posttoday

อัจฉริยะสองตรรกะ

14 กรกฎาคม 2560

โดย...อลงกฏ มโนรุ่งเรืองรัตน์

โดย...อลงกฏ มโนรุ่งเรืองรัตน์

เรามักจะได้ฟังเรื่องราวของบริษัทที่ประสบความสำเร็จมาว่า บริษัทเหล่านั้นมักจะมีจุดแข็งบางจุดที่สร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันขึ้นมาทำให้ประสบความสำเร็จได้ เช่น บริษัทนั้นอาจจะเป็นบริษัทที่เก่งมากเรื่องการลดต้นทุน บางบริษัทอาจจะมีความสามารถด้านการบริหารลูกค้า หรือบางบริษัทอาจจะมีศักยภาพในการออกสินค้าใหม่ๆ ที่โดนใจตลาดอย่างต่อเนื่อง

อาจจะทำให้หลายๆ คน รวมทั้งตัวผมด้วยเคยคิดไปว่าการที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องมุ่งมั่นทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้ดีมากๆ โดยไม่ต้องสนใจอีกอย่าง เช่น ถ้าลดต้นทุนเก่งก็ลดไปเลยให้ถูกๆ แล้วไม่ต้องสนใจคุณภาพ? หรือถ้าทำการตลาดเก่งมากก็ใช้แต่แคมเปญการตลาดหนักๆ โดยไม่ต้องสนใจเรื่องสินค้า? คำตอบก็คือใช่...

แต่ในยุคปัจจุบันการจะประสบความสำเร็จด้วยความสามารถด้านเดียวนั้นเป็นเรื่องยากมากและไม่มีความยั่งยืน ที่ผ่านมาเราจะเห็นบริษัทที่มีความเก่ง “ด้านเดียว” ประสบปัญหามากมาย บางรายก็ต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงจนถึงกับต้องปิดตัวลง

แม้หนังสือชื่อ Build to Last ของ Jim Collins จะถูกเขียนออกมานานกว่า 20 ปี แต่เนื้อหาในหนังสือยังถือว่าสามารถนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี Jim Collins ได้สรุปถึงประเด็นที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนเอาไว้หลายข้อด้วยกัน แต่มีอยู่ข้อหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นข้อที่สำคัญที่สุดสำหรับโลกในปัจจุบันนี้ นั่นก็คือการเป็นบริษัทที่มีความเก่งทั้งสองด้าน แม้สองด้านนั้นจะตรงกันข้ามกันอย่างสุดขั้ว บริษัทที่เป็น “อัจฉริยะสองตรรกะ”

แล้วบริษัทที่เป็นอัจฉริยะสองตรรกะคืออะไร?  บริษัทเหล่านี้คือบริษัทที่สามารถทำเรื่องสองเรื่องที่มีความตรงกันข้ามกันได้เป็นอย่างดี ZARA เก่งเรื่องการลดต้นทุนและความรวดเร็วในการออกสินค้า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ZARA มีความสามารถอย่างมากในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและโดนใจลูกค้าด้วย

องค์กรอย่าง BERKSHIRE HATHAWAY ของบัฟเฟตต์ อาจจะมีระบบการบริหารจัดการเป็นขั้นเป็นตอน แต่ก็สามารถตัดสินใจและตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว บริษัทอย่าง 3M ก็ตั้งมานานแล้ว ผลิตสินค้าที่ไม่ได้หวือหวาอะไรมาก แต่เราก็มักจะเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ โผล่มาจากบริษัทที่มีอายุร่วมร้อยปีนี้บ่อยๆ

กระเป๋าหรูชื่อดังอย่าง Hermes ที่มีจุดเด่นกับความเก่าแก่ยาวนาน แต่ก็ทำสินค้าและบริการที่ออกมาทันสมัยได้ บริษัทที่ยิ่งใหญ่มักจะทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกันได้ดีมากๆ บริษัทเหล่านี้มักจะไม่มีแนวคิดว่าถ้าศักยภาพที่มีคือ 100% จะต้องเอาไปใช้ในการลดต้นทุน 50% และผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ 50% อย่างละครึ่งๆ แต่จะเป็นการลดต้นทุน 100% และผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ 100% ด้วย!

มาถึงตรงนี้หลายๆ คนคงเริ่มคิดแล้วว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะโฟกัสในการทำสองอย่างที่เป็นคู่ตรงกันข้ามกันในเวลาเดียวกันให้ดีที่สุดเท่าๆ กัน ใช่ครับ นอกจากมันไม่ง่ายแล้วมันยังยากมากๆ จึงทำให้บริษัทใดก็ตามที่ทำสิ่งนี้สำเร็จจะเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้

บริษัทที่สามารถบรรลุถึงการเป็น “อัจฉริยะสองตรรกะ” ได้นั้นมีต้นกำเนิดจากวัฒนธรรมองค์กรที่มีความมุ่งมั่นในการที่จะทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อดั้งเดิมของคนทั่วไป นั่นก็คือความเชื่อที่ว่าบริษัทต้องโฟกัสในด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น หากทำ A ต้องไม่ทำ B บริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจะไม่เลือกทำแค่ A หรือ B หรือทำทั้ง A และ B แบบครึ่งๆ กลางๆ แต่จะหาวิธีที่จะทำให้ได้ทั้ง A และ B ไปพร้อมๆ กันอย่างเต็มที่

นอกจากเรื่องวัฒนธรรมและความมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้แล้ว แนวคิดของคนและผู้นำในองค์กรก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะสิ่งที่อยู่เบื้องหลังในการขับเคลื่อนบริษัทก็คือคนนั่นเอง บริษัทจะไม่สามารถเป็นบริษัท “อัจฉริยะสองตรรกะ” ได้เลยถ้าคนที่อยู่ในบริษัทไม่ได้มีแนวคิด หรือไม่เชื่อว่าการทำทั้งสองอย่างที่ตรงกันข้ามกันให้ดีได้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้

Key ของการเป็นอัจฉริยะสองตรรกะนั้นเริ่มต้นที่แนวคิดก่อน หลังจากนั้นค่อยๆ หาวิธีทำให้มันเกิดขึ้น เพราะมีแนวคิดและความเชื่อเป็นแรงผลักดันให้ทำในสิ่งที่เหมือนจะเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ สุดท้ายจึงทำให้ประสบความสำเร็จในที่สุด

ในฐานะของนักลงทุนผมมักจะมองหาบริษัทที่มีความเป็นอัจฉริยะสองตรรกะอยู่เสมอๆ เพราะแค่นี้ก็สามารถการันตีไปได้ระดับหนึ่งแล้วว่าบริษัทเหล่านี้ไม่ธรรมดาแน่ๆ