posttoday

มรดก ตกมาพร้อมหน้าที่ ไม่จ่ายภาษีให้จบ... สลบแน่

10 ธันวาคม 2559

อยู่ดีๆ ก็เหมือนมีฟ้าผ่า เจ้าคุณป้าจากไปไม่มีวันกลับ แต่ก่อนลาลับท่านใจดีมีพินัยกรรมยกที่ดินแปลงใหญ่

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์ [email protected]

อยู่ดีๆ ก็เหมือนมีฟ้าผ่า เจ้าคุณป้าจากไปไม่มีวันกลับ แต่ก่อนลาลับท่านใจดีมีพินัยกรรมยกที่ดินแปลงใหญ่ไกลเมืองให้เป็นมรดก ยาจกอย่างเราแสนจะดีใจ แต่สุดท้ายกลุ้มใจ เพราะไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาจ่ายภาษี

ในกรณีแบบนี้ มรดก อาจจะกลับกลายเป็นทุกขลาภ เพราะ “เจ้ามรดก” ไม่ได้วางแผนภาษีมรดกมาให้ด้วย ทำให้ผู้รับมรดก ไม่ว่าจะเป็น “ทายาทโดยธรรม” หรือ “ผู้รับพินัยกรรม” ต้องมีหน้าที่เสียภาษีให้ถูกต้อง ครบถ้วน ภายในเวลาที่กำหนด ไม่อย่างนั้นอาจจะเจอทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม แถมอาจจะโดนทั้งจำทั้งปรับถ้าพยายามจะเลี่ยงภาษี

มรดกก้อนนี้ มีภาษีรออยู่

ทันทีที่ได้รับมรดกต้องรีบประเมินมูลค่าว่า ได้มาเกิน 100 ล้านบาท หรือไม่ ถ้าเป็นเงินสด เงินฝาก ก็ไม่ยุ่งยากอะไร เพราะมีมูลค่าที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ เป็นหุ้น หรือเป็นยานพาหนะ ต้องประเมินมูลค่าตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เช่น

มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ จะใช้ราคาประเมิน แต่ถ้าเป็นหุ้นในตลาด หลักทรัพย์จะใช้ราคาปิดของวันที่ได้รับมรดก แต่ถ้าเป็นรถยนต์ก็จะใช้ราคาตลาดในขณะที่ได้รับมรดก

ไม่ว่าจะรับมากี่ครั้ง กี่คราว ก็จะต้องนำมานับรวมกัน จากนั้นก็หักด้วยภาระหนี้สินที่ตกทอดมาจากการรับมรดก หลังจากหักกลบลบหนี้แล้ว ถ้าได้รับมาเกิน 100 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีการรับมรดก

ถ้าผู้รับมรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดาน ของเจ้ามรดกก็จะเสียภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่ามรดกสุทธิที่เกิน 100 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นคนอื่นจะต้องเสียภาษีในอัตรา 10% ของมูลค่ามรดกสุทธิที่เกิน 100 ล้านบาท

และไม่ว่าผู้รับมรดกจะเป็นใคร เสียภาษีในอัตราเท่าไร สิ่งที่ต้องทำเหมือนกัน คือ มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก (ภ.ม.60) และชำระภาษีภายใน 150 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับมรดกที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท

มรดก ตกมาพร้อมหน้าที่ ไม่จ่ายภาษีให้จบ... สลบแน่

 

ยื่นภายในเวลา จ่ายครบ

การยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งหรือยากอะไร เพราะแค่เข้าไปในเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (www.rd.go.th) แล้วคลิกเลือกเมนู Download >> แบบแสดงรายการภาษี >> ภาษีการรับมรดก

ในหน้านั้นจะมี “แบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก ตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558” หรือ ภ.ม.60 พร้อมกับการแนะนำวิธีกรอกแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก

จากนั้นก็ดาวน์โหลดออกมากรอกรายละเอียดตามคำแนะนำ แล้วก็นำไปยื่นและชำระภาษีให้ครบถ้วน ที่สำนักงานสรรพากรที่ไหนก็ได้ภายใน 150 วัน เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อย

ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินที่จะตรวจสอบและประเมินภาษีภายใน 1 ปี และสามารถขยายเวลาไปได้ แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 3 ปี

ยื่นภายในเวลา จ่ายเกิน

แต่ถ้ายื่นแบบและชำระภาษีไปแล้ว มารู้ตัวทีหลังว่า จ่ายภาษีเกินกว่าที่ต้องเสีย หรือจริงๆ แล้วไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะสามารถไปขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินได้ภายใน 5 ปี นับแต่วันชำระภาษีทั้งหมด โดยต้องไปยื่นคำร้องขอคืนภาษีการรับมรดก (ค.10) ที่สำนักงานสรรพากร

แต่ต้องไม่ลืมนำเอกสารพวกนี้ติดตัวไปด้วย ได้แก่

1.ใบเสร็จรับเงินภาษีการรับมรดก

2.หลักฐานแสดงการเสียภาษีการรับมรดกไว้เกิน

3.หลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ขอคืน

มรดก ตกมาพร้อมหน้าที่ ไม่จ่ายภาษีให้จบ... สลบแน่

 

ยื่นภายในเวลา จ่ายไม่ครบ

หลังจากยื่นและชำระภาษีไปเรียบ ร้อยแล้ว อาจจะต้องเผื่อใจไว้สักหน่อย เพราะหากเจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบและประเมินภาษีแล้วพบว่าเราจ่ายภาษีไม่ครบ ก็ต้องไปเสียเพิ่มให้ครบถ้วน โดยต้องไปจ่ายให้เรียบร้อยภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับใบแจ้ง

เมื่อชำระเพิ่มภายในเวลาที่กำหนดจนครบถ้วน ทีนี้ก็สบายใจได้แล้ว

แต่ถ้าเป็นกรณีที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ครบถ้วน หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง จนทำให้จำนวนภาษีที่ต้องชำระขาดไป จะต้องเสียเบี้ยปรับอีก 0.50 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ

นอกจากนี้ ถ้าไม่ชำระภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลา จะเสียเงินเพิ่มอีก 1.50% ต่อเดือน โดยไม่รวมเบี้ยปรับ

ทั้งนี้ การคำนวณเงินเพิ่ม ให้เริ่มนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการจนถึงวันที่ยื่นแบบและชำระภาษี แต่เงินเพิ่มที่คำนวณไม่ให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระ

ยื่นภายในเวลา ขอผ่อนชำระได้

ถ้ามรดกที่ได้มาเป็นเงินสด หรืออะไรที่เปลี่ยนเป็นเงินได้ง่ายๆ ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะได้มาเปล่าๆ ตั้งมากมาย (เกิน 100 ล้านบาท) ภาษีเพียงแค่ 5% หรือ 10% ไม่ได้ทำให้ขนหน้าแข้งร่วง

แต่มันจะเป็นปัญหาทันที ถ้ามรดกที่ได้มาเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ยาก เช่น “ที่ดินเปล่าแปลงใหญ่ไกลเมือง” หรือ แม้แต่บ้านหลังไม่ใหญ่ใจกลางเมือง ซึ่งอาจจะได้ราคาประเมินสูงลิบ แต่ไม่คิดจะขาย หรือถ้าอยากจะขายก็คงไม่ง่ายทำไม่ได้ภายในเวลา 150 วัน

กรณีแบบนี้ กฎหมายมีทางออก เปิดโอกาสให้ผ่อนชำระภาษีได้ โดยให้เวลาผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี

ถ้าต้องการผ่อนชำระ ต้องยื่นเรื่องไปพร้อมกับตอนยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายใน 150 วัน โดยมีหลักการ ดังนี้

1.ถ้าขอผ่อนชำระภาษี ภายใน 2 ปี จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม สำหรับเงินเพิ่มที่อาจคำนวณได้ตลอดระยะเวลาการผ่อนชำระภาษีนั้น

2.ถ้าขอผ่อนชำระนานกว่า 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี จะเสียเงินเพิ่ม 0.50% ต่อเดือน

3.จะต้องกำหนดจำนวนงวดที่จะผ่อนชำระภาษีในแต่ละปี โดยอาจจะเป็นงวดรายเดือน ราย 3 เดือน ราย 6 เดือน หรือราย 12 เดือน ก็ได้ แต่จำนวนเงินที่ผ่อนในแต่ละงวดจะต้องเท่ากัน โดยเฉลี่ยจากจำนวนที่จะผ่อนชำระภาษีในแต่ละปี

4.ต้องมีหลักประกันการผ่อนชำระภาษี โดยหลักประกันนั้นจะต้องไม่มีภาระผูกพันและมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าภาษีที่ต้องชำระ ซึ่งอาจจะเป็น...

- หนังสือค้ำประกันของสถาบันการเงินภายในประเทศ โดยให้ส่งมอบหนังสือค้ำประกันต่อกรมสรรพากร

- ที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของผู้ผ่อนชำระภาษี หรือของบุคคลอื่นโดยจดทะเบียนจำนองไว้ต่อกรมสรรพากร

- กรรมสิทธิ์ห้องชุดในอาคารชุดของผู้ผ่อนชำระภาษีหรือของบุคคลอื่น โดยจดทะเบียนจำนองไว้ต่อกรมสรรพากร

- พันธบัตรรัฐบาลของผู้ผ่อนชำระภาษี หรือของบุคคลอื่น โดยทำสัญญาจำนำไว้ต่อกรมสรรพากร

ไม่ว่าจะใช้อะไรเป็นหลักประกันก็ต้องจัดการให้เรียบร้อยภายใน 30 วันนับแต่วันที่ยื่นคำร้อง ซึ่งหากไม่มีหลักประกันครบถ้วนตามที่แจ้งไว้ภายในกำหนดเวลา จะหมดสิทธิผ่อนชำระภาษี

5.เมื่อขอผ่อนชำระไปแล้ว จะให้หมดก่อนเวลาที่ขอไว้ก็ได้

6.แต่หากผิดนัดชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่ง จะถือว่าหมดสิทธิการผ่อนชำระภาษีทันที และต้องชำระภาษีที่ค้างอยู่ทั้งหมดพร้อมเงินเพิ่ม

7.กรณีห้ามผ่อนชำระภาษี หากพบว่ามูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษีขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 หรือพบว่ามีรายการที่ผู้ยื่นมิได้แสดงไว้ในแบบแสดงรายการภาษีหรือแสดงไว้เป็นเท็จ

มรดก ตกมาพร้อมหน้าที่ ไม่จ่ายภาษีให้จบ... สลบแน่

 

ไม่ยื่นภายในกำหนด

ถ้ามัวแต่ตื่นเต้นกับมรดกที่ได้จนเลยเวลา 150 วันไปแล้ว ถึงจะไปยื่นแบบและชำระภาษี จะต้องเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ แถมด้วยเพิ่มอีก 1.50% ต่อเดือน โดยเงินเพิ่มจะเริ่มนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการจนถึงวันที่ยื่นแบบและชำระภาษี แต่ไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระ

นอกจากนี้ ถ้าผู้รับมรดกที่มีหน้าที่เสียภาษีตายไปก่อนครบกำหนดเวลายื่นแบบ แต่ยังไม่ได้ยื่นแบบ ให้ผู้จัดการมรดกทำหน้าที่ยื่นแบบและชำระภาษี พร้อมเงินเพิ่ม 1.50% ต่อเดือน ภายใน 150 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ

หากผู้รับมรดกที่มีหน้าที่เสียภาษีตายเมื่อครบกำหนดเวลา และยังไม่ได้ยื่นแบบ ให้ผู้จัดการมรดกยื่นแบบและชำระภาษี พร้อมทั้งเงินเพิ่ม 1.50% ต่อเดือน ภายใน 150 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก โดยเสียเบี้ยปรับ 1 เท่า ของเงินภาษีที่ต้องชำระ

แต่ถ้าผู้จัดการมรดกมายื่นหลังจาก 150 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก จะต้องชำระภาษี พร้อมทั้งเงินเพิ่ม 1.50% ต่อเดือน และเสียเบี้ยปรับ 2 เท่า ของเงินภาษีที่ต้องชำระ

ไม่รู้ไม่สน จะโดนแน่

เจอแบบนี้ หลายคนเลยตั้งคำถามว่า “หนีภาษี” ดีกว่าไหม บอกได้เลยว่า อย่าคิดหนีจะดีกว่า เพราะในกฎหมายมีบทกำหนดโทษสำหรับบุคคลธรรมดาเอาไว้ด้วยว่า

1.หากไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ม.60) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท

2.หากไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานประเมิน หรือของประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.หากทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึด หรืออายัด ให้แก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 4 แสนบาท

4.หากจงใจยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรือให้ความเท็จ โดยเจตนาละเลย โดยฉ้อโกงหรือใช้อุบาย โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรือแนะนำหรือสนับสนุนให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายใน 150 วันนับแต่วันที่รับมรดก โดย “ไม่มีเหตุอันควร” นอกจากจะต้องเสียเบี้ยปรับ 1 เท่า พร้อมกับเงินเพิ่มอีก 1.50% ต่อเดือนแล้ว ยังมีโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งกรมสรรพากรมีเวลาในการประเมินถึง 10 ปี

ไม่เห็นด้วย ทักท้วงได้

หลังจากเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีไปแล้ว หากเราไม่เห็นด้วยก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษี (ใช้แบบคำอุทธรณ์ ภ.ม.6) ยื่นคณะกรรมการอุทธรณ์ ที่สำนักอุทธรณ์ภาษี กรมสรรพากร หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่

จากนั้นคณะกรรมการอุทธรณ์ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ (ขยายไปได้อีกไม่เกิน 90 วัน) และแจ้งผลให้รู้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย แต่ถ้ายังไม่เห็นด้วยอีกก็ฟ้องต่อศาลภาษีอากรภายใน 180 วันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัย

แต่ทั้งหมดนี้ต้องเริ่มจากการยื่นและชำระภาษีภายในกำหนด