถึงการประกันชีวิตได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจมีการตรวจหรือไม่ตรวจสุขภาพ แล้วแต่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของแบบประกันภัยแต่ละแบบ  โดยแบบประกันที่ไม่ตรวจสุขภาพ จะมีเงื่อนไขว่าหากเสียชีวิตใน 2 ปีแรกของการทำประกันชีวิต บริษัทจะจ่ายเงินเท่ากับเบี้ยประกันภัยที่รับมาแล้ว บวกผลตอบแทนให้เล็กน้อยในอัตรา 2-5% แล้วแต่บริษัท เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นโรคใดๆ มาก่อนทำประกันชีวิต 

จากกรณีที่มีผู้ร้องเรียนเรื่องแบบประกันผู้สูงวัยนั้น ทางสมาคมประกันชีวิต ชี้แจงว่าแบบประกันสำหรับผู้สูงวัยเป็นแบบประกันชีวิตที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ โดยมีลักษณะสำคัญดังนี้

-ผู้เอาประกันจะต้องมีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป ซึ่งอาจมีการกำหนดอายุสูงสุดของผู้เอาประกันไว้ไม่เกิน 70-75ปี

-ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตเป็นหลัก

-บางแบบประกันชีวิตสามารถซื้อสัญญาเพิ่มเติมได้ ยกตัวอย่างเช่น สัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยด้วยปัญหาสุขภาพ หรือโรคร้ายแรง หรืออาจเป็นในลักษณะการจ่ายค่าชดเชยรายวันกรณีพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แล้วแต่กรณีตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต

-สามารถซื้อได้ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณารับประกันชีวิตของบริษัทแล้วแต่กรณี ได้แก่ ต้องตรวจสุขภาพ หรือ ไม่ต้องตรวจสุขภาพแต่ต้องตอบคำถามสุขภาพ หรือ ทั้งไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ

- แบบประกันชีวิตที่ไม่ตรวจสุขภาพ จะมีเงื่อนไขว่าหากเสียชีวิตใน 2 ปีแรกของการทำประกันชีวิต บริษัทจะจ่ายเงินเท่ากับเบี้ยประกันภัยที่รับมาแล้ว บวกผลตอบแทนให้ในอัตรา 2-5% แล้วแต่บริษัท เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นโรคใดๆ มาก่อนทำประกันชีวิต และหากผู้เอาประกันภัย เสียชีวิตในปีที่ 3 เป็นต้นไป ก็จะได้รับเงินเต็มตามจำนวนเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในสัญญา

วิธีซื้อความคุ้มครองให้ได้ตรงใจ

บุษรา  แนะนำให้ประชาชนทำความเข้าใจกับแบบประกันชีวิตที่ตนเองสนใจโดยสอบถามกับเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนประกันชีวิต ว่า ความคุ้มครองและผลประโยชน์ว่าตรงตามความต้องการหรือไม่ จะได้เบิกได้ในกรณีใดบ้าง

- ศึกษาข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ให้เข้าใจ เช่น มีปัญหาสุขภาพ สามารถสมัครได้ไหม และจะ คุ้มครองได้แค่ไหน

-ระยะเวลาในการคุ้มครองและระยะเวลาในการจ่ายเบี้ยประกันภัย

- ค่าเบี้ยประกันภัย เหมาะสมกับกำลังซื้อของตนเองหรือไม่

-แบบประกันนั้นมีข้อจำกัด หรือข้อยกเว้น อะไรบ้าง

-สอบถามเจ้าหน้าที่ให้ละเอียด   เช่น หากเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตต้องทำอย่างไร  ติดต่อที่ไหน เบอร์โทรอะไร

- เมื่อได้รับเล่มกรมธรรม์ประกันชีวิตมาแล้วให้ศึกษาและทำความเข้าใจ ในรายละเอียดและเงื่อนไขความคุ้มครอง  หากพบไม่ตรงกับความต้องการ สามารถขอยกเลิกได้ภายใน 30 วัน นับจากวันทีได้เล่มกรมธรรม์ประกันชีวิตในกรณีซื้อทางโทรศัพท์ หรือขอยกเลิกภายใน 15 วัน กรณีซื้อผ่านตัวแทนประกันชีวิต

มีปัญหาติดต่อใคร

ในกรณี ที่มีข้อสงสัยในเงื่อนไข และความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันชีวิต สามารถติดต่อได้หลายช่องทาง ประกอบด้วย

-ตัวแทนประกันชีวิตที่ท่านซื้อกรมธรรม์

-ศูนย์บริการลูกค้าที่สำนักงานใหญ่ หรือสาขาทั่วประเทศ

-ศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (Call center) ของบริษัทประกันชีวิต

-เว็บไซต์บริษัทประกันชีวิต

-ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของบริษัทประกันชีวิต

ทำอย่างไรเมื่อถูกปฏิเสธค่าสินไหม 

สำหรับ กรณีที่ทำประกันชีวิตไปแล้ว พบปัญหาบริษัทปฏิเสธการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ควรจะดำเนินการ ดังนี้

-ตรวจสอบความคุ้มครองของกรมธรรม์ที่ซื้อไว้ ว่ามีสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ หรือสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือไม่

-หากมีสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ หรือ สัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ ลูกค้าควรอ่านเงื่อนไขความคุ้มครองในสัญญากรมธรรม์ฯ โดยละเอียด เพื่อตรวจเช็คว่าเหตุผลใดที่ทางบริษัทปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหม

-ถ้าพบว่าเหตุที่ปฏิเสธไม่ตรงกับสิ่งที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ฯ ลูกค้าสามารถติดต่อบริษัทผ่านช่องทางบริการต่างๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิดังกล่าว

-หากเห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจากบริษัทประกันภัย สามารถร้องเรียน หรือสอบถามได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สายด่วนประกันภัย โทร 1186

ประกันชีวิตต่างจากประกันสุขภาพ

ด้าน ประเวช กล่าวว่า  ประชาชนต้องเข้าใจระหว่าง การประกันชีวิต และการประกันสุขภาพ   ก่อนการตัดสินใจซื้อ โดย การประกันชีวิต บริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากการเสียชีวิต ทุกกรณี หรือเนื่องจากการมีชีวิตอยู่รอดตามระยะเวลาที่กำหนดขึ้นอยู่กับสัญญาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัย จะได้รับความคุ้มครอง การเสียชีวิตและการอยู่รอดเต็มจำนวนผลประโยชน์ที่ซื้อจากทุกๆกรมธรรม์ประกันชีวิต

สำหรับ การประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นสัญญาเพิ่มเติมที่ซื้อเพิ่มจากกรมธรรม์ประกันชีวิตจะให้ความคุ้มครองด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล และเงินชดเชยรายได้เนื่องจากนอนพักรักษาพยาบาลเท่านั้น ไม่ว่าการรักษาพยาบาลนั้น จะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ซึ่งการพิจารณารับประกันภัยของบริษัทประกันภัย จะขึ้นอยู่กับสุขภาพและอายุของผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ

บริษัทประกันภัยส่วนใหญ่จะไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนการทำประกันภัย หรือ เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่กำหนดไว้ ภายใน 90 วัน นับแต่วันเริ่มสัญญา เช่น โรคมะเร็ง และหากผู้ขอเอาประกันภัยมีสุขภาพไม่แข็งแรง หรือมีโรคประจำตัวหลายอย่าง บริษัทประกันภัยอาจจะพิจารณารับประกันภัยด้วยเบี้ยประกันภัยที่สูงกว่าคนปกติ หรืออาจจะไม่รับประกันภัยเลยก็ได้

อย่างไรก็ตาม ทั้งธุรกิจประกันชีวิต และ คปภ. ต้องร่วมมือกัน ในการปรับปรุงข้อความประชาสัมพันธ์ ที่ไม่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เพื่อแสดงความจริงใจ และ โปร่งใส และควบคุมตัวแทนประกันชีวิตให้ขายประกันชีวิตอยู่บนความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชน จะเป็นการป้องกันปัญหาได้ดีที่สุด