posttoday

ตลาดการเงินคาด"กนง."คงดอกเบี้ยที่1.5%

24 กันยายน 2560

ตลาดการเงินคาด กนง.คงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ในการประชุมวันที่ 27 ก.ย.นี้ แรงกดดันลดหลังเฟดใช้นโยบายการเงินเข้มงวดต่อ

ตลาดการเงินคาด กนง.คงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ในการประชุมวันที่ 27 ก.ย.นี้ แรงกดดันลดหลังเฟดใช้นโยบายการเงินเข้มงวดต่อ

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะมีการประชุมรอบที่  6 ของปี 2560 วันที่ 27 ก.ย.นี้ ท่ามกลางแรงกดดันจากกระทรวงการคลังให้มีการลดดอกเบี้ย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการคลังและดอกเบี้ยไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านจนเงินบาทแข็งค่าทำให้ผู้ส่งออกแข่งขันทางการค้ายาก อย่างไรก็ตาม ตลาดการเงินยังเชื่อว่าการประชุมของ กนง.รอบนี้จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5%

น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเปิดเผยผลสำรวจดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ว่าดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. ในวันที่ 27ก.ย.นี้ อยู่ที่ระดับ 50 อยู่ในเกณฑ์ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน สะท้อนมุมมองของตลาดยังคงเชื่อว่า กนง.จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม จากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. จนถึงปัจจุบัน เงินต่างชาติไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยเกือบ 1 แสนล้านบาทและนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทย 2.4 แสนล้านบาทส่วนใหญ่เข้ามาในตราสารหนี้ระยะกลางและระยะยาว จึงไม่ใช่เงินร้อน

สำหรับมูลค่าเงินลงทุนต่างชาติสะสมสุทธิในตราสารหนี้ไทย 8.6 แสนล้านบาท เทียบมูลค่าสถานะคงค้างของตลาดตราสารหนี้ 9 ล้านล้านบาทคิดเป็น10% ยังน้อยเมื่อเทียบกับมาเลเซีย

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย ให้ความเห็นว่าแรงกดดันให้ กนง.ลดดอกเบี้ยเริ่มลดลงหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมาเฟดยังคงท่าทีใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อ

นักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์สคาดว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะทรงตัวที่ 1.5% ไปถึงไตรมาส 3 ปี 2561 บนสมมติฐานค่าเงินบาท 33.10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อปี 2560 และปี 2561 ที่ 0.5 และ 1.2% ตามลำดับ รวมถึงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2560 และ 2561 เติบโตเฉลี่ย 3.5-3.6% ต่อปี

“ถ้าอัตราเงินเฟ้อยังต่ำและมีวงจรฟื้นช้า และหากเงินบาทแข็งค่ากว่าที่คาดการณ์ไว้ก็มีช่องที่จะลดดอกเบี้ยได้เล็กน้อย การที่เฟดจะเริ่มลดงบดุลตั้งแต่เดือน ต.ค. 2560 โดยเริ่มที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน แล้วเพิ่มครั้งละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ทุกไตรมาสจนแตะ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในเดือน ต.ค. 2561 รวมถึงมีโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นครั้งที่ 3 ของปีในการประชุมเดือน ธ.ค. 2560 ก็จะหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นลดแรงกดดันเรื่องบาทแข็งในอีกทางหนึ่ง” นักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์สกล่าว

นายสันติธาร เสถียรไทย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ภูมิภาคเอเชียบล.เครดิต สวิส  คาดว่า ดอกเบี้ยนโยบายจะคงที่ไปจนถึงปีหน้า เพราะค่าเงินบาทที่แข็งไม่ได้มาจากเงินที่เก็งกำไร แต่เป็นผลมาจากการค้าและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นส่วนใหญ่เพราะการส่งออกและการท่องเที่ยวไทยดี แต่ส่วนที่แย่คือไม่มีการลงทุนของภาคเอกชน หรือการลงทุนของภาครัฐในไตรมาสนี้ก็ชะลอไปพอสมควร เมื่อการลงทุนไม่มี ไม่นำเข้า จึงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง กดดันค่าเงินบาทให้แข็งค่า

ก่อนหน้านี้ นายวิรไท สันติประภพผู้ว่าการ ธปท. ให้ความเห็นว่า การตัดสินใจลดดอกเบี้ยหรือไม่ขึ้นอยู่กับ กนง. หน้าที่ของ ธปท. คือมองความสมดุลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยคำนึงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและไม่ให้เกิดจุดเปราะบาง
ในระบบการเงิน ดูแลทั้งผู้ฝากเงิน ผู้กู้เงินเพราะนโยบายการเงิน มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์