posttoday

เงินสำรองประกันภัย เพื่อเงินชดเชยยามเกษียณ

23 ตุลาคม 2560

โดย...พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่ แอคชัวรี) นายกสมาคมนักคณิตศาตร์ประกันภัย

โดย...พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่ แอคชัวรี) นายกสมาคมนักคณิตศาตร์ประกันภัย

ทําไมต้องตั้งเงินสำรองทางคณิตศาสตร์ประกันภัย เพื่อเงินชดเชยยามเกษียณจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

อัตราค่าชดเชยตามอายุงานเมื่อทำงานจนถึงอายุเกษียณ คือ อายุงานมากกว่า 10 ปี ได้รับการชดเชย 10 เดือน หรือ 300 วัน หากทำงาน 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับการชดเชย 8 เดือน อายุงาน 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับค่าชดเชย 6 เดือน ทำงาน 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จะได้ค่าชดเชย 3 เดือน และทำงาน 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับค่าชดเชย 1 เดือน

นายจ้างจะทำการตั้งเงินสำรองเป็นเงินกองทุนของบริษัทเพื่อเอาไว้จ่ายลูกจ้างในอนาคต โดยการคำนวณเงินสำรองสำหรับค่าชดเชยจากการเกษียณ (ซึ่งเท่ากับเลิกจ้าง) เป็นการการันตีผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับตอนที่ทำงานจนถึงอายุเกษียณ ซึ่งหลักการตั้งเงินสำรองจะเหมือนกับหลักการเดียวกับแบบประกันชีวิตที่การันตีผลประโยชน์ให้ในอนาคต หลักการที่ว่านี้จะอาศัยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยในการคำนวณ เพื่อตั้งสำรองให้เหมาะสม

ขึ้นชื่อว่าเงินสำรองก็คงทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นเงินที่กันสำรองเอามาตั้งไว้ก่อน เพื่อจ่ายสำหรับอนาคตข้างหน้า ถ้าสมมติว่าเรารู้ว่าบริษัทจะต้องจ่ายหนี้ก้อนโตมูลค่า 12 ล้านบาท ในอีก 1 ปีข้างหน้า เราอาจจะตั้งสำรองเอาไว้เป็นมูลค่า 12 ล้านบาทในวันนี้ โดยถือว่าสำรองที่ตั้งไว้นั้นเป็นหนี้สินมูลค่า 12 ล้านบาททันที เพื่อเอาไว้จ่ายในอนาคตที่จะเกิดขึ้นในอีก 1 ปีข้างหน้า

บางคนมองว่าจะไปตั้งทำไมตอนนี้ 12 ล้านบาท เราก็ค่อยๆ ทยอยตั้งสำรอง เดือนละ 1 ล้านบาท พอเวลาผ่านไปครบ 12 เดือน บริษัทก็จะมีเงินสำรองครบ 12 ล้านบาท เอาไว้พอจ่ายหนี้ครบจำนวนพอดี ซึ่งใครจะทำแบบนี้ก็ไม่ผิด ขอแค่มีเงินจ่ายหนี้ก้อนโตให้เพียงพอเต็มจำนวนในเวลาที่ต้องจ่ายก็พอ

การค่อยๆ ทยอยตั้งเงินสำรองแบบตัวอย่างหลัง จะเป็นที่นิยมกว่า เพราะถือเป็นการทยอยตั้งค่าใช้จ่ายขึ้นเดือนละ 1 ล้านบาท ไม่ใช่ว่าต้องตั้งทีเดียวทั้งหมด จะทำให้บริษัทเดือดร้อนได้

เงินสำรองจะค่อยๆ โตขึ้น เหมือนน้ำในเขื่อนกักน้ำที่ค่อยๆ กักเก็บน้ำ และเอาไว้ใช้ในยามจำเป็น

ถ้าระยะเวลาเป็นแค่ระยะสั้นๆ แค่ 1 ปี การตั้งสำรองต่างๆ ก็คงจะไม่ยาก แต่ลองคิดตามกันดูครับว่า ถ้าเราเปลี่ยนระยะเวลาจาก 1 ปี ไปเป็นระยะเวลา 12 ปี แล้วจะทำอย่างไร

สมมติตัวอย่างเดิม ที่มีหนี้เป็นจำนวน 12 ล้านบาท แต่ทีนี้เรารู้ว่าจะต้องจ่ายในอีก 12 ปีข้างหน้า เราก็สามารถทำได้เหมือนเดิม คือ ทยอยตั้งเงินสำรองปีละ 1 ล้านบาท และเมื่อครบกำหนด 12 ปี หนี้สินที่บริษัทตั้งสำรองเอาไว้ก็ครบ 12 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้ได้พอดี

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เงินที่เราทยอยตั้งปีละ 1 ล้านบาทนั้น เราคงไม่ได้เอาไปฝังตุ่มเก็บไว้เฉยๆ จริงไหมครับ ถ้าเรารู้ว่าเงินก้อนแรกที่ทยอยตั้งไว้ 1 ล้านบาท จะเอาไว้จ่ายหนี้ 12 ปี ข้างหน้า เราก็คงจะเอาไปลงทุนอย่างอื่น เช่น พันธบัตร ระยะเวลา 12 ปี เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยมาเชยชมระหว่างทาง และเงินก้อนอื่นๆ ที่ทยอยตั้งขึ้นมา ก็จะเอาไปลงทุนตาม

เมื่อได้ดอกเบี้ยระหว่างทางแบบนี้แล้ว ทำให้ในตัวอย่างนี้ เราไม่ต้องตั้งสำรองจ่ายปีละ 1 ล้านบาทก็ได้ เราอาจตั้งเพียงแค่ส่วนเดียว ในสมมติฐานของการลงทุนที่ได้ดอกเบี้ย ก็สามารถจ่ายหนี้ก้อนโตในอีก 12 ปีข้างหน้า มูลค่า 12 ล้านบาทได้เช่นกัน

ลองนึกตามกันต่อนะครับ

ถ้าหนี้ก้อนนี้เป็นเงินชดเชยยามเกษียณจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะถ้าพนักงานเกิดตายหรือลาออกไปก่อน ก็จะไม่ได้รับเงินก้อนนั้น บริษัทก็ไม่จำเป็นต้องตั้งหนี้สินให้กับคนที่รู้ว่าจะตายหรือลาออกก่อนถึงอายุเกษียณที่กำหนด ซึ่งก็หมายถึงว่าหนี้สินก้อนนั้นของบริษัทได้ถูกยกออกไปเสมือนหนึ่งว่าไม่มีหนี้สินมาก่อนเช่นกัน ถ้าคิดว่าโอกาสที่จะจ่ายหนี้ก้อนนั้นคือ 50% ก็หมายถึงแทนที่จะจ่ายหนี้สินอีก 12 ปีข้างหน้าถึง 12 ล้านบาท ซึ่งต้องเตรียมไว้จ่ายแค่ 6 ล้านบาท ก็น่าจะเพียงพอ

หนี้ก้อนที่คิดว่าจะถูกจ่ายออกไป จึงถูกลดทอนด้วยการคำนวณทางคณิตศาสตร์ประกันภัย โดยประมาณไปในอนาคตระยะยาว ทำให้ไม่ต้องตั้งสำรองเต็ม บริษัทจึงสามารถตั้งหนี้สินได้น้อยลงไปเยอะ

ทั้งนี้ กิจการที่มีส่วนได้เสียต่อสาธารณะ เช่น บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทมหาชน จะใช้มาตรฐานการบัญชีไทยฉบับที่ 19 (TAS19) เรื่องผลประโยชน์พนักงาน ที่ใช้หลักคณิตศาสตร์ประกันภัยในการคำนวณดังกล่าว เพื่อตั้งสำรองให้เหมาะสม

...ถึงจะซับซ้อนแต่ก็มีประโยชน์มากนะครับ...