posttoday

"เฮดจ์ฟันด์"การลงทุนรูปแบบใหม่

16 พฤษภาคม 2560

โดย...พูลศรี เจริญ

โดย...พูลศรี เจริญ

นักลงทุนบ้านเราส่วนใหญ่มักจะคุ้นเคยกับการลงทุนในเงินฝากธนาคาร พันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมผสม หรือกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกประเภทอื่นๆ เช่น ทองคำ น้ำมัน โครงสร้างพื้นฐาน หรือทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดยผู้จัดการกองทุนจะมีการจัดสรรเงินลงทุนผ่านสินทรัพย์พื้นฐานต่างๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว

จริงๆ แล้วในโลกแห่งการลงทุนมีกองทุนเฮดจ์ฟันด์ (Hedged Fund) ซึ่งเป็นกองทุนอีกประเภทหนึ่งที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างผลกำไรในทุกสภาวะตลาดผ่านการบริหารของผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญในเครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อนขึ้น สำหรับนักลงทุนที่มีความมั่งคั่งสูงมาก (Ultra High Net Worth) และสามารถยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ในระดับค่อนข้างสูง

ในอดีตกองทุนรวมในไทยไม่สามารถลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมประเภทเฮดจ์ฟันด์ได้ เพราะมีความซับซ้อนของการลงทุนและมีสภาพคล่องค่อนข้างต่ำ

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดประตูบานนี้แล้วด้วยการออกหลักเกณฑ์มารองรับ พร้อมปรับเกณฑ์เปิดทางเฮดจ์ฟันด์เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ

ข้อมูลจาก ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ได้ปรับเกณฑ์ด้านกองทุนรวมเพื่ออนุญาตให้มีการเสนอขายเฮดจ์ฟันด์ต่อผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ มุ่งเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงได้ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการไทย

ขณะที่ ก.ล.ต.มีเกณฑ์กำกับดูแลการขายที่เคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนเข้าใจลักษณะและความเสี่ยงซึ่งอยู่ในระดับสูงอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน โดยเปิดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนสามารถออกและเสนอขายกองทุนรวมประเภทเฮดจ์ฟันด์ ซึ่งสามารถลงทุนในทรัพย์สินทางการเงินและทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกประเภท โดยไม่มีข้อจำกัดอัตราส่วนการลงทุน

เนื่องจากกองทุนรวมเฮดจ์ฟันด์จะมีความเสี่ยงและความซับซ้อนสูงในขณะที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น จึงเปิดให้เฉพาะผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนประเภทรายใหญ่พิเศษเท่านั้นที่สามารถลงทุนได้

เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครองในระดับที่เหมาะสม ก.ล.ต.จึงปรับข้อกำหนดเกี่ยวกับการขายกองทุนรวมเฮดจ์ฟันด์ให้เคร่งครัดขึ้น โดยบริษัทจัดการต้องอธิบายให้ผู้ลงทุนทราบถึงลักษณะและความเสี่ยงของกองทุนรวมประเภทนี้อย่างละเอียด ให้ข้อมูลผลกระทบจากเหตุการณ์เชิงลบอย่างมากที่สุดต่อการลงทุน (Worst Case Scenario)

นอกจากนี้ บริษัทจัดการจะต้องระบุข้อความ “เฮดจ์ฟันด์” หรือ “Hedge Fund” ไว้ในชื่อกองทุน และเขียนต่อท้ายชื่อกองทุนว่า “ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย” ด้วย

ขณะเดียวกัน ก.ล.ต.ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การลงทุนสำหรับกองทุนส่วนบุคคล หรือไพรเวทฟันด์ โดยกำหนดให้ไพรเวทฟันด์สามารถลงทุนในทรัพย์สินทางการเงินและทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกประเภทโดยไม่มีข้อจำกัดด้านอัตราส่วนการลงทุน และให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุนที่ตกลงกับลูกค้า โดยบริษัทจัดการจะต้องจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของลูกค้า และบริหารจัดการความเสี่ยงให้สอดคล้องกับข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้า

ข้อกำหนดการตั้งชื่อกองทุนรวมเฮดจ์ฟันด์ในเอกสารเผยแพร่ต่างๆ ก.ล.ต.ให้มีผลเริ่มใช้บังคับตั้งแต่ 1 เม.ย. 2560 เป็นต้นไป สำหรับหลักเกณฑ์อื่นข้างต้นมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา

เหตผลที่ ก.ล.ต.ได้เปิดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนสามารถเสนอขายเฮดจ์ฟันด์ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนกลุ่มสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษซึ่งมีศักยภาพในการรับความเสี่ยงสูง เพื่อทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินในระดับที่แข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยยังคงมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสมเทียบเคียงได้กับสากล และห้ามไม่ให้เสนอขายแก่ผู้ลงทุนรายย่อย

มาทำความรู้จักเฮดจ์ฟันด์ ผ่านการให้ข้อมูลของฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย ที่อธิบายว่า เฮดจ์ฟันด์เป็นการลงทุนทางเลือกรูปแบบหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหาผลกำไรให้กับนักลงทุนผ่านการลงทุนในเครื่องมือทางการเงินที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นกว่าการลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ทั่วไป

ส่วนเรื่องการลงทุน กองทุนเฮดจ์ฟันด์มีกลยุทธ์ในการลงทุนที่หลากหลาย อาทิ กลยุทธ์ที่ต้องการกำจัดความเสี่ยงของตลาดหุ้น (Market Neutral) ที่มุ่งเน้นสร้างผลการดำเนินงานในทุกสภาวะตลาด ซึ่งผลตอบแทนจะได้มาจากการคัดเลือกหุ้นที่จะลงทุนในพอร์ตโฟลิโอ และหุ้นที่จะขายชอร์ต (Short Selling Position)

ทั้งนี้ กองทุนหุ้นแบบดั้งเดิมที่บริหารแบบเชิงรุกนั้น จะใช้กลยุทธ์การลงทุนที่ผู้จัดการกองทุนคัดเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานดีและคาดว่าราคาจะปรับตัวขึ้น โดยจะไม่มีการขายชอร์ต

ประโยชน์ที่สำคัญสำหรับการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมประเภทเฮดจ์ฟันด์ คือความสามารถในการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตโฟลิโอของนักลงทุน เนื่องจากมีค่าความสัมพันธ์ (Correlation) กับตลาดหุ้นต่ำ โดยค่าความสัมพันธ์ย้อนหลัง 1 ปี ระหว่างดัชนี HFRX Absolute Return ซึ่งใช้ชี้วัดผลการดำเนินงานของเฮดจ์ฟันด์ทั้งหมด กับดัชนีหุ้นสหรัฐ (S&P 500 Index) และดัชนีหุ้นไทย (SET Index) อยู่ในระดับ 0.4 ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ