posttoday

เพื่อลูก หรือ เพื่อเกษียณ แผนการออมที่ต้องเลือก!

23 เมษายน 2559

ถ้าถามคนเป็นพ่อเป็นแม่ว่า ระหว่างลูก กับ ตัวเอง รักใครมากกว่า เชื่อได้เลยว่า ร้อยทั้งร้อยน่าจะบอกได้แบบไม่ต้องคิดเลยว่ารักลูกมากกว่าตัวเอง และยอมทำได้ทุกอย่างเพื่อลูก

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์ [email protected]

ถ้าถามคนเป็นพ่อเป็นแม่ว่า ระหว่างลูก กับ ตัวเอง รักใครมากกว่า เชื่อได้เลยว่า ร้อยทั้งร้อยน่าจะบอกได้แบบไม่ต้องคิดเลยว่า ว่ารักลูกมากกว่าตัวเอง และยอมทำได้ทุกอย่างเพื่อลูก

เมื่อเป็นแบบนี้ พอมีลูกหลายคนจึง “ลืมนึกถึงตัวเอง” โดยเฉพาะการวางแผนการเงินเพื่อชีวิตวัยเกษียณ เพราะทุ่มความใส่ใจและความสามารถในการออมไปที่แผนการออมเพื่อการศึกษาของลูกจนหมด

จริงๆ แล้วทั้งการออมเพื่อการศึกษาลูกและการออมเพื่อวัยเกษียณมีความสำคัญไม่ต่างกัน เราจึงควรจะวางแผนการออมและการลงทุนไปพร้อมๆ กัน เพราะคงจะดีที่สุดถ้าเราจะมีความสุขสะดวกสบายในวัยเกษียณไปด้วย และสามารถสนับสนุนการศึกษาของลูกได้จนสุดทาง

แต่สำหรับพ่อแม่ยุคนี้ การเก็บออมเพื่อให้บรรลุ 2 วัตถุประสงค์นี้ไปพร้อมเป็นเรื่องที่ “ท้าทาย” เป็นอย่างมาก เพราะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาลูกก็เพิ่มขึ้นทุกวัน ขณะที่จำนวนเงินที่ต้องมีเพื่อทำให้เกษียณสบายก็ไม่ใช่เงินจำนวนน้อยๆ

เพื่อการศึกษาของลูก

อย่างแรกที่เราต้องทำเมื่อต้องวางแผนการศึกษาลูก คือ ต้องรู้ว่า...

- เราอยากให้ลูกเรียนไปถึงระดับไหน ถ้าเป็นเมื่อก่อนแค่ปริญญาตรีก็ถือว่าดีที่สุดแล้ว แต่เวลานี้พ่อแม่หลายคนมองไปถึงระดับปริญญาโท รวมถึงจะให้ลูกเรียนกิจกรรมพิเศษอะไรบ้าง

- เราอยากให้ลูกเรียนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยแบบไหน รัฐบาล เอกชน สองภาษา อินเตอร์ หรือจะโกอินเตอร์ไปเรียนต่างประเทศ

- ในแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายอะไร จำนวนเท่าไร และเมื่อรวมกันแล้วตั้งแต่อนุบาลไปจนจบปริญญาเป็นเงินเท่าไร

- มีความช่วยเหลือทางการเงินด้านการศึกษาอะไรบ้าง เช่น การขอทุนการศึกษา การใช้เงินกู้จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

เมื่อไม่นานมานี้ เจษฎา สุขทิศ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน INFINITI Global Investors คำนวณตัวเลขแบบละเอียดยิบไว้เป็นแนวทางการออมสำหรับการศึกษาลูกไว้ในบทความเรื่อง “วางแผนเลี้ยงลูกตั้งแต่เกิดจนจบ ป.โท ต้องใช้เงินเท่าไหร่ รู้ยัง?” ในเว็บไซต์ finnomena.com

ตัวเลขเหล่านี้น่าจะพอเป็นแนวทางให้พ่อแม่พอรู้ว่า เราควรจะเตรียมเงินไว้มากน้อยแค่ไหนในระดับการศึกษาที่เราอยากให้ลูกไปถึง

เจษฎา แบ่งค่าใช้จ่ายในการศึกษาลูกไว้ 3 ทางเลือก (โดยคำนวณเงินเฟ้อปีละ 3% ไปเรียบร้อยแล้ว) คือ

แบบประหยัด เรียนโรงเรียนรัฐบาล ค่าใช้จ่ายประหยัด ตั้งแต่อนุบาลไปจนจบปริญญาโทต้องใช้เงินทั้งหมด 1,348,585 บาท หรือเดือนละ 4,683 บาท ตลอด 24 ปี

แบบปานกลาง เรียนโรงเรียนเอกชน ค่าใช้จ่ายปานกลาง ใช้เงินทั้งหมด 6,551,156 บาท หรือเดือนละ 22,747 บาท

แบบแพงสุดๆ เรียนโรงเรียนอินเตอร์ ค่าใช้จ่ายสูง ใช้เงินทั้งหมด 51,733,675 บาท หรือเดือนละ 179,631 บาท

แต่ทุกแบบเป็นค่าใช้จ่ายต่อลูก 1 คน เพราะฉะนั้นถ้ามีมากกว่า 1 คนก็ต้องคูณเพิ่มเข้าไปอีก เช่น มีลูก 2 คน เลือกเรียนแบบประหยัด ก็ต้องใช้ไม่ต่ำกว่า 2.6 ล้านบาท

เพื่อลูก หรือ เพื่อเกษียณ แผนการออมที่ต้องเลือก!

 

เพื่อวัยเกษียณของเรา

การเริ่มต้นวางแผนออมเพื่อเกษียณก็เช่นเดียวกับการวางแผนออมเพื่อการศึกษา คือ ต้องรู้ก่อนว่า...

- เราตั้งใจจะเกษียณอายุเมื่อไร เหลือเวลาในการเก็บออมและลงทุนอีกกี่ปี

- หลังจากเกษียณแล้ว เราน่าจะมีอายุอยู่ไปอีกสักกี่ปี

- ในวัยเกษียณเราจะต้องใช้เงินเดือนละเท่าไร (โดยมากก็จะใช้ตัวเลขประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ)

- ณ วันเกษียณเราต้องมีเงินก้อนเท่าไรจึงจะเพียงพอใช้ไปตลอดชีวิต

- เรามีช่องทางออมเพื่อการเกษียณแบบใดบ้าง แต่ละช่องทางมีข้อดีข้อด้อยอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จะได้เงินสมทบเพิ่มจากนายจ้าง กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ ออมด้วยตัวเองในกองทุนที่ได้สิทธิประหยัดภาษี ทั้งกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)

- แหล่งรายได้หลังเกษียณของเราจะมาจากแหล่งไหนบ้าง และเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนหรือไม่

ถ้าอยากจะหาตัวเลขเงินที่ต้องออมเพื่อให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายวัยเกษียณไม่ใช่เรื่องยาก เพราะทุกวันนี้หลายองค์กร หลายหน่วยงาน สถาบันการเงิน และแอพพลิเคชั่นทางการเงิน มีเครื่องมือช่วยคำนวณให้เลือกใช้บริการแบบฟรีๆ

แต่เพื่อไม่ให้มีอคติระหว่างสองบุคคล เลยขอนุญาตนำตัวเลขที่เจษฎาคำนวณไว้ในบทความเรื่อง “วางแผนเลี้ยงตัวเองหลังเกษียณ ต้องเตรียมเงินหลักสิบล้าน ควรทำไง รู้ยัง?” ในเว็บไซต์ finnomena.com มาเปรียบเทียบกับการวางแผนการออมเพื่อการศึกษาลูก

เจษฎาตั้งโจทย์ที่อิงกับชีวิตจริงของเขาว่า ตอนนี้อายุ 35 ปี ตั้งใจจะเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี เท่ากับเหลือเวลาที่จะออมได้อีก 20 ปี และคาดว่าจะมีอายุไปถึง 85 ปี แปลว่า มีระยะเวลาใช้เงินนานถึง 30 ปี โดยแบ่งความต้องการใช้เงินหลังเกษียณไว้ 3 ระดับ คือ

ระดับเบาะๆ เบาๆ ก็ใช้จ่ายหลังเกษียณเดือนละ 2 หมื่นบาท ต้องมีเงิน ณ วันเกษียณ เท่ากับ 13,004,001 บาท

ขยับความสะดวกสบายขึ้นมาหน่อยก็ใช้จ่ายเดือนละ 5 หมื่นบาท ต้องมีเงินเตรียมไว้ 32,510,002 บาท

เพิ่มความสบายระดับสูงสุด อยากใช้จ่ายเดือนละ 1 แสนบาท ต้องมีเงินก้อน ณ วันเกษียณ อยู่ที่ 65,020,004 บาท

และเช่นเดียวกับแผนการออมเพื่อการศึกษาลูก คือ ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขเฉพาะเราคนเดียว เพราะฉะนั้นหากนับรวมเราสองคนสามีภรรยา ก็ต้องคูณ 2 เข้าไป เช่น ถ้าเราหวังแค่ใช้จ่ายสบายๆ เดือนละ 2 หมื่นบาท อาจจะต้องบวกเพิ่มเป็น 3-4 หมื่นบาท/เดือน

ทำไมต้องเลือก

ถ้าพ่อแม่ที่มีลูกตอนอายุมากหน่อยอาจจะสบายกว่าพ่อแม่ที่มีลูกตั้งแต่อายุไม่มาก เพราะคนที่อายุมากหน่อยก็น่าจะมีการเก็บออมเพื่อวัยเกษียณมาพอสมควรแล้ว เพราะฉะนั้นหลังจากมีลูกแล้วก็สามารถทุ่มกำลังการเงินไปที่ลูกได้อย่างเต็มที่

เพราะเงินออมเพื่อการเกษียณที่เรามีอยู่แล้วสามารถทำงานจนงอกเงยขึ้นมาจนถึงจำนวนที่เราตั้งใจไว้ได้

เช่น ถ้าเราเริ่มต้นออมเพื่อเกษียณมาตั้งแต่ช่วงทำงานใหม่ๆ จนวันนี้มีเงินอยู่แล้วประมาณ 2.79 ล้านบาท แล้วเรานำเงินก้อนนี้ไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี เพียงเท่านี้เงินของเราจะเติบโตขึ้นมาเป็น 13 ล้านบาท ภายใน 20 ปี และทำให้เรามีพอใช้เดือนละ 2 หมื่นบาทไปได้สบายๆ

แต่ถ้าเป็นพ่อแม่อายุน้อย หรือพ่อแม่ที่ไม่ได้เตรียมตัวออมเพื่อเกษียณเอาไว้ก่อนหน้านี้ ก็อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะเราสามารถออมไปพร้อมๆ กันได้จริงๆ

เช่น ถ้าเลือกการศึกษาลูกแบบประหยัด และเลือกจะใช้จ่ายเดือนละ 2 หมื่นบาทหลังเกษียณ เราต้องออมและลงทุนเดือนละ 2.6 หมื่นบาท โดยแบ่งไปใส่กระปุกเงินออมเพื่อการศึกษาลูก 4,113 บาท และอีก 21,931 บาท มาใส่ในกระปุกเงินออมเพื่อการเกษียณ เพียงแต่ต้องทำให้เงินก้อนนี้ได้ผลตอบแทนให้ได้เฉลี่ยปีละ 8% เป็นอย่างน้อย

แต่ถ้าดูแล้วมันออกจะยากเกินไป ลองปรับเปลี่ยนบางอย่าง เพื่อให้บรรลุทั้งสองวัตถุประสงค์ให้ได้

- เลื่อนเวลาเกษียณออกไปให้ยาวขึ้น เพราะในโจทย์นี้เจษฎาตั้งใจจะเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี แต่ถ้าเราเพิ่มเวลาการทำงานให้นานเป็น 60 ปี หรือ 65 ปี เราจะมีเวลาออมเพื่อเกษียณนานขึ้น จำนวนเงินที่ต้องออมต่อเดือนจะน้อยลง และเงินที่ต้องเตรียมไว้ใช้ในวัยเกษียณจะลดลงด้วย

- ลดมาตรฐานในการใช้ชีวิต ทั้งในวัยเกษียณ (จากใช้จ่าย 70% ของรายจ่ายเดือนสุดท้าย ก็อาจจะเหลือเพียง 50-60% จะทำให้เงินออมที่มีใช้จ่ายได้นานขึ้น) และในปัจจุบัน โดยการประหยัดตัดรายจ่ายไม่จำเป็นในชีวิตประจำวันออกไป เพื่อให้เหลือเงินไปออมได้มากขึ้น

- หารายได้พิเศษ หรือเปลี่ยนไปทำงานที่มีรายได้มากขึ้น จะเพิ่มความสามารถในการออม และทำให้การใช้จ่ายในปัจจุบันคล่องตัวมากขึ้น

- เพิ่มโอกาสที่จะทำให้เงินออมทั้งออมเพื่อการศึกษาลูกและออมเพื่อเกษียณได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เพราะการออมทั้งสองเรื่องนี้เป็นการออมระยะยาว สามารถลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้

- ถ้าประเมินแล้ว ไม่ว่าจะพยายามทุกทางแล้ว รายได้ไม่พอรายจ่ายในวัยเกษียณอาจจะต้องทำงานพิเศษระหว่างเกษียณเพื่อให้ได้รายได้เพิ่ม

- ส่งลูกไปโรงเรียนที่มีค่าใช้จ่ายลดลง เช่น ถ้าเดิมตั้งใจจะส่งไปโรงเรียนเอกชน ก็เปลี่ยนมาเรียนโรงเรียนรัฐบาลที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่า และเลือกเสริมความรู้หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นความสามารถพิเศษ เพื่อให้ได้รับทุนการศึกษาจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย

- ฝึกให้ลูกทำงานพิเศษเพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของตัวเอง

- สนับสนุนการศึกษาลูกจนถึงระดับปริญญาตรีก็น่าจะพอ แล้วปล่อยให้ลูกรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในระดับปริญญาโทด้วยตัวเอง เพราะระดับปริญญาโทสามารถทำงานไปเรียนไปก็ได้

ถ้าต้องเลือก เลือก...

แต่ถ้าลองทุกทางแล้วก็ยังมีเงินไม่เพียงพอสำหรับการออมทั้งสองอย่าง และจำเป็นต้องเลือกออมได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง นักวางแผนการเงินทั้งไทยและต่างประเทศมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ถ้าต้องเลือก ควรเลือกการออมเพื่อวัยเกษียณก่อนออมเพื่อการศึกษาลูก เพราะ

1.การออมเพื่อเกษียณ ถ้าพลาดไปแล้วไม่มีเวลาให้กลับไปแก้ตัว แต่การศึกษาลูกมีหลากหลายวิธีที่เขาจะได้เรียนสูงแม้พ่อแม่จะไม่ได้ส่งเสีย

2.เราสามารถกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ แต่ไม่สามารถกู้เพื่อใช้จ่ายวัยเกษียณได้ (ยกเว้นว่าจะมีโอกาสใช้บริการสินเชื่อบ้านเพื่อผู้สูงอายุ หรือ Reverse Mortgage ที่รัฐบาลกำลังศึกษาอยู่)

3.อย่าคาดหวังว่า ถ้าเราส่งลูกเรียนสูงๆ แล้วลูกจะมีรายได้มาเลี้ยงดูเราในวัยเกษียณ

ในทางกลับกัน เราควรคิดว่าการเก็บเงินไว้ใช้วัยเกษียณจะเป็นประโยชน์กับลูกมากกว่า เพราะเขาจะได้รับผิดชอบตัวเองอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูพ่อแม่