posttoday

ศึกตลาดทุน เมื่อการลงทุนต้องเลือกข้าง

13 สิงหาคม 2559

ต้องเรียกว่า “สังเวียนเดือด” เพราะผู้บริหารในตลาดทุนลุกขึ้นมาใส่นวม สวมเสื้อคลุม จับคู่ชก ประชันคารม

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์ [email protected]

ต้องเรียกว่า สังเวียนเดือดเพราะผู้บริหารในตลาดทุนลุกขึ้นมาใส่นวม สวมเสื้อคลุม จับคู่ชก ประชันคารม จนเวทีร้อนฉ่าฮากระจาย ในงาน สัมมนา Thai Fight II” ที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เป็นโปรโมเตอร์

งานนี้ไม่มีใครปากแตก มีแต่เมื่อยปาก เพราะหัวเราะกันตั้งแต่ก่อนจะเริ่มต้นยกแรกไปจนหมดยกสุดท้าย แต่งานนี้ไม่ได้มีแค่เสียงหัวเราะ เพราะยังได้ความรู้ ได้แนวคิด ได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง และไม่ว่าจะเลือกอยู่ข้างไหน ก็มีโอกาสทำกำไรได้ทั้งนั้น

ตลาดเกิดใหม่ VS ตลาดพัฒนาแล้ว

เริ่มยกที่ 1 ด้วย มุมน้ำเงินไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ ออกมาเรียกคะแนนและเสียงกรี๊ดจากกองเชียร์ ด้วยการชูข้อดีของการลงทุนในตลาดเกิดใหม่

ตลาดเกิดใหม่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และแม้ว่าจะปรับขึ้นมามากแล้ว แต่ยังมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้นได้อีกมาก

เพียงแค่นี้ก็ได้ใจผู้ชมไปแล้ว แต่ไพบูลย์ยังรัวหมัดชุดใหญ่ต่อเนื่อง ด้วยความมั่นใจว่า รอบนี้จะฟื้นตัวไปได้อีกนาน เพราะหลายประเทศในตลาดเกิดใหม่มีการปฏิรูปในด้านต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งทำให้เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เข้มแข็งและยาวนาน

เมื่อนักลงทุนต่างประเทศมองเห็นสิ่งนี้เหมือนๆ กัน ก็ทำให้เชื่อได้ว่า เงินทุนจะไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจังหวะนี้ที่ตลาดประเทศพัฒนาแล้วมีอัตราการเติบโตไม่ดี

แต่ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะไพบูลย์ยังเก็บหมัดเด็ดเอาไว้ส่งท้าย นั่นคือ การเติบโตของประเทศจีน ซึ่งเขามั่นใจ (อีกแล้ว) ว่า ปีหน้าตลาดหุ้นจีนจะกลับมา และถ้าจีนฟื้นทุกอย่างจะดีต่อตลาดเกิดใหม่

แต่อย่าคิดว่า เพียงเท่านี้จะสามารถเอาชนะน็อกคู่ต่อสู้อย่าง วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง ที่เลือกข้าง ตลาดพัฒนาแล้ว

ตลาดพัฒนาแล้วยังน่าสนใจ เพราะจะเติบโตจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและประชากรของตลาดกำลังพัฒนาด้วย เพราะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี แบรนด์ และสินค้าที่มีคุณภาพ ดังนั้นจะเห็นว่า กลุ่มเฮลท์แคร์ สินค้าอุปโภคบริโภค และไอที เป็นของตลาดพัฒนาแล้วทั้งนั้น

หมัดเด็ดที่วรวรรณปล่อยออกมาเรียกคะแนน คือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลรักษาสุขภาพ หรือ เฮลท์แคร์ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบใหญ่ของตลาดพัฒนาแล้ว เพราะมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งกว่า แถมยังมีคนแก่เป็นจุดแข็งอีกด้วย

ประเทศพัฒนาแล้วมีทุนวิจัย มีคนแก่ มีคนชั้นกลาง ขณะที่การใช้บริการทางการแพทย์จะเติบโตไปตามอายุของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลทั่วโลกยังลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น

การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางทั่วโลก ยังเป็นผลดีกับตลาดพัฒนาแล้ว เพราะเมื่อคนมีรายได้มากขึ้น มีกำลังใช้จ่ายมากขึ้น โดยฉพาะการซื้อสินค้าและบริการที่ทำให้ตัวเองดูดีขึ้น ทำให้สินค้าแบรนด์เนมที่อยู่ในตลาดพัฒนาแล้วยังได้รับความนิยม

และหมัดสุดท้ายที่ส่งตรงเข้าตากรรมการ คือ การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของตลาดพัฒนาแล้ว ซึ่งมูลค่าตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และสามารถเอาชนะธุรกิจพลังงานไปได้

เพราะฉะนั้นจึงเป็นโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในตลาดพัฒนาแล้ว

โบรกเกอร์ VS โปรแกรม

ยกที่ 2 เป็นการต่อสู้กันระหว่าง คนกับ คอมพิวเตอร์ที่นักลงทุนต้องเลือกว่า จะซื้อขายผ่าน ผู้แนะนำการลงทุน” (Investment Consultant : IC) ที่เมื่อก่อนเรียกกันว่า มาร์เก็ตติ้ง บางคนก็เรียกรวมๆ ว่า โบรกเกอร์ หรือจะซื้อขายผ่านโปรแกรม

เผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย ตัวแทนจากฝั่งโบรกเกอร์ ฟันธงข่มขวัญคู่ชกก่อนเลยว่า การซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ดีกว่าโปรแกรมอยู่แล้ว เพราะการลงทุนในปัจจุบัน คือ การมองไปอนาคต แต่โปรแกรมจะมองแต่อดีต

นอกจากนี้ การลงทุนยังเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งถ้ามองเฉพาะด้าน ศิลป์แล้ว โปรแกรมการลงทุนไม่สามารถสู้กับโบรกเกอร์ได้เลย เพราะฉะนั้นโปรแกรมจึงเป็นได้แค่ตัวช่วยในการเลือกหุ้น ที่สุดท้ายแล้วยังต้องอาศัยมุมมองการลงทุนจากโบรกเกอร์อีกชั้นหนึ่ง

แต่คนที่ยังมองว่า โปรแกรมดีกว่าโบรกเกอร์ เพราะไม่เคยเจอผู้แนะนำการลงทุนที่ดี หรือเจอแล้ว แต่ไปกดค่าคอมมิชชั่น เพราะฉะนั้นต้องหาตัวจริงให้เจอและยอมจ่ายค่าคอมมิชชั่น จะทำให้ลงทุนได้อย่างมีความสุข

หมัดส่งท้ายกลายเป็นการยื่นอาวุธให้ พิเชษฐ์ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง หยิบขึ้นมาโจมตีระลอกแรก เพราะการซื้อขายผ่านโปรแกรม หรือการซื้อขายออนไลน์มีค่าคอมมิชชั่นต่ำกว่า

คนมักจะบอกว่า มีมาร์เก็ตติ้งดูให้ทีไร เจ็บทุกที เพราะต้องเริ่มจากเลือกหุ้น ซึ่งหุ้นในตลาด 600 ตัว มาร์เก็ตติ้งจะมานั่งหาได้อย่างไรว่า ตัวไหนดี แต่โปรแกรมจะบอกได้ คิดไว้ให้แล้ว

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการลงทุน แต่กลับเป็นจุดอ่อนของนักลงทุน นั่นคือจิตวิทยาการลงทุนซึ่ง พิเชษฐ์ บอกว่า คอมพิวเตอร์ไม่มีชีวิต เพราะต้องมานั่งคิด ดูสัญญาณเพียงอย่างเดียว ไม่มีอารมณ์มาเป็นตัวคุม

หุ้นเล็ก VS หุ้นใหญ่

แม้จะ ต่างขนาดกันมาก แต่ถือเป็น คู่ชกที่สูสีสมน้ำสมเนื้อกัน เพราะเลือกไม่ถูกเลยว่า จะให้คะแนนข้างไหนระหว่างการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่กับหุ้นขนาดเล็ก

เริ่มจาก สุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ที่มั่นใจว่า การลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่จะมีความเสี่ยงต่ำ และมีการกระจายความเสี่ยงในตัวเอง ทำให้นักลงทุนไม่ต้องเป็นห่วงมากนัก

บริษัทเหล่านี้มีคนดูให้เราอยู่ เพราะทุกๆ 3 เดือน จะมีนักวิเคราะห์ไปสอบถาม ไปช่วยดูว่า หุ้นตัวนี้ดีหรือไม่ดี เวลามีประเด็นอะไรก็จะไปสะกิดเรดาร์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่หุ้นขนาดเล็กนักวิเคราะห์จะไม่ค่อยได้ดู

นอกจากนี้ บริษัทขนาดใหญ่ยังมีโอกาสขยายธุรกิจไปต่างประเทศได้มากกว่าและง่ายกว่า ขณะที่กรรมการบริษัทจะมีคุณภาพสูง

นโยบายปันผลก็สม่ำเสมอ บางบริษัทขาดทุนยังต้องจ่ายเงินปันผล เพราะทนฟังผู้ถือหุ้นบ่นในวันประชุมผู้ถือหุ้นไม่ได้

หลังจากโดน พี่ใหญ่ยิงหมัดหนักเข้ามา แต่ น้องเล็กอย่าง ทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวีไดเร็ค ก็รัวกลับไปแบบไม่ได้เกรงบารมี

ลงทุนหุ้นขนาดเล็กเท่ากับได้ช่วยชาติเต็มที่ เพราะเป็นการลงทุนในพื้นฐานของประเทศ คือ ธุรกิจเอสเอ็มอี และยังเป็นการตอบโจทย์ Thailand 4.0 เพราะธุรกิจขนาดเล็กที่อยู่ใน mai มีโมเดลที่หลากหลายมาก และเรายังมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มี passion ในสิ่งที่ทำ

แต่ไม่ใช่ว่า เป็นหุ้นขนาดเล็กแล้วคุณภาพจะเล็กตามไปด้วย เพราะทรงพลบอกว่า หุ้นขนาดเล็กก็ได้รับการตรวจสอบในมาตรฐานเดียวกับหุ้นขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นมั่นใจได้ว่า ความเสี่ยงจะไม่มากกว่าหุ้นขนาดใหญ่เท่าไรนัก

นอกจากนี้ ทรงพลยังมั่นใจว่า หุ้นขนาดเล็กจะเป็นขวัญใจของนักลงทุนรายย่อย เพราะถูกจริตนักลงทุนไทย

เราเปลี่ยนจาก ม้า มวย หวย บอล มาลงทุนหุ้นดีกว่า เพราะได้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้นขนาดใหญ่ และยังทำให้หัวใจทำงานตลอดเวลา เพราะหุ้นเล็กพอเปิดตลาดมาปุ๊บก็ได้ตื่นเต้นทันที

ไฮยิลด์บอนด์ VS กองอสังหาฯ

มาถึงคู่ชกที่มีการข่มขวัญกันตั้งแต่ก่อนลงสนาม เพราะเมื่อเปรียบมวยกันแล้วจะเห็นความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะถ้าเป็นนักลงทุนรายย่อยที่ไม่มีสิทธิได้เลือกข้าง ไฮยิลด์บอนด์แต่ถ้าเป็นนักลงทุนรายใหญ่คงต้องคิดกันหนักหน่อย

สมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ สวมเสื้อคลุมในฝั่งไฮยิลด์บอนด์ เปิดตัวด้วยการข่มขวัญกองทุนอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท) ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ว่า เห็นราคาแล้วตกใจ เพราะมีถึง 15 กองทุนที่ราคาซื้อขายต่ำกว่า 7 บาท

การลงทุนในกองทุนอสังหาฯ มักจะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์เดียว ทำให้กระจุกตัว พอมีปัญหาก็จบข่าว ขณะที่กองทุนไฮยิลด์บอนด์ ที่ตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งถ้าบริษัทยังไม่เจ๊งก็ต้องจ่ายดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ในแต่ละกองทุนยังต้องกระจายการลงทุนไปหลายบริษัท อย่างน้อยๆ ก็ต้องมีไม่ต่ำกว่า 20 บริษัท แต่ในทางปฏิบัติกองทุนหนึ่งจะมีเกิน 50 บริษัท ทำให้มีความเสี่ยงต่ำ แต่ให้ผลตอบแทนได้ประมาณ 4-6%

แม้ว่าจะเป็น มวยหน้าใหม่ในสนามนี้ แต่ วิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ที่อยู่ฝั่งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และรีท ก็งัดทั้งหมัด เข่า ศอก ขึ้นมาสู้ยิบตา

กองทุนไฮยิลด์บอนด์ให้ผลตอบแทน 3-4% ขณะที่กองทุนอสังหาฯ และรีท ให้ผลตอบแทน 6-8% นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้กำไรจากราคาซื้อขายที่ปรับเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ดอกเบี้ยต่ำทำให้คนหนีเข้ามา และผลตอบแทนจะดีขึ้นอีกถ้าดอกเบี้ยต่ำในปีหน้า

แต่ผลตอบแทนในอดีตยังไม่ใช่หมัดเด็ดที่วินปล่อยออกมา เพราะเขายังปล่อยหมัดหนัก ด้วยคำแนะนำเลือกลงทุนกองทุนอสังหาฯ และรีท เพื่อให้ได้ผลตอบแทนดี

ถ้าลงทุนโดยตรงต้องเลือกเป็นรายตัว ในกลุ่มค้าปลีก โลจิสติกส์ และอาคารสำนักงานในสิงคโปร์ แต่ที่ต้องระวัง คือ โรงแรม และโรงงานอุตสาหกรรมให้เช่า

ลงทุนหลากหลาย VS ลงทุนสิ่งที่ใช่

ยกนี้ ผู้ชมเอาใจช่วย ฝ่ายหญิงเป็นพิเศษ เพราะหวั่นว่าจะถูกน็อก แต่ ชวินดา หาญรัตนกุล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.กรุงไทย แต่เธอแข็งแกร่งกว่าที่เห็นมาก

ชีวิตจริงไม่ใช่ละคร เพราะในละคร พระเอกจะเป็นพระเอกตลอดกาล แต่ในชีวิตจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น วันนี้เป็นพระเอก พรุ่งนี้อาจจะเป็นผู้ร้ายได้ เหมือนกับหุ้นจีนในปี 2557 ที่เป็นพระเอก แต่พอครึ่งปีหลัง 2558 กลายเป็นผู้ร้าย

เมื่อชีวิตเป็นแบบนี้ นักลงทุนควรกระจายการลงทุน เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทน ลดความผันผวน ดูแลความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ เพราะถ้าอยากจะกินอิ่ม นอนหลับ สบายใจ ต้องกระจายการลงทุน

คงเพราะได้คู่ชกที่อ่อนหวาน ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บล.ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จึงชกไปอ้อนไป โดยยกให้การลงทุนในสิ่งที่ใช่เป็นเหมือนความรัก

คุณเคยมีความรักไหม รักแบบถูกใจใช่เลย ถ้าเรารักแล้ว เราจะศึกษา จะเรียน ทำความเข้าใจ และโตไปกับมัน เพราะความรักต้องใช้เวลา

แต่อย่าคิดว่า เขาจะออมมือ เพราะในท้ายยก ปริญญ์ สวนหมัดหนักไปว่าการกระจายความเสี่ยงอาจมีส่วนทำให้ความเสี่ยงน้อยลง แต่เวลาที่เราลงทุน เราไม่ได้ต้องการให้ความเสี่ยงน้อย แต่เราต้องการให้ได้ผลตอบแทนตามความเสี่ยงที่รับได้ เพราะฉะนั้นถ้าลงทุนแบบมือโปรจะเลือกตัวที่ใช่แล้วมุ่งมั่นกับมัน

จับจังหวะ VS ถัวเฉลี่ย

ยกนี้เป็น ศึกสายเลือดโดย มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ยืนในฝั่ง ลงทุนแบบจับจังหวะซึ่งบอกว่าการลงทุนต้องมีเรื่องจังหวะ เพราะชีวิต คือ ชีวิต ทุกชีวิตมีจังหวะของชีวิต หุ้นมีขึ้นมีลง นั่นคือ ชีวิต

เพราะการลงทุนที่จะให้ได้กำไร ต้องรู้เรื่องหุ้น ต้องรู้เวลา ต้องรู้ราคา และรู้กระจายลงทุน

การรู้เวลาก็คือ การจับจังหวะการลงทุน ที่เพียงแค่รู้จักคำ 4 คำก็ทำให้กำไรได้แน่นอน นั่นคือ ซื้อถูกขายแพง

ขณะที่ สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย ซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้ของการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย หรือ DCA (Dollar Cost Averaging) ยืนยันว่า การลงทุนแบบอัตโนมัติทำให้คนธรรมดากลายเป็นแชมเปี้ยนได้

การจับจังหวะลงทุนให้โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนดี แต่เกิดต้นทุนการซื้อขายและการติดตาม ซึ่งต้นทุนสำคัญที่สุดในการจับจังหวะ คือ การรอเวลาลงทุน และไม่ได้ลงทุนในช่วงที่ตลาดมีผลตอบแทนเป็นบวกในระยะยาว

นับตั้งแต่ปี 2542 ตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นไปแล้ว 700% เพราะฉะนั้นคนที่มีเงินลงทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท ในวันนี้ควรมี 7 ล้านบาท ดังนั้นคนที่จับจังหวะลงทุนได้ดีควรจะต้องได้ผลตอบแทนมากกว่านี้

การไม่พยายามเอาชนะตลาด แต่เอาชนะตัวเอง ลงทุนครั้งเดียวตอนเงินเดือนออก เพราะการลงทุนเท่าๆ กันทุกเดือน ทั้งช่วงที่ที่ตลาดมีขึ้นมีลง ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยจะต่ำกว่าราคาเฉลี่ยเสมอ และนั่นเท่ากับเราชนะตลาดโดยไม่ต้องการชนะ

ทองติดพอร์ต VS เก็งกำไรทอง

ยกสุดท้าย เป็นการต่อสู้กันระหว่างการลงทุนทองคำเพียงแค่ ติดพอร์ตไว้ถ่วงดุลความเสี่ยง กับการ เก็งกำไร

วศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย อยู่ในฝั่งที่ลงทุนทองคำเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ต บอกว่า ทองคำมีประโยชน์อย่างเดียว คือ ป้องกันเงินเฟ้อ ขณะที่ผลตอบแทนและความผันผวนที่ผ่านมาอยู่ใกล้เคียงกับหุ้น

จากการทดลองทำพอร์ตจำลองจะเห็นว่า การลงทุนทองคำประมาณ 5% ของพอร์ตช่วยลดความเสี่ยงลงได้ 0.9% ขณะที่การเพิ่มสัดส่วนทองคำ ไม่ได้ทำให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงไม่ได้ลดลง เพราะฉะนั้นการมีทองคำติดพอร์ตไว้ประมาณ 5-10% ดีที่สุดแล้ว

แต่คู่ชกในฝั่งเก็งกำไรทองคำ อย่าง นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการ บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ กลับสวนหมัดมาเต็มว่า การลงทุนทองคำมันเปลี่ยนเทรนด์ไปแล้ว มีเงินน้อยก็สามารถลงทุนทองคำได้ เพราะใช้เงินเพียง 1 ใน 10 เท่าของมูลค่าทองคำ คนมีเงินหลักหมื่นก็ลงทุนได้

การลงทุนทองคำไม่มีคำว่านอนหลับ ยังเป็นสินทรัพย์เดียวในโลกที่สามารถซื้อขายได้ 24 ชั่วโมง ทำให้ได้รับความนิยมทั่วโลก จากที่เคยเป็นเพียงสินทรัพย์เพื่อการสวมใส่