posttoday

ภาษีออนไลน์... รีดมากแค่ไหน ยังเจ็บไม่เท่ามนุษย์เงินเดือน

17 มีนาคม 2560

โดย...พรี่หนอมสอนภาษี TAXBugnoms

โดย...พรี่หนอมสอนภาษี TAXBugnoms

รัฐมุ่งเป้ารีดภาษีออนไลน์ธุรกิจ E-Commerceให้จ่ายภาษี!!!” ช่วงนี้ใครหลายคนคงได้อ่านหัวข้อข่าวนี้อยู่บ่อยๆ พร้อมกับคิดในใจว่า อะไรกันนนนนน!!! มันเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต ทำไมรัฐถึงต้องมาบังคับให้เราจ่ายภาษีกันขนาดนี้ และทำไมชีวิตของคนขายของต้องมีปัญหาขนาดนั้นด้วย!!! ไม่นะะะะ

หยุดความคิดนั้นไว้สักครู่ครับ เพราะคอลัมน์ “พรี่หนอมสอนภาษี” จะมาอธิบายเรื่องการจ่ายภาษีสำหรับธุรกิจออนไลน์ ซึ่งเคยเขียนไว้หลายต่อหลายครั้งในเพจ TAXBugnoms(www.facebook.com/TAXBugnoms) แต่วันนี้พิเศษกว่านั้น เพราะว่าจะมาเปรียบเทียบกันกับภาษีที่มนุษย์เงินเดือนต้องเสียให้ดูกันจะจะไปเลยครับผม

โดยปกติแล้ว คนที่ทำธุรกิจขายของออนไลน์ธุรกิจ E-Commerce หรือมีรายได้จากการขายของนั้น ขอย้ำไว้ตรงนี้เลยครับว่า ธุรกิจประเภทนี้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ทั้งภาษีเงินได้และอาจจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีที่ยอดรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี อีกด้วย

การเสียภาษีของธุรกิจประเภทนี้จะมีวิธีการคำนวณที่ชัดเจนครับ อย่างเช่น กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นกฎหมายได้กำหนดให้หักค่าใช้จ่ายเหมาได้ในอัตรา 60% หรือเลือกหักตามความจำเป็นและสมควร และคำนวณหักค่าลดหย่อนอื่นๆ ตามหลักการคำนวณภาษีตามปกตินี่แหละครับ

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา = (เงินได้-ค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

เก็บภาษีแบบนี้มันแฟร์ รังแกคนทำมาหากิน???

ทีนี้เราลองมาเปรียบเทียบกันดูต่อครับ สำหรับคนที่คิดว่าการเสียภาษีนั้นมันไม่แฟร์ รังแกคนทำมาหากิน เศรษฐกิจแย่ จะตายอยู่แล้ว ผมเลยลองยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับอาชีพมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย ผู้ที่มีรายได้จากการทำงาน และต้องจ่ายภาษีทุกปีในระบบอย่างสม่ำเสมอมาให้เห็นกันจะจะครับว่าเป็นอย่างไร

ภาษีมนุษย์เงินเดือน VS ขายของออนไลน์

สมมติฐานของผมคือ เปรียบเทียบกันระหว่างข้อมูลของผู้มีรายได้ 3 ช่วง คือ 1 แสนบาท 2 แสนบาท และ 3 แสนบาท/เดือน และลองมาคำนวณเปรียบเทียบกันระหว่างอาชีพมนุษย์เงินเดือนและขายของออนไลน์ เพื่อที่จะได้เห็นชัดๆ ว่าใครเสียภาษีแพงกว่าและเรามองเห็นอะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้น

โดยขั้นตอนการคำนวณและข้อมูลที่นำมาเปรียบเทียบตามกราฟฟิกครับ

1.คำนวณภาษีจากอัตราค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามอัตราใหม่ในปี 2560 โดยแบ่งแยกตามอาชีพนั่นคือ มนุษย์เงินเดือนจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดคือ 50% ของรายได้แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนการขายของออนไลน์จะสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายตามอัตราเหมาได้สูงสุดที่ 60% ส่วนค่าลดหย่อนนั้นให้สามารถหักได้เฉพาะค่าลดหย่อนส่วนตัวเท่ากันคือ 6 หมื่นบาท

2.นำเงินได้สุทธิที่คำนวณได้มาคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายตามอัตราภาษีตั้งแต่ 5-35% เพื่อเปรียบเทียบถึงความแตกต่างของภาษีเงินได้ที่แตกต่างกันในแต่ละอาชีพ แม้ว่าจะมีเงินได้เท่ากัน

3.คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรณีขายของออนไลน์ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมียอดขายเกินกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี โดยเพิ่มสมมติฐานว่าคิด 7%จากยอดขายและไม่สามารถนำภาษีซื้อจากต้นทุนมาหักได้แม้แต่บาทเดียว (เสียภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย) ในขณะที่รายได้ของมนุษย์เงินเดือนได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้วจึงไม่ต้องนำมาคำนวณ

4.เปรียบเทียบภาษีทั้งหมดที่ต้องเสียระหว่างอาชีพมนุษย์เงินเดือนและค้าขายออนไลน์ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร

จากวิธีการคำนวณตามสมมติฐานข้างต้นจะเห็นว่าในทุกๆ กรณีนั้นมนุษย์เงินเดือนจะเสียภาษีมากกว่าขายของออนไลน์เสมอ ถึงแม้ว่าจะนำภาษีมูลค่าเพิ่มมารวมก็ตาม

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสะท้อนให้เห็นว่าจริงๆ แล้วการทำธุรกิจนั้นมีข้อได้เปรียบทางด้านภาษีมากกว่ามนุษย์เงินเดือนผู้ที่อยู่ในระบบและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกทั้งเจ้าของธุรกิจสามารถเลือกเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบของนิติบุคคลที่เสียภาษีในอัตราที่ต่ำลงได้อีกด้วย

สรุป

เรื่องราวทั้งหมดนี้ ผมตั้งใจเขียนขึ้นมาเพื่อสะท้อนให้เห็นครับว่า การเสียภาษีนั้นเป็นหน้าที่ของคนทุกคนไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ซึ่งธุรกิจบางประเภทที่ยังไม่เสียภาษีนั้นอาจเกิดความเข้าใจผิดว่าตัวเองกำลังเสียเปรียบ แต่ความเป็นจริงแล้วยังมีอาชีพอีกหลายๆ อาชีพที่เสียภาษีเยอะกว่าและหาช่องทางในการวางแผนภาษีได้ยากกว่าเสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ต้องแยกพิจารณาในเรื่องของการบริหารจัดการเงินภาษีของภาครัฐในเรื่องของนโยบายต่างๆ ของผู้ที่มีหน้าที่จัดการบริหารภาษี เพราะเรากำลังพูดถึง “หน้าที่ตามกฎหมาย” ของคนไทยทุกคนอยู่ครับ #ประเด็นอื่นไม่กล้าวิจารณ์ครับ #กลัวนะไม่ใช่ไม่กลัว

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เจ้าของธุรกิจขายของออนไลน์ทุกคนควรทำคือ การปรับตัวเพื่อศึกษาหาความรู้ในเรื่องภาษีมากขึ้นไปจนถึงการวางแผนจัดการต่างๆ มากกว่าที่จะพยายามหาช่องทางที่จะไม่เสียภาษีเหมือนเมื่อก่อน เพราะนโยบายต่างๆ และแนวโน้มที่เราเห็นนั้นกำลังผลักดันให้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคใหม่ของการเสียภาษี

...และเราทุกคนทำได้แค่ยอมรับมัน