posttoday

แค่ใส่ใจรายละเอียด กำไรเพิ่มเพียบนะจ๊ะ

05 มีนาคม 2559

เวลารัฐบาลเปิดขายพันธบัตร หรือบริษัทใหญ่ๆ เปิดขายตราสารหนี้ ก็มักจะได้เห็นภาพคุณตาคุณยายวัยเกษียณไปเข้าคิวรอซื้อ

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์

เวลารัฐบาลเปิดขายพันธบัตร หรือบริษัทใหญ่ๆ เปิดขายตราสารหนี้ ก็มักจะได้เห็นภาพคุณตาคุณยายวัยเกษียณไปเข้าคิวรอซื้อ หรือเวลาจะลงทุนในกองทุนรวมก็พยายามหากองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดตลอดกาล (ซึ่งไม่มีอยู่จริง) หรือถ้าจะซื้อหุ้นก็ต้องไปตามงานสัมมนาและรอว่าจะมีใคร “ใบ้หุ้น” ให้สักตัก

ทั้งหมดที่ทำให้คุณตาคุณยายวัยเกษียณต้องยอมเหนื่อย ยอมลำบาก ก็เพราะความหวังว่า จะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นสักนิดสักหน่อยเพื่อทำให้เงินที่เก็บออมมาทั้งชีวิตได้งอกเงยขึ้นมาบ้าง

แต่จากงานวิจัยเรื่อง Alpha, Beta, and Now…Gamma โดย David Blanchett หัวหน้าทีมวิจัยของ Morningstar Investment Management และ Paul D. Kaplan ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย Morningstar Canada พบว่า เราไม่จำเป็นต้องเหนื่อยขนาดนั้น เพราะเราสามารถเพิ่มรายได้หลังเกษียณและผลตอบแทนเพิ่มได้เพียงแค่...ใส่ใจรายละเอียดในการวางแผนการเงินเพิ่มขึ้นอีกนิด

Alpha ที่ตามหา Beta ที่คิดถึง

ถ้าไม่ใช่คนที่มีความรู้ด้านการเงินและการลงทุน แล้วอ่านเพียงแค่หัวข้องานวิจัย “Alpha, Beta, and Now…Gamma” อาจจะมึนๆ งงๆ ว่า ทั้ง Alpha, Beta และ Gamma มันเกี่ยวกับการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อวัยเกษียณได้อย่างไร

สำหรับผู้จัดการกองทุน รวมทั้งนักลงทุนจำนวนมาก Alpha (ออกเสียงว่า อัลฟ่า) ถือเป็นสุดยอดปรารถนาในการลงทุน เพราะยิ่งได้ Alpha มาก แสดงว่า ทำผลงานได้ดี สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าผลตอบแทนของตลาด หรือดัชนีอ้างอิง (หรือดีกว่า Benchmark ที่เป็นมาตรวัดผลงาน)

แค่ใส่ใจรายละเอียด กำไรเพิ่มเพียบนะจ๊ะ

 

เพราะฉะนั้นการจะได้ Alpha มาก หรือ น้อย จึงต้องอาศัยฝีมือในการลงทุน และบางทีก็ต้องมี “ดวง” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ในขณะที่ Beta (ออกเสียงว่า เบต้า) ในความหมายของงานวิจัยชิ้นนี้ มันคือ “ความเสี่ยงของระบบ” ที่ทุกคนต้องเจอเหมือนๆ กัน หรือจะบอกว่า มันก็คือ ผลตอบแทนของตลาด ก็น่าจะพอได้

ลองคิดถึงประโยชน์ที่น่าจะทำให้เข้าใจคำว่า Beta ได้ง่ายขึ้น คือ “หุ้น ABC มีค่าเบต้าต่ำ” หมายความว่า เมื่อเทียบกับผลตอบแทนของตลาดแล้ว หุ้น ABC มีความผันผวน หรือความเสี่ยงต่ำกว่า แต่ถ้า “หุ้น XYZ มีค่าเบต้าเท่ากับศูนย์” แปลว่า ราคาของหุ้น XYZ จะขึ้นและลงไปตามตลาดหุ้นโดยรวม

ในงานวิจัยนี้บอกว่า ทั้ง Alpha และ Beta คือ หัวใจของการวิเคราะห์ หรือวัดผลตอบแทน แบบดั้งเดิม ซึ่งอาจจะมีผลบวกต่อความสำเร็จของแผนการเงินหลังเกษียณน้อยกว่าการตัดสินใจการเงินอื่นๆ ซึ่งในงานวิจัยนี้จะเรียก “การตัดสินใจทางการเงินอื่นๆ” ว่า Gamma (ออกเสียงว่า แกมม่า)

กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวในการนำเสนอผลการวิจัยชิ้นนี้ในงานสัมมนา SEC Working Papers Forum ครั้งที่ 1/2559 ว่า...

“ทุกวันนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังหมกมุ่นอยู่กับการสร้าง Alpha เพื่อให้ผลตอบแทนของพอร์ตชนะ Beta แต่สิ่งที่ได้รับความสนใจน้อย คือ องค์ประกอบอื่นๆ ของแผนการเงินที่ดี นั่นคือ Gamma ที่สามารถเพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตโดยรวมได้”

แค่ใส่ใจรายละเอียด กำไรเพิ่มเพียบนะจ๊ะ

แต่ Gamma สิแน่จริง

ดังนั้น Morningstar จึงให้ความหมายของ Gamma ว่าเป็น “ผลตอบแทนที่เกิดจากการตัดสินใจทางการเงินที่ดีที่สุด” และในการคำนวณหา Gamma จะโฟกัสไปที่การตัดสินใจทางการเงินและเทคนิคที่สำคัญ 5 ข้อ ได้แก่

1.มองสินทรัพย์โดยรวม เพื่อกำหนดสัดส่วนการลงทุนที่ดีที่สุด

2.ปรับเปลี่ยนอัตราส่วนการเบิกถอนเงินหลังเกษียณแบบไดนามิค 

3.ซื้อประกันบำนาญไว้เป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตหลังเกษียณ

4.ใช้ประโยชน์จากสิทธิทางภาษีอย่างเต็มที่

5.ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนอิงกับเงินเฟ้อ

“องค์ประกอบแต่ละตัวของ Gamma จะสร้างมูลค่าให้กับคนวัยเกษียณ โดยผลการวิจัยพบว่า องค์ประกอบของการวางแผนทางการเงินที่ดีช่วยเพิ่มรายได้หลังเกษียณได้ถึง 22.6% เมื่อเทียบกับการเบิกถอนเงินหลังเกษียณในอัตราคงที่ 4% หรือเทียบเท่ากับการมีผลตอบแทนชนะตลาดได้ปีละ 1.5% ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมากสำหรับคนวัยเกษียณ” Blanchett และ Kaplan ระบุ

แล้วแบบนี้จะไม่ทำให้ Gamma น่าสนใจกว่า Alpha และ Beta ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นต้องมาทำความเข้าใจองค์ประกอบแต่ละตัวของ Gamma ให้มากขึ้น

แค่ใส่ใจรายละเอียด กำไรเพิ่มเพียบนะจ๊ะ

 

1.มองสินทรัพย์โดยรวม

กิตติคุณ บอกว่า ในการแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนการเงิน ส่วนมากมักจะให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ทางการเงิน หรือพอร์ตลงทุนเพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่ในชีวิตจริง คนเรามีสินทรัพย์มากกว่านั้น

ในงานวิจัยนี้บอกว่า สินทรัพย์โดยรวม หรือความมั่งคั่งของคนเราประกอบด้วย 4 อย่าง ได้แก่

ทุนทางการเงิน (Financial Capital) คือ สินทรัพย์ทางการเงิน หรือพอร์ตลงทุนที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้

ทุนมนุษย์ (Human Capital) คือ ความสามารถของเราในการหารายได้และเก็บออม

มูลค่าอสังหาริมทรัพย์

สวัสดิการทางสังคม

ส่วนประกอบของสินทรัพย์รวมจะเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งที่ชัดเจน คือ เรี่ยวแรงและความสามารถในการหารายได้และเก็บออมของเราจะเพิ่มขึ้นจนชนเพดานในช่วงวัยทำงาน และหลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดถอยลงเมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สินทรัพย์ทางการเงินที่เราเก็บออมไว้จะค่อยๆ เพิ่มมูลค่าขึ้นเมื่อเราอายุมากขึ้น เช่นเดียวกับมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่เราเป็นเจ้าของก็จะค่อยๆ เพิ่มค่าไปตามเวลาที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น ในการจัดสัดส่วนสินทรัพย์ชาญฉลาดจะต้องคิดถึงสินทรัพย์ที่เรามีให้ครบทุกด้าน โดยเฉพาะทุนมนุษย์และทุนทางการเงิน นอกจากนี้ยังต้องมองความเสี่ยงให้รอบด้านมากขึ้น ทั้ง “ความเต็มใจในการยอมรับความเสี่ยง” และ “ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง”

แค่ใส่ใจรายละเอียด กำไรเพิ่มเพียบนะจ๊ะ

 

2.เบิกถอนเงินหลังเกษียณแบบไดนามิค 

แม้ว่างานวิจัยหลายชิ้น (ในต่างประเทศ) จะโฟกัสไปที่เปอร์เซ็นต์ในการเบิกถอนเงินออมมาใช้ในวัยเกษียณ เพื่อหาคำตอบว่า “ตัวเลข” ที่เหมาะสม และทำให้เงินออมที่มีอยู่พอใช้ไปตลอดชีวิต โดยตัวเลขที่ได้รับความนิยมถึงขั้นตั้งเป็น “กฎ” ขึ้นมา คือ 4% ของเงินออมที่มีอยู่ ที่เรียกว่า “The 4% rule”

กฎ 4% นี้ แนะนำให้คนวัยเกษียณเบิกเงินออกมาใช้ปีละ 4% ของเงินออมตั้งต้น ณ วันเกษียณ และปีต่อๆ ไปจะขยับเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ เช่น ณ วันเกษียณมีเงิน 1 ล้านบาท จะสามารถเบิกเงินออกมาใช้ในปีแรกได้ 4 หมื่นบาท แต่หากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 3% ในปีที่ 2 จะต้องเบิกเงินออกมาใช้ 4.12 หมื่นบาท เพื่อให้ซื้อของได้ในปริมาณเท่าเดิม (เพราะของแพงขึ้น 3%)

แต่กว่าจะเบิกถอนเงินออกมาใช้ในอัตรานี้ได้ เงิน 1 ล้านบาทนี้จะต้องลงทุนในหุ้นอย่างน้อย 20% เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดี อย่างน้อยต้องให้ได้มากกว่าเงินเฟ้อ ไม่อย่างนั้นเงินออมของเราจะหมดก่อนที่เราจะจากไป

เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีกว่า คือ การปรับเปลี่ยนอัตราการเบิกถอนทุกปี โดยจะเบิกออกมาได้เท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการลงทุนในหุ้น (เพราะมีผลต่อผลตอบแทน) และอายุที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ ดังนั้นอัตราการเบิกถอนในแต่ละปีจะไม่เท่ากันในแต่ละปี

3.ซื้อประกันบำนาญ

เมื่อ Allianz Life ไปถามคนเกษียณอายุว่า พวกเขากลัวอะไรมากที่สุด ผลที่ได้ คือ คนเกษียณ 39% กลัวตาย แต่อีก 61% กลัวไม่ตาย หรือกลัวว่าเงินออมที่มีอยู่จะหมดไปก่อนที่จะจากโลกนี้ไป

เพราะฉะนั้นน่าจะบอกได้ว่า ความเสี่ยงที่สุดของคนวัยเกษียณ คือ เงินหมดก่อนตาย

ในงานวิจัยนี้จึงใส่ “ประกันบำนาญ” ลงไปในพอร์ตของคนวัยเกษียณด้วย โดยในแบบจำลองใส่ประกันบำนาญลงไปถึง 25% ของพอร์ตลงทุนทั้งหมด และลงทุนหุ้น 45% ตราสารหนี้ 30% เพราะมั่นใจว่า ประกันบำนาญ เป็นการลงทุนเพียงอย่างเดียวที่รับประกันรายได้ในช่วงหลังเกษียณ

แค่ใส่ใจรายละเอียด กำไรเพิ่มเพียบนะจ๊ะ

อย่างไรก็ตาม กิตติคุณ ยอมรับว่า ประกันแบบบำนาญยังไม่ได้รับความนิยมในการวางแผนการเงินสำหรับวัยเกษียณมากนักในประเทศไทย เพราะอาจจะมองว่า ต้องจ่ายเบี้ยประกันสูง ขณะที่บางส่วนกังวลเรื่องความมั่นคงของบริษัทประกัน

“ความนิยมในประกันบำนาญในไทยยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ทั้งในมุมของคนซื้อและคนขาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทย รวมทั้งคนเอเชียต้องการเป็นเจ้าของเงิน ในขณะที่การซื้อประกันบำนาญเป็นเหมือนการนำเงินไปให้บริษัทประกัน ซึ่งในความจริงแล้วเงินจำนวนนั้นยังคงเป็นของเราเหมือนเดิม และการแบ่งเงินไปซื้อประกันบำนาญจะเป็นการประกันรายได้”

4.ใช้ประโยชน์จากสิทธิทางภาษีอย่างเต็มที่

ในขณะที่เราพยายามจะหาผลตอบแทนจากการลงทุนให้ได้มากที่สุด ให้ได้ Alpha สูงสุด แต่กลับมองข้าม “สิทธิประโยชน์ทางภาษี” ที่ Morningstar พบว่า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลตอบแทนของเราเพิ่มขึ้นได้ง่ายมาก ซึ่งรวมถึงการวางแผนเกษียณของคนไทยด้วย

กิตติคุณ บอกว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างเต็มที่เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างผลตอบแทนเพิ่มให้กับพอร์ตลงทุนเพื่อวัยเกษียณ ที่เราสามารถทำได้เองง่ายๆ

“ในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีค่อนข้างมาก เช่น การลงทุนในกองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ ผลตอบแทนที่ได้จะไม่เสียภาษี ดังนั้นแทนที่จะฝากเงินกับธนาคาร หรือไปเข้าคิวซื้อหุ้นกู้ ที่ต้องเสียภาษีจากดอกเบี้ยที่ได้รับ ควรเปลี่ยนมาลงทุนกองทุนเหล่านี้แทน”

5.ลงทุนที่ได้ผลตอบแทนอิงกับเงินเฟ้อ

เวลาจัดพอร์ตลงทุน Morningstar แนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนอิงกับเงินเฟ้อเอาไว้ด้วย รักษามูลค่าของเงินในอนาคตไม่ให้ถูกลดค่าจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกปี เช่น พันธบัตร ตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมที่กำหนดผลตอบแทนอ้างอิงกับอัตราเงินเฟ้อ

เพราะความเสี่ยงอีกประการหนึ่งของคนในวัยเกษียณ คือ รายจ่ายเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ แต่เงินออมที่มีอยู่เติบโตไม่ทัน

“เวลาวางแผนการเงินสำหรับวัยเกษียณเรามักกลัวกันว่าเงินออมที่มีอยู่จะไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในอนาคต เนื่องจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทุกปี แต่หากมีกองทุนหรือการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนอิงกับอัตราเงินเฟ้อก็จะช่วยได้มาก” กิตติคุณ กล่าว

แต่ประเทศไทยยังไม่มีการลงทุนประเภทนี้ออกมาขายให้นักลงทุนรายย่อยมากนัก โดยในปัจจุบันมีกองทุนประเภทนี้ไม่อยู่ไม่เกิน 5 กองทุน

แม้ว่าองค์ประกอบของ Gamma อาจจะดูยุ่งยาก ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ และใส่ใจมากกว่าการวางแผนการเงินสำหรับวัยเกษียณของคนทั่วไปสักหน่อย แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นน่าจะจูงใจให้เราใส่ใจรายละเอียดให้มากขึ้น