posttoday

ฟินเทคขายกองทุนเฮ!

07 ตุลาคม 2559

ก.ล.ต.ไฟเขียวใบอนุญาตผ่อนปรนเป็นกรณีพิเศษ เอื้อฟินเทคทำธุรกิจขายหน่วยลงทุน รับรายได้ตรง แก้ปัญหาเสียภาษีซ้ำซ้อน

ก.ล.ต.ไฟเขียวใบอนุญาตผ่อนปรนเป็นกรณีพิเศษ เอื้อฟินเทคทำธุรกิจขายหน่วยลงทุน รับรายได้ตรง แก้ปัญหาเสียภาษีซ้ำซ้อน

นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวหลังจากประชุมร่วมกับชมรมฟินเทคประเทศไทย เรื่อง “การพัฒนาโครงสร้างการรับรายได้ของผู้ประกอบการฟินเทคด้านการแนะนำการลงทุนและนักวางแผนการเงิน” ว่า ก.ล.ต.เตรียมผ่อนคลายหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาตที่ปรึกษาการลงทุน (IA) แบบชั่วคราว สำหรับผู้ประกอบการนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เพื่อให้สามารถรับรายได้จากบริษัทหลักทรัพย์ที่ทำธุรกิจเป็นนายหน้า ค้า และจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน (LBDU) ได้โดยตรง

“กฎเกณฑ์ที่จะผ่อนปรน เช่น ทุนจดทะเบียนไม่ต้องมีถึง 10 ล้านบาท ไม่ต้องมีหน่วยงานดูแลการปฏิบัติงาน ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในต้นปี 2560 แต่จะเป็นการผ่อนปรนเพียงชั่วคราวในระยะเวลาหนึ่ง ระหว่างที่ ก.ล.ต.ยังไม่มีหลักเกณฑ์ถาวรออกมาเท่านั้น” นางทิพยสุดา กล่าว

สำหรับผู้ประกอบการที่จะมาขอใบอนุญาตที่ปรึกษาการลงทุนแบบชั่วคราวนั้น ในเบื้องต้นยังจำกัดเฉพาะการซื้อขายหน่วยลงทุนที่เป็นอิสระ ไม่ได้อยู่ในเครือธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มีพนักงานที่มีใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน และไม่เก็บรักษาเงินลูกค้า หรือไม่แตะต้องเงินลงทุนของลูกค้า

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน LBDU ที่จ่ายส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมจากการขายหน่วยลงทุนให้กับนักวางแผนการเงินรายบุคคลที่มีใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน (IP และ IC) ในขณะที่นักวางแผนการเงินหลายกลุ่ม รวมถึงผู้ประกอบการฟินเทคด้านการแนะนำการลงทุนหลายรายได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเพื่อทำธุรกิจ แต่กลับต้องรับรายได้ในนามบุคคลทำให้ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังมีแนวคิดในการใช้ Regulatory Sandbox หรือการสร้างสนามทดลองให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการทดสอบและพัฒนาบริการด้านการวางแผนการเงินและแนะนำการลงทุน โดย ก.ล.ต.พร้อมให้คำปรึกษาและพิจารณาหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมต่อไป

“เชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจการวางแผนการเงินของประเทศไทยเติบโตได้อีกมาก” นางทิพยสุดา กล่าว

นายเจษฎา สุขทิศ เลขาธิการชมรมฟินเทคประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาที่ธุรกิจการวางแผนการเงินและการแนะนำการลงทุนพบในปัจจุบัน คือ โครงสร้างการประกอบธุรกิจและการรับรายได้ ไม่รองรับต่อแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจ โดยเฉพาะปัญหาภาษีซ้ำซ้อน ซึ่งต้องจ่ายภาษีรวมประมาณ 50-90% ของรายได้

ขณะนี้มีผู้ประกอบการประมาณ 31 ราย สนใจเข้าร่วมตามแนวทางของ ก.ล.ต.

นอกจากนี้ ชมรมฟินเทคประเทศไทยจะจัดให้มีศูนย์ทดสอบและพัฒนาฟินเทคแห่งชาติ (National FinTech Sandbox : NFS) ทำงานร่วมกับ Regulatory Sandbox โดยจัดให้มีแพลตฟอร์ม พื้นที่ทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ประสานงานกับสถาบันการเงินต่างๆ และหาลูกค้าอาสาสมัครเข้าร่วมทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์