posttoday

ปรับภาษีเหล้าบุหรี่มีผลแล้ว

16 กันยายน 2560

อธิบดีกรมสรรพสามิต ชี้แจงอัตราการจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการต่างๆ โดยเฉพาะเหล้าและบุหรี่ ที่มีผลบังคับใช้ 16 ก.ย. ส่งผลให้บุหรี่ เพิ่ม 2-15 บาท สุรา 8-30 บาท ส่วนเบียร์ 0.50-2 บาท เตือนอย่าฉวยโอกาสขึ้นราคาเกินจริง

อธิบดีกรมสรรพสามิต ชี้แจงอัตราการจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการต่างๆ โดยเฉพาะเหล้าและบุหรี่ ที่มีผลบังคับใช้ 16 ก.ย. ส่งผลให้บุหรี่ เพิ่ม 2-15 บาท สุรา 8-30 บาท ส่วนเบียร์ 0.50-2 บาท  เตือนอย่าฉวยโอกาสขึ้นราคาเกินจริง

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2560 จะทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีตามอัตราใหม่ ปรับเพิ่มขึ้น 2% หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทอย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผู้ประกอบการจะไม่มีการปรับเพิ่มราคาขายปลีกขึ้นจนกลายเป็นภาระกับประชาชน เพราะจะมีการแข่งขันด้านราคา เช่น กลุ่มรถยนต์ มีบางค่ายลดราคาขายบางรุ่น ทั้งที่ภาพรวมกลุ่มรถยนต์มีภาระภาษีเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2%

สำหรับกลุ่มเครื่องดื่มนั้น มีการเก็บภาษีตามปริมาณความหวาน ทำให้สินค้าเครื่องดื่ม 111 รายการ ที่เดิมไม่ต้องเสียภาษี จะมี 2รายการ ได้แก่ ชา ชาเขียว และกาแฟ ที่ต้องเสียภาษีตามค่าความหวานทั้งในส่วนของมูลค่าและปริมาณ ส่วนเครื่องดื่มประเภทอื่นหากค่าความหวานเกินกว่าที่กฎหมายใหม่กำหนดก็จะต้องเสียภาษี 1 ขา คือ ขาปริมาณ โดยในส่วนนี้จะมีเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัว 6 ปี แบ่งเป็นรอบละ 2 ปี ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่ได้ลดค่าความหวานในเครื่องดื่มลง อัตราภาษีที่จะต้องเสียก็จะปรับเพิ่มทุก 2 ปี

สำหรับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะมีการคิดอัตราภาษีใหม่ทั้งในด้านมูลค่าที่ 45% จากเดิม 80% และด้านปริมาณแอลกอฮอล์ 55% จากเดิม 20% และในอนาคตคาดว่าจะมีการปรับสัดส่วนการคำนวณนี้ในด้านปริมาณแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล

ขณะที่การจัดเก็บภาษีบุหรี่ ก็จะคิดตามมูลค่าและปริมาณเช่นเดียวกัน โดยในขาของปริมาณตามกฎหมายสรรพสามิตใหม่นั้น จะจัดเก็บอยู่ที่ 1.20 บาทต่อมวล ทำให้หลังจากนี้ทั้งบุหรี่ราคาถูกและราคาแพง จะมีภาระภาษีในส่วนของปริมาณอยู่ที่ 24 บาทต่อซอง ส่วนขามูลค่าสำหรับภาษีที่ราคาต่ำกว่า 60 บาท จะอยู่ที่ 20% และบุหรี่ที่ราคาสูงกว่า 60 บาท จะอยู่ที่ 40% โดยหลังจาก 2 ปีแรก จะมีการปรับภาษีในส่วนมูลค่าขึ้นเป็นอัตราเดียวกันทั้งหมดที่ 40%

สำหรับสินค้าที่มีการเสียภาษีและเป็นอากรแสตมป์เดิมนั้น จะต้องขายตามราคาเดิม ห้ามปรับราคาขายขึ้นโดยอ้างว่าเป็นไปตามภาษีใหม่ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้อย่างเด็ดขาด โดยขอเตือนผู้ค้าอย่าฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา เนื่องจากทางกรมสรรพสามิต ได้ร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งสามารถตรวจสอบจากอากรแสตมป์ได้ หากพบกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วย ราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ผู้ใดกักตุนสินค้าควบคุม โดยมีสินค้าควบคุมไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่กำหนด หรือไม่นำสินค้าควบคุมที่มีไว้ออกจำหน่าย หรือเสนอขายตามปกติ หรือปฏิเสธการจำหน่ายโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า อัตราภาษีสรรพสามิตที่ประกาศใช้ ได้ส่งผลให้สินค้ารายการสำคัญ มีภาระภาษีสรรพสามิตเปลี่ยนแปลง ดังนี้ น้ำอัดลมไม่ผสมน้ำตาล เสียภาษีลดลง 0.25-0.36 บาทต่อขวด น้ำอัดลมที่ผสมน้ำตาลเสียภาษีเพิ่มขึ้น 0.13-0.50 บาทต่อชวด เครื่องดื่มบำรุงกำลังเพิ่มขึ้น 0.32-0.90 บาทต่อขวด ยกเว้นขนาด 150 ซีซี เสียภาษีลดลง 0.11 บาท น้ำพืชผักผลไม้เสียภาษีเพิ่ม 0.06-0.54 บาทต่อขวด ชาเขียวเสียภาษีเพิ่มขึ้น 1.13-2.05 บาทต่อขวด กาแฟเสียภาษีเพิ่ม 1.35 บาทต่อขวด 

ส่วนเบียร์กระป๋องภาษีเพิ่มขึ้น 0.50 บาท เบียร์ขวดเพิ่ม 2.66 บาท แต่เบียร์ราคาแพงเสียภาษีน้อยลง 0.99-2.05 บาท สุราขาว หรือเหล้าขาวเพิ่มขึ้น 0.84-3.49 บาทต่อขวด ตามขนาดและดีกรี ไวน์ผลิตในประเทศราคาไม่เกิน 1,000 บาท เสียภาษีลดลง 25 บาทขึ้นไป  ไวน์นำเข้าเสียภาษีเพิ่มขึ้น 110 บาทขึ้นไป สุรากลั่น หรือเหล้าสี ที่ผลิตในประเทศ เพิ่มขึ้น 8-30 บาท เหล้าสีนำเข้าราคาลดลง 3-26 บาท และบุหรี่ราคาต่ำกว่า 60 บาท เสียภาษีเพิ่มขึ้นซองละ 4-15 บาท  แต่บุหรี่ราคาเกิน 60 บาท เสียภาษีเพิ่มน้อยกว่า 2-14 บาท 

อย่างไรก็ตามราคาขายปลีกที่แท้จริงจะปรับขึ้นหรือลงเท่าไรขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการว่าจะมีการรับภาระภาษีแทนผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งบางรายการหากเสียภาษีขึ้นเล็กน้อยอาจจะยังขายราคาเดิมเพื่อใช้ในการแข่งขันกระตุ้นยอดขาย  อีกทั้งหากมีการปรับราคาขายปลีกลดลง หรือมีการปรับสูตรการผลิตเช่น ลดปริมาณความหวาน หรือปริมาณแอลกอฮอลก็จะทำให้ภาษีที่เสียถูกลงได้