posttoday

จัดพอร์ตลงทุนยุคใหม่ ให้หุ่นยนต์ช่วยแนะนำ

01 ตุลาคม 2559

อย่างที่รู้กันแล้วว่า ยุคนี้ “ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial Intelligence) หรือเรียกสั้นๆ ว่า AI เขากำลังมาแรง

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์ [email protected]

อย่างที่รู้กันแล้วว่า ยุคนี้ “ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial Intelligence) หรือเรียกสั้นๆ ว่า AI เขากำลังมาแรง เข้าไปอยู่ในทุกๆ อุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่ในด้านการเงินและการลงทุน

ถ้าเป็นการลงทุน เช่น การลงทุนในหุ้น อนุพันธ์ อัตราแลกเปลี่ยน ก็ใช้ “หุ่นยนต์” ที่เรียกว่า Algorithmic Trading หรือ Algo Trading เข้ามาช่วยลงทุน และสามารถทำกำไรได้โดยที่เราไม่ต้องเฝ้าหน้าจอ (ซึ่งเราทำความรู้จักกับเขาไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว)

นอกจากหุ่นยนต์จะช่วยลงทุนได้แล้ว หุ่นยนต์ยังสามารถแนะนำการจัดพอร์ตลงทุนได้ด้วย ซึ่งเราเรียกหุ่นยนต์ประเภทนี้ว่า “Robo-Advisor” ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่างคำว่า Robot+Advisor (ทั้ง Financial Advisor และ Investment Advisor)

Robo-Advisor น่าจะยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะแม้แต่ในต่างประเทศก็เพิ่งจะมีบริการนี้เกิดขึ้นมาไม่นานนี้เอง แต่กลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีการคาดกันว่า มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการของ Robo-Advisor จะเพิ่มจาก 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2559 ไปเป็น 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 77 ล้านล้านบาท) ในปี 2563

นอกจากนี้ ในประเทศยังเริ่มมี Robo-Advisor เกิดขึ้นแล้ว และน่าจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง ชลเดช เขมะรัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟินเทค (ประเทศไทย) บอกว่า ปีหน้าเราจะได้เห็น Robo-Advisor ในประเทศไทยมากขึ้น

เพราะฉะนั้นอย่ารอช้า ไปทำความรู้จักกับ Robo-Advisor กันดีกว่า

หุ่นยนต์แนะนำการลงทุน มาแล้ว

ชลเดช เคยอธิบายเรื่อง Robo-Advisor ไว้ในบทความเรื่อง “Robo-Advisor มันคืออะไร!” ว่า Robo-Advisor คือ...

บริการทางการเงินซึ่งใช้ Algorithm ในการทำ Asset Allocation แบบอัตโนมัติ เพื่อแนะนำให้นักลงทุนจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ระยะเวลาการลงทุน และระดับผลตอบแทนที่ต้องการเพื่อเป้าหมายต่างๆ

โดยที่ Robo-advisor จะเลือกลงทุนในกองทุนรวม หุ้น หรือสินทรัพย์อื่นๆ ตามแผน Asset Allocation ที่ทำไว้แบบอัตโนมัติ และเมื่อเวลาผ่านไป Robo-Advisor ก็จะปรับพอร์ตลงทุนแบบอัตโนมัติ และวางแผนภาษีแบบอัตโนมัติด้วยเช่นกัน

“เรียกได้ว่าอัตโนมัติตั้งแต่ต้นจนจบ!” ชลเดช สรุป

ขณะที่ กฤษฎา สุขทิศ หัวหน้าฝ่ายบริหารความเสี่ยง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ ซึ่งสนใจและติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวง FinTech มานาน (สามารถไปติดตามได้ที่ finiwise.com) บอกว่า...

คำอย่างเป็นทางการของ Robo-Advisor คือ บริการที่ช่วยลูกค้าลงทุนแบบอัตโนมัติ (Automated Investment Service) โดยให้บริการช่วยจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) และจัดการซื้อขายให้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้พอร์ตการลงทุนเป็นไปตามที่จัดไว้

พร้อมกับบอกด้วยว่า “บริการของ Robo-Advisor มีความก้ำกึ่งระหว่าง Execution Portfolio ซึ่งลูกค้าตัดสินใจลงทุนเอง (ผ่านโบรกเกอร์) กับ Discretionary Portfolio ซึ่งมีตัวแทนตัดสินใจลงทุนและส่งคำสั่งซื้อขายให้ (เช่น ผู้จัดการกองทุน)”

เจษฎา สุขทิศ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัท หลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) อินฟินิติ และผู้ร่วมก่อตั้ง FINNOMENA ให้นิยามของ Robo-Advisor ว่ามันคือ กระบวนการลงทุนแบบจัดพอร์ตอัตโนมัติ โดยไม่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาเป็น Robo-Advisor เจษฎา บอกว่า “มีมนุษย์อยู่เบื้องหลัง” เพียงแต่นักลงทุน หรือลูกค้าแทบจะไม่ได้เจอกับ “คนตัวเป็นๆ” เลย ตั้งแต่การให้คำแนะนำการลงทุน การตัดสินใจลงทุน การลงทุน ไปจนถึงการประเมินผลการลงทุน

ที่ปรึกษาทางการเงิน หลบไป

จริงๆ แล้วประชาชนคนทั่วไปอย่างเรา ก็เพิ่งจะรู้จักกับนักวางแผนการเงิน หรือที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor) เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง แต่ บิล แมคแนบบ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Vanguard Fund กล่าวไว้งาน Morningstar Investment Conference 2016 ว่า ในอนาคต Robo-Advisor จะเข้ามาแทนที่การให้คำปรึกษาผ่านที่ปรึกษาทางการเงิน เพราะมีค่าธรรมเนียมถูกกว่า

ในประเทศไทยอาจจะยังไม่มีข้อมูลไม่มากพอที่จะตัดสินได้ว่า Robo-Advisor จะมาแทนที่ Financial Advisor จริงหรือไม่ แต่ในต่างประเทศ (Paladin Research & Registry) มีการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการให้บริการของคนกับหุ่นยนต์ไว้ 5 ข้อ

จัดพอร์ตลงทุนยุคใหม่ ให้หุ่นยนต์ช่วยแนะนำ

 

1.คำแนะนำทางการเงิน

หุ่นยนต์ : การจัดพอร์ตของ Robo-Advisor จะเป็นโมเดลสำเร็จรูปที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เหมาะกับ “โปรไฟล์” ของนักลงทุนแต่ละกลุ่ม โดยอ้างอิงจากข้อมูลส่วนตัว ระดับการยอมรับความเสี่ยง ระยะเวลาการลงทุน และเป้าหมายการลงทุน ที่กรอกลงไปในระบบ

คน : จะมีการให้คำแนะนำแบบตัวต่อตัว เพราะฉะนั้นจะสามารถจัดส่วนการลงทุนที่เหมาะกับนักลงทุนแต่ละคน และเหมาะกับสถานการณ์ลงทุนในแต่ละช่วง

2.การติดต่อสื่อสาร

หุ่นยนต์ : การติดต่อสื่อสาร ส่วนใหญ่จะผ่านช่องทางออนไลน์ ทางโทรศัพท์ โดยอาจจะมีคลิปวิดีโอแนะนำการใช้บริการ ซึ่งโอกาสที่จะได้คุยกับคนค่อนข้างจำกัด

คน : สามารถติดต่อกับคนได้แบบไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อแบบตัวต่อตัว โทรศัพท์ และช่องทางออนไลน์ (โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ ที่แทบจะเรียกได้ว่า คิดถึงเมื่อไร โทรหาได้ทันที)

3.การให้บริการ

หุ่นยนต์ : อาจจะจำกัดอยู่เฉพาะคำแนะนำด้านการลงทุนเท่านั้น ยังไม่สามารถให้คำแนะนำการวางแผนการเงินในด้านอื่นๆ ได้

คน : ถ้าเป็นนักวางแผนการเงินจะสามารถให้บริการวางแผนการเงินได้ครอบคลุม ทั้งด้านการลงทุน ประกัน ไปจนถึงการวางแผนมรดก

4.การบริหารจัดการ

หุ่นยนต์ : โดยมากแล้ว ถ้าเป็น Robo-Advisor แบบเต็มรูปแบบจะลงทุนเฉพาะสินทรัพย์ที่อ้างอิงกับดัชนี (Index Fund) หรือการลงทุนแบบ Passive เท่านั้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อทำให้ค่าใช้จ่ายในการลงทุนต่ำที่สุด

คน : ที่ปรึกษาทางการเงินสามารถทำได้มากกว่านั้น เพราะสามารถบริหารจัดการแบบ Passive ก็ได้ หรือจะ Active ก็ได้ หรือจะผสมกันระหว่าง Passive กับ Active ก็ยังได้

5.ค่าใช้จ่ายการลงทุน

หุ่นยนต์ : เพราะเป็นระบบอัตโนมัติ และไม่ได้ใช้คนในกระบวนการให้บริการ ทำให้สามารถให้บริการด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการบริการของที่ปรึกษาทางการเงิน

คน : แน่นอนว่าการให้บริการจะต้องมีค่าธรรมเนียมสูงกว่า เพราะสามารถติดต่อสื่อสารกับคน และการให้บริการเฉพาะบุคคล

ดูเหมือนว่าในต่างประเทศ ประเด็นเรื่อง “ค่าธรรมเนียม” จะมีน้ำหนักต่อการตัดสินใจของนักลงทุนค่อนข้างมาก จนถึงกับมีเว็บไซต์ที่ให้บริการเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมของ Robo-Advisor แต่ละเจ้า ซึ่งมีทั้งการคิดค่าธรรมเนียมจากมูลค่าสินทรัพย์ และคิดเป็นอัตราคงที่ในแต่ละปี

“ในประเทศที่นิยมใช้บริการที่ปรึกษาทางการเงินนั้น ที่ปรึกษามักจะคิดค่าบริการจากเงินที่ลูกค้านำมาให้บริหารประมาณ 1% ต่อปี และมียอดเงินขั้นต่ำที่จะรับบริหารให้ ส่งผลให้คนจำนวนมากไม่มีสิทธิในการเข้าถึงบริการได้ Robo-Advisor จึงเป็นบริการที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยคิดค่าบริการที่ต่ำกว่า Human Advisor และกำหนดเงื่อนไขยอดเงินขั้นต่ำไว้น้อยมาก ประกอบกับการสร้างช่องทางการใช้งานผ่าน Mobile Application และ Website ที่สะดวกเป็นอย่างมาก” ชลเดช ให้ข้อมูล

แต่ประเด็นเรื่อง “ค่าธรรมเนียม” อาจจะไม่ใช่จุดเด่นที่จะจูงใจนักลงทุนไทยให้เปลี่ยนไปใช้ Robo-Advisor เพราะแม้แต่บริการที่ปรึกษาทางการเงินก็ยังไม่เสียเงิน หรือไม่ก็มีค่าธรรมเนียม
ต่ำมาก

ดังนั้น รายได้ของที่ปรึกษาทางการเงินในไทยส่วนใหญ่จะมาจากคอมมิชชั่น หรือส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมจากกองทุน โดยไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมจากลูกค้าแม้แต่บาทเดียว

เพราะฉะนั้นหากในอนาคตประเทศมี Robo-Advisor จากหลายๆ เจ้ามาให้เลือกใช้บริการจะตัดเรื่องค่าธรรมเนียมออกไปได้เลย แต่จะมาตัดสินกันที่โมเดล หรือแนวคิดในการจัดพอร์ต และความสะดวกในการใช้งาน

“การจัด Asset Allocation หรือคุณภาพของการจัดพอร์ตจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการเลือกใช้บริการ Robo-Advisor โดยต้องเลือกโมเดลที่สร้างผลตอบแทนได้ดีในระยะยาว” เจษฎา กล่าว

หุ่นยนต์+คน สองแรงแข็งขัน

คงเพราะ Robo-Advisor และที่ปรึกษาทางการเงิน ต่างมีข้อดีและข้อด้อยของตัวเอง จึงทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน ยอมจ่ายค่าธรรมเนียมมากขึ้นอีกหน่อย เพื่อให้ได้ “คุยกับคน”

จากการสำรวจความเห็นของคนอเมริกัน โดย E*TRADE Financial Corporation พบว่า ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ วัย Millennials หรือคน Gen X ไปจนถึงคนในยุค Baby Boomers ส่วนใหญ่จะเลือกใช้บริการ Robo-Advisor ที่มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำร่วมด้วย

เช่นเดียวกับที่เจษฎา บอกว่า เพราะการใช้ Robo-Advisor แบบ 100% ยังไม่เหมาะกับนักลงทุนไทยในปัจจุบัน ซึ่ง FINNOMENA NTER เข้าใจนักลงทุนไทย เลยเกิดกระบวนการที่ผสมกันระหว่างหุ่นยนต์กับคน

“เราไม่คิดจะฝืนธรรมชาติของนักลงทุน ให้มาใช้ Robo-Advisor ทั้งหมด แต่ Robo-Advisor จะทำให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น สะดวกมากขึ้น และนักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงที่ปรึกษาทางการเงินได้มากขึ้น” เจษฎา กล่าว