posttoday

ประกันสังคมกรณีชราภาพ ยอมจบที่บำเหน็จ หรือ ส่งต่อจนได้บำนาญ

08 ตุลาคม 2559

หลังจากเป็น “ผู้ประกันตน” ส่งเงินสมทบเข้า “กองทุนประกันสังคม” มานานแสนนาน จนเกือบจะครบ 180 เดือน ตามเกณฑ์ที่จะได้รับบำนาญชราอยู่แล้ว แต่ถ้ายังครบ 180 เดือน ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับบำเหน็จชราภาพ

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์

หลังจากเป็น “ผู้ประกันตน” ส่งเงินสมทบเข้า “กองทุนประกันสังคม” มานานแสนนาน จนเกือบจะครบ 180 เดือน ตามเกณฑ์ที่จะได้รับบำนาญชราอยู่แล้ว แต่ถ้ายังครบ 180 เดือน ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับบำเหน็จชราภาพ

เลยลองคิดเล่นๆ ว่า หรือเราจะลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน เพื่อคงสิทธิรับบำเหน็จตอนอายุ 55 ปี จะดีกว่าไหม เพราะได้เงินก้อน และไม่ต้องลุ้นด้วยว่า ประกันสังคมจะมีเงินจ่ายบำนาญให้เราไปจนตายหรือไม่

เพราะอีกหน่อยถ้าผู้ประกันตนเกษียณอายุมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วทุกคนเลือกรับบำนาญเหมือนกัน แต่คนทำงานที่จะส่งเงินเข้ากองทุนกลับมีน้อยลง เงินในกองทุนอาจจะร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ ก็ได้... ใครจะไปรู้

ประกันสังคมกรณีชราภาพ

ประกันสังคมกรณีชราภาพ ยอมจบที่บำเหน็จ หรือ ส่งต่อจนได้บำนาญ  
คลิกเพื่อดูภาพใหญ่

ก่อนจะไปตัดสินใจเลือก “บำเหน็จ” หรือ “บำนาญ” หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ถ้าเราเป็นผู้ประกันตนภาคบังคับ (มาตรา 33) หรือลูกจ้างอย่างเราๆ ที่ทุกเดือนจะถูกหักเงิน 5% ของค่าจ้างไปสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม โดยกำหนดฐานค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่ 1,650 บาท และสูงสุดอยู่ที่ 1.5 หมื่นบาท แปลว่า ต่อให้เราเงินเดือนมากกว่า 1.5 หมื่นบาท ก็จะถูกหักเงินสมทบกองทุนเพียงเดือนละ 750 บาท

เงิน 750 บาท ไม่ได้หายไปไหน แต่จะถูกกระจายไปสมทบไว้เป็น “สิทธิประโยชน์” ในแต่ละกรณี

โดย 1.5% ของค่าจ้าง หรือสูงสุด 225 บาท จะเก็บไว้สำหรับกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย+กรณีคลอดบุตร+กรณีทุพพลภาพ+กรณีเสียชีวิต

อีก 0.5% ของค่าจ้าง หรือสูงสุด 75 บาท จะเก็บไว้สำหรับกรณีว่างงาน

ขณะที่ 3% ของค่าจ้าง หรือสูงสุด 450 บาท จะเก็บไว้สำหรับกรณีชราภาพ

และนอกจากเงินที่ลูกจ้างสมทบให้แล้ว นายจ้างสมทบยังช่วยสมทบให้อีกเท่าตัว นอกจากนี้บางกรณีรัฐบาลยังร่วมสมทบให้อีกแรง (ยกเว้นกรณีชราภาพ)

สำหรับกรณีชราภาพเริ่มมีการสมทบมาตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2541 ทำให้ในแต่ละเดือน เราจะมีเงินเก็บไว้ใช้ในกรณีชราภาพสูงสุด 900 บาท โดยเป็นส่วนของลูกจ้าง 450 บาท และนายจ้าง 450 บาท ซึ่งเงินส่วนนี้จะกลายมาเป็นบำเหน็จ หรือบำนาญ แล้วแต่ว่าเราเข้าเงื่อนไขด้านไหน

บำเหน็จ... หลักแสน

ถ้าจะให้ได้ “บำเหน็จชราภาพ” ต้องเข้าเงื่อนไข 3 ข้อนี้ คือ

- จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน

- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

- มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย

แม้จะได้เข้าเงื่อนไขนี้แล้ว แต่ก็อาจจะได้บำเหน็จไม่เท่ากัน เพราะการจ่ายจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

1.จ่ายเงินสมทบมาไม่ถึง 12 เดือน จะได้บำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุน

เช่น ถ้าเงินเดือน 1.5 หมื่นบาท และส่งเงินสมทบกรณีชราภาพเดือนละ 450 บาท มาเพียง 11 เดือน จะได้เงินบำเหน็จเท่ากับ 450 บาท คูณกับ 11 เดือน เท่ากับเงินบำเหน็จ 4,950 บาท

2.จ่ายเงินสมทบ ตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป (แต่ไม่ถึง 180 เดือน) จะได้เงินบำเหน็จชราภาพ ซึ่งมาจาก 3 ส่วน คือ เงินสมทบของเรา เงินสมทบของนายจ้าง ที่สมทบมาทั้งหมด บวกกับผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

เช่น น.ส.สวลี เริ่มส่งเงินสมทบกรณีชราภาพมาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงตอนนี้รวมเวลาส่งเงินสมทบได้ 168 เดือน ยังไม่ครบ 180 เดือน แต่อายุครบ 55 ปี ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้เงินบำเหน็จแล้ว

ดังนั้น ถ้า น.ส.สวลี ตัดสินใจเกษียณอายุ เลิกทำงาน ทำให้ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง น.ส.สวลี จะได้สิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพ ซึ่งจะได้เงินจาก 3 ส่วน คือ

เงินส่วนแรกที่จะได้ คือ เงินสมทบของผู้ประกันตน 67,952 บาท อีกส่วนหนึ่งเป็นของนายจ้าง 67,952 บาท โดยสองส่วนนี้รวมกันได้เท่ากับ 135,904 บาท

นอกจากนี้ จะมีเงินอีกส่วนหนึ่ง คือ ผลประโยชน์ตอบแทน โดยจะนำเงินสมทบของผู้ประกันตน บวกกับเงินสมทบของนายจ้าง ที่สะสมมาไปคูณกับอัตราผลประโยชน์ตอบแทนในแต่ละปี (ซึ่งแต่ละปีจะได้ไม่เท่ากัน โดยจะได้เท่าไรนั้นต้องรอดูประกาศของสำนักงานประกันสังคม) เช่น

ปี 2545 มีเงินสมทบ 2,256 บาท ผลประโยชน์ตอบแทนอยู่ที่ 4.30% จึงออกเป็นเงิน 97.01 บาท และ

ปี 2546 มีเงินสมทบ 7,648 บาท รวมกับที่สมทบมาแล้วในปี 2545 อีก 2,256 บาท จะเท่ากับ 9,904 บาท

เมื่อคูณกับผลประโยชน์ตอบแทนของปี 2546 ที่ 6.50% จะได้ 643.76 บาท

ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงเดือน ธ.ค. 2558 จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนรวม 36,170.95 บาท และเมื่อรวมกับเงินสมทบ น.ส.สวลี จะได้เงินบำเหน็จทั้งหมด 172,074.95 บาท

นั่นไงล่ะ เงินบำเหน็จหลักแสนที่นอนรออยู่แล้ว

บำนาญ... หลักพัน

แต่ถ้า น.ส.สวลี ยังไม่คิดจะเกษียณอายุ 55 ขอทำงานประจำเป็นลูกจ้างต่อไปจนถึงอายุ 60 ปี และยังเป็นผู้ประกันตนต่อเนื่อง จะเพิ่มระยะเวลาการส่งเงินสมทบกรณีชราภาพได้มากกว่า 180 เดือน ซึ่งเข้าเงื่อนไขที่จะได้รับ “บำนาญชราภาพ”

นั่นเพราะสิทธิที่จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ จะเกิดเมื่อเราจ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนประกันสังคมครบตามเงื่อนไข 3 ข้อ ต่อไปนี้ คือ

- จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน (เท่ากับ 15 ปี) ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม

- อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

การคำนวณเงินบำนาญจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ และค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย แต่สูงสุดไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท

หากสมทบมา 180 เดือน หรือ 5 ปี พอดิบพอดี จะได้เงินบำนาญรายเดือนจะเท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท) แต่ถ้าจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ได้รับเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน (ถ้ามีเศษเกินจะถูกปัดทิ้ง เช่น ถ้าสะสมมา 16 ปี 2 เดือน ก็จะได้แค่ 16 ปี)

ในกรณีของ น.ส.สวลี ที่เริ่มส่งเงินสมทบกรณีชราภาพมาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงอายุ 60 ปี เท่ากับระยะเวลารวม 228 เดือน หรือ 19 ปี โดยเงินเดือน 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 3 หมื่นบาท ซึ่งเกินเพดานขั้นสูงที่กำหนดไว้ 1.5 หมื่นบาท จึงต้องคิดที่ 1.5 หมื่นบาท

วิธีการคำนวณเงินบำนาญของ น.ส.สวลี จะแบ่งเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรก เป็นช่วงเวลา 180 เดือน หรือ 15 ปีแรกที่ส่งเงินสมทบ จะได้เงินบำนาญ 20% คูณ 1.5 หมื่นบาท เท่ากับ 3,000 บาท

ส่วนที่สอง จะคำนวณจากช่วง 4 ปีหลัง ที่จะได้เงินบำนาญเพิ่มอีก 6% (มาจาก 1.5% × 4 ปี) ของรายได้เฉลี่ย หรือ 1.5 หมื่นบาท จะได้อีก 900 บาท

หรือจะคิดรวมเป็นอัตราเงินบำนาญ 26% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ก็จะออกมาเป็นเงินบำนาญเดือนละ 3,900 บาท

นี่จะเป็นเงินบำนาญหลักพันที่จะได้รับไปตลอดชีวิต

ประกันสังคมกรณีชราภาพ ยอมจบที่บำเหน็จ หรือ ส่งต่อจนได้บำนาญ

บำเหน็จ หรือ บำนาญ

เห็นแบบนี้แล้ว เราจะเลือก “เงินก้อนหลักแสน” หรือ “รายได้ประจำหลักพัน”

หลายคนบอกว่า เงินแสนอยู่ตรงหน้าจะรออะไร รีบลาออกจากกองทุนประกันสังคมตั้งแต่ยังส่งเงินไม่ครบ 180 เดือน แล้วไปรอรับเงินบำเหน็จหลักแสน ตอนอายุ 55 ปี ดีกว่าส่งเงินสมทบไปเรื่อยจนเกิน 180 เดือน เพราะได้รับเงินบำนาญแค่เดือนละหลักพันเท่านั้น

จริงๆ แล้ว ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดสำหรับทุกคน เพราะจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในชีวิตของแต่ละคน แต่ก่อนที่จะเลือกแบบไหนควรคำนวณกันให้ดีก่อนตัดสินใจ เพราะบางทีการรอไปจนได้เงินบำนาญหลักพันจะคุ้มกว่าได้เงินบำเหน็จหลักแสน

(สามารถตรวจสอบสิทธิประโยชน์และทดลองคำนวณเงินบำนาญของแต่ละคนได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม จากนั้นเลือกหัวข้อตรวจสอบข้อมูล >> สำหรับผู้ประกันตน >> การคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ หรือคลิกไปที่ www.sso.go.th/wpr/login.jsp)

ตัวอย่างของ น.ส.สวลี ที่ได้เงินบำนาญทุกเดือน เดือนละ 3,900 บาท จะใช้เวลาเพียงแค่ 45 เดือน หรือ 3 ปีกว่าๆ ก็จะได้เงินไป 1.75 แสนบาท มากกว่าบำเหน็จทั้งก้อนที่จะเลือกรับไปตอนอายุ 55 ปี ที่ 1.72 แสนบาทแล้ว

แม้ว่าจะต้องส่งเงินสมทบต่อไปอีก 4-5 ปี ก็ยังคุ้ม เพราะแต่ละปีจะส่งเงินสมทบ 9,000 บาท เป็นเวลา 4 ปี เท่ากับ 3.6 หมื่นบาท ซึ่งหากรับบำนาญต่อไปจนถึงอายุ 64 ปี ก็คุ้มแล้ว (แต่ถ้าจะให้ยุติธรรม ต้องคิดเฉพาะกรณีชราภาพเดือนละ 450 บาท เท่ากับปีละ 5,400 บาท เท่านั้น)

เพราะฉะนั้นถ้า น.ส.สวลี มีอายุยืนมากกว่า 64 ปี การตัดสินใจรับบำนาญหลักพันก็ค้มค่ามากกว่าบำเหน็จหลักแสน

แต่เรื่องนี้จะพลิกจากคุ้มเป็นไม่คุ้ม ถ้าหลังจากได้สิทธิรับบำนาญชราภาพและเกษียณจากงานประจำแล้ว ทำให้ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แล้ว แต่ น.ส.สวลี ยังทำงานต่อเนื่อง จึงมาสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เพราะอยากได้สิทธิประโยชน์ด้านอื่นจากประกันสังคม

กรณีนี้จะมีผลต่อเงินบำนาญที่จะได้รับ เพราะฐานค่าจ้างสูงสุดของมาตรา 39 จะอยู่ที่ 4,800 บาท ไม่ใช่ 1.5 หมื่นบาท เหมือนตอนที่เป็นสมาชิกกองทุนตามมาตรา 33 ดังนั้นจึงทำให้ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่นำมาคำนวณเงินบำนาญรายเดือนจะลดลงตามไปด้วย

ดังนั้น หากส่งเงินสมทบมาเกิน 180 เดือน และได้สิทธิรับบำนาญแล้ว จึงไม่ควรสมัครมาตรา 39 ต่อ

นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเลือกรับบำเหน็จ หรือบำนาญ ต้องไปยื่นคำขอที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา (จะไปยื่นไหนก็ได้) ภายใน 2 ปีนับจากวันที่มีสิทธิได้รับประโยชน์กรณีชราภาพ หรือวันที่สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน

บำนาญจะนาน...ขึ้น

นอกจากบำนาญจะคุ้มกว่าบำเหน็จแล้ว ยังเบาใจได้ว่า “ประกันสังคม” ไม่ได้นิ่งดูดายปล่อยให้เราแก่แบบไร้บำนาญ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่า สำนักงานประกันสังคมมีแผนจะปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม อยู่ 5 แนวทาง ได้แก่

1.การขยายอายุเกษียณ

2.ปรับฐานเงินเดือนที่ใช้ในการคำนวณเงินชราภาพ

3.ปรับสูตรคำนวณการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ 

4.เพิ่มอัตราเงินสมทบที่จัดเก็บเข้าสู่กองทุนชราภาพ

5.พัฒนาการลงทุนให้ได้ผลกำไรมากยิ่งขึ้นด้วย

ทั้งหมดก็เพื่อยืดอายุกองทุนให้มีเงินพอจ่ายบำนาญไปได้อีกหลายสิบปี