posttoday

5 ขั้นตอนสร้างสวัสดิการหลังเกษียณ

20 สิงหาคม 2560

โดย...ณัฐ เลิศมงคล FINNOMENA Insight

โดย...ณัฐ เลิศมงคล FINNOMENA Insight

เกษียณ เป็นคำที่หนุ่มสาวหลายคนอยากให้มาถึงเร็วๆ เพราะเข้าใจว่า เมื่อเข้าวัยเกษียณจะไม่ต้องแบกรับภาระความเครียดต่างๆ จากการทำงานอีกต่อไป แต่กลับลืมไปว่า นอกจากภาระหน้าที่แล้ว รายได้และสวัสดิการต่างๆที่เคยได้รับก็จะหายไปพร้อมกัน หากเตรียมเงินไม่เพียงพอ ช่วงชีวิตหลังเกษียณอาจกลายเป็นช่วงที่ลำบากที่สุด และเพื่อไม่ให้เกิดความลำบากขึ้น ในวันนี้เราจะมาเตรียมตัวเกษียณเบื้องต้นแบบง่ายๆ ผ่าน 5 ขั้นตอนดังนี้

ขั้นแรก : ประเมินค่าใช้จ่ายวัยเกษียณ

ประเมินค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณ ทำได้ 2 วิธี คือ ประเมินจากรายได้ก่อนเกษียณ และประเมินจากรายจ่ายในปัจจุบัน ในครั้งนี้เราจะประเมินโดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน เช่น ปัจจุบัน ใช้จ่ายอยู่ประมาณเดือนละ 3 หมื่นบาท และหากอัตราเงินเฟ้อระยะยาวอยู่ที่ 3.5% ต่อปี จำนวนเงินที่เราจะใช้ในวัยเกษียณจะเป็นดังตาราง (1)

 

5 ขั้นตอนสร้างสวัสดิการหลังเกษียณ

จากตารางพบว่า หากในปัจจุบันท่านอายุ 30 ปีต้องการเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี และรูปแบบการใช้ชีวิตคล้ายปัจจุบัน ค่าใช้จ่าย 3 หมื่นบาท/เดือน จะกลายเป็น 70,897 บาท/เดือน

หมายเหตุ : ค่าใช้จ่ายในปัจจุบันไม่รวมภาระการผ่อนบ้าน เนื่องจากสมมติฐานในส่วนหนี้สินก้อนใหญ่จะผ่อนชำระหมดก่อนเกษียณ

ขั้นที่สอง : คำนวณเพื่อหาจำนวนเงินที่ต้องเตรียมพร้อมทั้งหมด

ในการประเมินว่าเราจะสามารถดื่มด่ำกับชีวิตหลังเกษียณไปได้นานหรือไม่คงต้องกลับไปย้อนดูบรรพบุรุษว่า ท่านมีอายุยืนยาวเท่าใด จากข้อมูลในปัจจุบันอายุเฉลี่ยคนไทยอยู่ที่ 72-78 ปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ดีขึ้น

ดังนั้น เพื่อประเมินทุนเกษียณอายุครั้งนี้คาดการณ์อายุขัยอยู่ที่ 80 ปี ทุนเกษียณอายุจะเป็นดังตาราง (2)

5 ขั้นตอนสร้างสวัสดิการหลังเกษียณ

จากตารางพบว่า ถ้าปัจจุบันอายุ 30 ปี วางแผนใช้เงินเดือนละ 3 หมื่นบาท ไปตลอดชีวิตหลังอายุ 55 ปีจนถึงอายุ 80 ปี ต้องเตรียมเงินเพื่อใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 18 ล้านบาท ในกรณีตัวอย่าง หากเราเป็นพนักงานบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินได้เมื่อเกษียณอายุเงินที่ต้องเตรียมจะน้อยกว่า 18 ล้านบาท เนื่องจากมีเงินจากทั้งสองส่วนมาช่วยบรรเทาภาระทุนเกษียณอายุแต่หากเราทำงานอิสระเป็นฟรีแลนซ์ ที่ไม่มีสวัสดิการดังกล่าว ก็คงต้องเตรียมเองทั้งหมด

ขั้นที่สาม : คำนวณจำนวนเงินที่ต้องนำไปลงทุนอย่างสม่ำเสมอ

ในการเตรียมเงิน 18 ล้านบาท หากใช้วิธีการฝากประจำวิธีเดียว คงต้องใช้เงินจำนวนมากในการฝากดังนั้นเราควรหาทางลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

จากตัวอย่าง หากเราสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ 5% ต่อปี ตลอดช่วงเวลาจากปัจจุบันจนเกษียณอายุ เราต้องเก็บเงินลงทุนอย่างต่อเนื่องประมาณเดือนละ 31,416 บาท เพื่อให้มีเงิน 18 ล้านบาท

ณ วันเกษียณ และหลังจากนั้นยังคงต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องให้ได้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 5% ต่อปี เงินที่เตรียมไว้จึงจะพอสำหรับใช้ตลอดช่วงเกษียณอายุจนถึง 80 ปี ตาราง (3)

 

5 ขั้นตอนสร้างสวัสดิการหลังเกษียณ

ขั้นที่สี่ : เตรียมเงินได้ประจำเป็นทุนเกษียณ

ในการเตรียมเงินค่าใช้จ่ายเป็นเงินก้อนใหญ่แล้ว เราควรเตรียมแผนสำรองที่เป็นแหล่งเงินได้ประจำต่างๆ เช่น เงินประกันสังคม (มาตรา 39) หรือกองทุนการออมแห่งชาติ หรือเงินได้จากประกันบำนาญ เพื่อเป็นแหล่งเงินฉุกเฉินในกรณีที่เราไม่สามารถทำการเก็บเงินและลงทุนได้ตามแผนที่วางไว้ อย่างน้อยก็ยังมีเงินได้ประจำเหล่านี้อยู่บ้าง

แต่ทว่าการเตรียมเงิน 18 ล้านบาท ยังไม่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ เนื่องจากเราคิดเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกินใช้ปกติในชีวิตประจำวัน ยังไม่รวมเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาล ท่องเที่ยวและอื่นๆ ซึ่งควรเตรียมความพร้อมเช่นกัน

ขั้นที่ห้า : เตรียมประกันสุขภาพ ค่ารักษาโรคร้ายแรงให้เพียงพอ

ในส่วนของประกันสุขภาพหลายท่านไม่อยากทำเนื่องจากปัจจุบันสุขภาพยังสมบูรณ์แข็งแรงจึงเห็นว่าเป็นการจ่ายเงินโดยสิ้นเปลือง แต่ถ้าเรารอจนสุขภาพมีปัญหา กรมธรรม์ก็จะไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนทำประกัน ดังนั้นหากเลือกที่จะไม่ทำประกันสุขภาพก็ควรเตรียมเก็บเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่หากใครไม่สามารถเตรียมเงินสำหรับทำประกันสุขภาพ แล้วเป็นโรคที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง อาจต้องพึ่งพาบริการจากรัฐ เช่น สวัสดิการประกันสังคม หรือใช้บัตรทอง เป็นต้น

นอกจากเรื่องเงินที่ต้องเตรียมพร้อมแล้ว เราควรเตรียมพร้อมสำหรับการใช้เวลาว่างหลังเกษียณให้เกิดประโยชน์ หาวิธีเปลี่ยนงานอดิเรกให้เป็นรายได้ หรือใช้เวลาว่างเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคมก็จะเป็นการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสมบูรณ์และมีคุณค่ามากขึ้น