posttoday

ประกันสุขภาพ ป้องกันความเสี่ยงค่ารักษาที่แสนแพง

21 พฤษภาคม 2560

โดย...ศิวัตม์ สิงหสุตกร นักวางแผนการเงินและที่ปรึกษาด้านประกันอิสระ

โดย...ศิวัตม์ สิงหสุตกร นักวางแผนการเงินและที่ปรึกษาด้านประกันอิสระ

สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้งสำหรับบทความที่ 4 ของกระผม Insuranger ใน Insurance Corner ในเดือน พ.ค.ที่ฝนตกพรำๆ ชวนให้ป่วยเสียนี่กระไร ยังไงก็รักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ

พูดถึงเรื่องของสุขภาพและการเจ็บป่วยแล้ว หากเป็นเพียงการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ อย่างการเป็นหวัด เจ็บไข้ เจ็บคอทั่วๆ ไป ก็คงไม่ได้ทำให้เราเดือดร้อนมากเท่าไร ขอให้รักษาตัวดีๆ ทานยาอย่างสม่ำเสมอ ไม่นานก็คงหาย ค่ารักษาก็ไม่ได้แพงอะไรมาก แต่หากเราเกิดเจ็บป่วยหนัก ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุ จนต้องนอนโรงพยาบาล หรือจากโรคภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกโรคร้ายแรง อย่างเช่น โรคมะเร็ง หรือโรคหลอดเลือดอุดตันด้วยแล้ว ก็มีโอกาสที่ค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจะแพงมหาศาล จนทำให้บางคนเคยหมดเนื้อหมดตัวกับค่ารักษาพยาบาลมาแล้ว        

ซึ่งวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เราไม่ต้องเจอกับความเสี่ยงเรื่องค่ารักษาพยาบาลแสนแพงเหล่านี้ ก็คือ การทำ “ประกันสุขภาพ” เพื่อโอนความเสี่ยงเรื่องค่ารักษาไปให้กับบริษัทประกันแทน โดยที่เรารับผิดชอบเพียงแค่ค่าเบี้ยประกันรายปีเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วข้อดีอีกอย่างของการทำประกันสุขภาพ ก็คือ เราสามารถวางแผนบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้ เพราะเราสามารถทราบค่าเบี้ยประกันในแต่ละปีล่วงหน้า ว่าเราต้องจ่ายเท่าไร แต่หากเราไม่มีประกัน เราจะไม่รู้เลยว่า ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับเรา ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจะเป็นเท่าไร อาจจะน้อย หรือมากจนเราจ่ายไม่ไหว ทำให้เราไม่สามารถวางแผนจัดการได้ล่วงหน้าได้ การมีประกันสุขภาพจึงช่วยให้เราทั้งอุ่นใจทั้งเรื่องค่ารักษาและการจัดการเงินของตัวเองไปพร้อมๆ กัน

วันนี้ผมจึงขอมาให้คำปรึกษาใน 3 ประเด็นสำคัญ ที่คนมักอาจจะมีข้อสงสัยในการทำประกันสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจกันมากขึ้นนะครับ

1.เราจำเป็นต้องทำประกันสุขภาพกันทุกคนรึเปล่า?

ขอตอบว่า “ไม่จำเป็น” ครับ เพราะความเสี่ยงและต้นทุนในการจัดการความเสี่ยงของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน เนื่องจากการทำประกัน จะเหมาะกับความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดน้อย แต้ถ้าเกิดแล้วจะมีความเสียหายมาก และมีต้นทุนในการทำที่เหมาะสม หรือเบี้ยประกันไม่แพงจนเกินไป นั่นแหละครับ ถึงจะเหมาะที่จะทำประกันสุขภาพ

ดังนั้นสำหรับคนที่สุขภาพไม่ค่อยดีอยู่แล้ว หรืออายุมากๆ ถ้าหากจะทำประกันสุขภาพ ก็อาจจะต้องเจอค่าเบี้ยที่แพง มากๆ (เพราะความเสี่ยงสูง) จึงอาจจะไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมสำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูง และไม่มีกำลังจะจ่ายค่าเบี้ยได้มากนัก เราจึงต้องประเมินตัวเองก่อนครับ ว่าเรามีความเสี่ยงสูงรึเปล่า และจ่ายค่าเบี้ยไหวไหม ถ้าเราตอบตัวเองได้ว่าเรามีความเสี่ยงไม่สูง และสามารถจ่ายค่าเบี้ยได้โดยไม่เดือดร้อน และไม่เป็นภาระ ยังไงมีประกันไว้ ก็ย่อมดีกว่าไม่มีแน่นอน

2. มีสวัสดิการรักษาสุขภาพอยู่แล้ว (ประกันสังคม/สิทธิเบิกค่ารักษาของราชการ/ประกันกลุ่ม) ยังจำเป็นต้องทำประกันสุขภาพเองอีกไหม?

เช่นเดียวกัน ขอตอบว่า “ไม่จำเป็น” ครับ ขึ้นอยู่กับว่า ถ้าเราต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลแล้ว เราจะเลือกโรงพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายระดับไหน? ถ้าเราคิดว่า “แค่โรงพยาบาลรัฐก็พอแล้ว” แล้วเรามีสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐ (ประกันสังคม/สิทธิเบิกค่ารักษาของราชการ) อยู่ เราก็อาจจะไม่ต้องทำก็ได้ (แต่ก็ต้องยอมรับข้อจำกัดบางประการของโรงพยาบาลรัฐ และสวัสดิการรักษาของรัฐให้ได้) แต่ถ้าเราคิดว่า “ถ้ามีเหตุฉุกเฉินแล้วเข้าโรงพยาบาลเอกชนดีกว่า” แล้วสวัสดิการรักษาที่เรามีอยู่ไม่สามารถชดเชยค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนได้ หรือชดเชยได้ไม่เพียงพอ เราก็ควรจะทำเพิ่มให้เพียงพอถ้ามีกำลังทำไหวครับ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่เป็นตัวกำหนดเราว่าจะทำหรือไม่ทำ ก็คือ การประเมินว่าเราจะสามารถจ่ายค่าเบี้ยได้ในระยะยาวหรือไม่ นั่นแหละครับ

3.ประกันสุขภาพมีหลายตัว ควรจะต้องทำตัวไหนบ้าง และควรจะต้องทำเท่าไร

ประกันสุขภาพนั้นมีหลายแบบ ไม่ว่าจะแบบชดเชยค่ารักษาพยาบาล (HS) แบบจ่ายค่าชดเชยรายวัน (HB) แบบคุ้มครองหรือชดเชยเฉพาะกรณีอุบัติเหตุ แบบคุ้มครองโรคร้ายแรง (CI) หรือแบบคุ้มครองและโรคมะเร็งโดยเฉพาะ (CR) จะทำตัวไหนบ้าง สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับกำลังความสามารถในการจ่ายเบี้ยของเราเช่นเคย แต่ที่แน่ๆ โดยพื้นฐานแล้วก็ควรจะต้องทำแบบที่ชดเชยค่ารักษาพยาบาลเอาไว้ก่อน แล้วถ้ายังมีงบเหลือ เราก็ค่อยเพิ่มตัวอื่นเข้าไป ซึ่งอีกตัวที่สำคัญรองลงมา คงเป็นเรื่องของโรคร้ายแรง เพราะมีค่ารักษาพยาบาลที่สูง ดังนั้นถ้าทำได้ก็ควรทำเพิ่ม ส่วนตัวที่เป็นค่าชดเชยรายวันหรืออุบัติเหตุ ถ้ามีงบเหลืออาจจะค่อยทำเพิ่ม หรือไปเลือกทำประกันอุบัติเหตุ (PA) ที่ราคาไม่แพง แยกต่างหากอีกตัว ก็ได้เหมือนกันครับ

อย่างไรก็ตาม เวลาเลือกทำ ก็ให้เลือกแผนที่สอดคล้องกับค่ารักษาของโรงพยาบาลที่เราเลือก โดยเฉพาะค่าห้อง หรือค่ารักษาโรคร้ายแรง เช่น ถ้าโรงพยาบาลค่าห้อง 4,000 บาท ค่ารักษาโรคร้ายแรงประมาณ 1 ล้านบาท เราก็ควรทำแบบชดเชยค่ารักษาพยาบาลที่แผนค่าห้อง 4,000 บาท และทำแบบคุ้มครองโรคร้ายแรง ที่วงเงิน 1 ล้านบาท นั่นเองครับ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ค่าเบี้ยประกันที่เหมาะสม เบื้องต้นไม่ควรจะเกินประมาณ 10% ของรายได้ทั้งปี หรือประมาณเงินเดือนของเรา 1 เดือน โดยทั่วไปเป็นระดับที่เราน่าจะพอทำไหวครับ เช่น ถ้าเรามีเงินเดือน 3 หมื่นบาท คิดง่ายๆ ก็คือ เราไม่ควรจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพรวมกันเกิน 3 หมื่นบาท/ปี เพื่อไม่ให้เป็นภาระเกินไปครับ

เป็นยังไงบ้างครับ หวังว่าทุกคนคงจะเข้าใจข้อดีของการทำประกันสุขภาพ และวิธีการประเมินตัวเอง ว่าเราควรจะต้องทำประกันสุขภาพไหม? ถ้าต้องทำควรทำอะไร และควรทำเท่าไรถึงจะเหมาะสม มากขึ้นแล้วนะครับ แล้วพบกันใหม่เดือนหน้า กับเรื่องราวของการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินได้อย่างเหมาะสม ที่ Insurance Corner แห่งนี้นะครับ แล้วพบกันใหม่เดือนหน้าครับผม