posttoday

10 กองทุน LTF-RMF ยอดนิยม ปี'58

27 มกราคม 2559

ท่ามกลางความผันผวนตลอดปี 2558 ทว่านักลงทุนยังให้ความสนใจและเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) โดยมีเงินใหม่ไหลเข้าลงทุนสุทธิกว่า 5.52 หมื่นล้านบาท

โดย...ทีมข่าวกองทุน

ท่ามกลางความผันผวนตลอดปี 2558 ทว่านักลงทุนยังให้ความสนใจและเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) โดยมีเงินใหม่ไหลเข้าลงทุนสุทธิกว่า 5.52 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นกองทุน LTF มูลค่า 3.43 หมื่นล้านบาท และกองทุน RMF มูลค่า 2.09 หมื่นล้านบาท

“เม็ดเงินไหลเข้ากองทุน LTF เริ่มถึงจุดอิ่มตัว แม้จะมีเม็ดเงินไหลเข้ามามาก แต่ต้องอาศัยฐานผู้ลงทุนที่เพิ่มขึ้น ส่วนกองทุน RMF ยังมีโอกาสโตได้ต่อเนื่อง” “กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าว

ปัจจุบันกองทุน LTF ไม่สามารถออกกองใหม่ได้แล้ว ต่างจากกองทุน RMF ซึ่งปีที่ผ่านมาออกกองใหม่มากถึง 18 กองทุน ชี้ให้เห็นว่าคนเริ่มเข้าใจและเห็นประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นของกองทุน RMF ประกอบกับการออกกองทุนใหม่ๆ เข้ามาเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนด้วย

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 5 อันดับแรก ที่มีเงินไหลเข้าลงทุนในกองทุน LTF สูงสุด ได้แก่ บลจ.บัวหลวง มูลค่า 1.15 หมื่นล้านบาท รองลงมา คือ บลจ.กรุงศรี มูลค่า 8,722 ล้านบาท บลจ.กสิกรไทย 4,136 ล้านบาท บลจ.ยูโอบี 4,038 ล้านบาท และ บลจ.กรุงไทย 1,643 ล้านบาท

“ปีที่ผ่านมามีเงินไหลเข้ากองทุน LTF ของ บลจ.บัวหลวง คิดเป็น 1 ใน 3 ของเงินไหลเข้าทั้งหมด ส่วน บลจ.ไทยพาณิชย์เคยมีกองทุนขนาดใหญ่ แต่ผลตอบแทนไม่ค่อยดีในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนจึงขายออกไปบ้าง ทำให้ยอดสุทธิของเงินไหลเข้าจึงน้อยลง” กิตติคุณ กล่าว

ปัจจุบัน บลจ.กสิกรไทย ยังครองส่วนแบ่งตลาดกองทุน LTF สูงสุด แต่ปีที่ผ่านมามูลค่าสินทรัพย์ลดลง 4.36% รองลงมา คือ บลจ.บัวหลวงมีสินทรัพย์เติบโต 14% อันดับสาม บลจ.กรุงศรีเติบโต 3.93% อันดับสี่ บลจ.ไทยพาณิชย์ลดลง 8.2% และอันดับห้า บลจ.ยูโอบีเติบโต 30.9%

กิตติคุณ กล่าวว่า ภาพดังกล่าวไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงจากปี 2557 มากนัก โดย บลจ.บัวหลวง และ บลจ.กรุงศรี มีเงินไหลเข้ากองทุน LTF ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ บลจ.กรุงศรีมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจนเบียด บลจ.ไทยพาณิชย์ขึ้นมาอยู่อันดับสาม และ บลจ.ยูโอบีที่เบียด บลจ.อเบอร์ดีนขึ้นมาจนติดท็อปไฟว์ได้

นอกจากนี้ จากจำนวนกองทุน LTF ทั้งหมด 52 กองทุน พบว่าเงินไหลเข้าลงทุนสุทธิสูงสุดอยู่ใน 10 กองทุน หรือคิดเป็น 84% ของวงเงินไหลเข้าทั้งปีที่ 3.4 หมื่นล้านบาท โดยผู้ลงทุนแทบไม่ได้ซื้อกองทุนอื่นๆ มากนัก

สำหรับกองทุน RMF จัดตั้งมานาน 10 ปีและยังไม่มีปีไหนที่มูลค่าสินทรัพย์สุทธิติดลบ แม้สภาวะตลาดทุนจะได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งวิกฤตแฮมเบอร์ น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย วิกฤตหนี้ของกลุ่มยูโรโซน จนมาถึงการร่วงลงอย่างหนักของตลาดหุ้นจีนในช่วงท้ายปีที่ผ่านมาก็ตาม

“แม้หลายวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลง แต่กองทุน RMF ยังเติบโตได้ สะท้อนให้เห็นว่าผู้ลงทุนให้ความสนใจในการลงทุนจนมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิเติบโต 7.50% มาอยู่ที่ 1.79 แสนล้านบาท” กิตติคุณ กล่าว

ขณะที่ บลจ.บัวหลวงเบียดขึ้นมาครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดประเภทกองทุน RMF โดยมีมูลค่าสินทรัพย์แตะ 4.75 หมื่นล้านบาท เติบโต 17.63% ในรอบปีที่ผ่านมา ส่วน บลจ.กสิกรไทยมีมูลค่าสินทรัพย์อยู่ที่ 4.66 หมื่นล้านบาท สินทรัพย์เติบโตเพียง 3.56% อันดับสาม บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.กรุงศรี และ บลจ.ทหารไทย หากรวมมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุน RMF และ LTF มูลค่ารวม 4.5 แสนล้านบาท จะเห็นว่า บลจ.บัวหลวงและ บลจ.กสิกรไทยเริ่มมีขนาดใกล้เคียงกันแล้ว เม็ดเงินไหลเข้ากองทุน RMF ในปีที่ผ่านมาเป็นของ บลจ.บัวหลวงสูงถึง 9,094 ล้านบาท เนื่องจากมีการออกกองทุนใหม่ โดยเฉพาะกองทุนเฮลท์แคร์ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนค่อนข้างมาก อีกทั้งผลตอบแทนค่อนข้างดีของกองทุนก็มีส่วนทำให้เงินไหลเข้าไปลงทุนค่อนข้างมาก

รองลงมา คือ บลจ.กสิกรไทยมีเงินไหลเข้า 3,399 ล้านบาท อันดับสาม บลจ.กรุงศรี 2,896 ล้านบาท อันดับสี่ บลจ.ไทยพาณิชย์ 1,409 ล้านบาท และอันดับห้า บลจ.กรุงไทย 1,154 ล้านบาท ล้วนเป็น บลจ.ในเครือของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด

หากมองในแง่ของเงินไหลเข้า RMF บลจ.บัวหลวงมีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดทั้งในกลุ่มเฮลท์แคร์ ตราสารหนี้และเฟล็กซิเบิ้ล ขาดแต่ประเภทกองหุ้นที่ บลจ.กรุงศรีมีเงินไหลเข้าสุทธิมากกว่า ปีที่ผ่านมาคงต้องถือเป็นปีของ บลจ.บัวหลวงจริงๆ