posttoday

คลังชงการออมวาระแห่งชาติ

14 กันยายน 2560

คลังชงยุทธศาสตร์การออมแห่งชาติรับมือสังคมสูงอายุ หวั่น 15 ปีรัฐมีงบไม่พอดูแล

คลังชงยุทธศาสตร์การออมแห่งชาติรับมือสังคมสูงอายุ หวั่น 15 ปีรัฐมีงบไม่พอดูแล

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังเร่งทำแพ็กเกจ 4 มาตรการดูแลการออมแห่งชาติเสนอ รมว.คลังพิจารณาใน 1-2 สัปดาห์นี้ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่คาดว่า 15 ปีข้างหน้าหากรัฐไม่ดำเนินการใดๆ จะต้องเตรียมงบประมาณ 6-7 แสนล้านบาทใช้ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐอาจไม่มีงบมากพอดูแล ทำให้เกิดวิกฤตการคลังได้ แต่หากมีมาตรการจะลดภาระของรัฐได้บางส่วน

สำหรับมาตรการที่เตรียมไว้ได้แก่ 1.การยกระดับการให้ความรู้ทางการเงินกับประชาชนทุกระดับเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนต้องทำร่วมกันทำให้ประชาชนมีความรู้ทางการเงิน มีวินัยการใช้จ่าย อดออม ประหยัดเพื่ออนาคต โดยจะให้ความรู้แบบเฉพาะเจาะจงไปแต่ละกลุ่มเป้าหมายเรียงตามความสำคัญ

2.จะมีมาตรการส่งเสริมความแข็งแกร่งของสถาบันการออมมากขึ้น เน้นสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งเป็นสถาบันเสาหลักท้องถิ่น โดยกำลังศึกษาแนวทางตั้งหน่วยงานกำกับดูแลเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มประสิทธิภาพให้ 3.มาตรการสนับสนุนออกผลิตภัณฑ์การออมใหม่ เช่น ส่งเสริมบริษัทประกันทำนวัตกรรมการออมที่ทำให้คนออมระยะยาวขึ้น อาจนำสิทธิประโยชน์ภาษีมา สนับสนุน ควบคู่กับออกมาตรการผลักดันประชาชนลดใช้สินค้าฟุ่มเฟือย

4.เติมเต็มระบบการออมเพื่อเกษียณอายุ ซึ่งปัจจุบันมีระบบรองรับอยู่แล้ว จะปรับปรุงกฎหมายในระบบการออมเดิม ได้แก่ กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนการออมแห่งชาติให้เหมาะกับสังคมสูงวัย พร้อมกับเพิ่มกองทุน บำหน็จบำนาญแห่งชาติ เป็นการออมภาคบังคับ ดำเนินการลักษณะขั้นบันได คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ปีหน้าและใช้สมบูรณ์แบบใน 7 ปี

นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ใน 100 คน มีแค่ 2 คนที่พร้อมทางการเงินรับสังคมสูงวัย โดย 56% ของคนไทยยังไม่มีหลักประกันเตรียมพร้อมสังคมสูงวัยเลย 44% มีหลักประกันอย่างใดอย่างหนึ่งแต่ทำให้มีรายได้หลังเกษียณแค่ 20% ของเงินเดือนสุดท้าย จึงยังไม่พอ

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศศึกษาว่าถ้าต้องการมีเงินพอใช้ยามเกษียณต้องมีเงินอย่างน้อย 40% ของเงินเดือนสุดท้าย แปลว่าต้องอยู่ในระบบประกันสังคมอย่างต่ำ 28 ปี

นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล กล่าวว่า มนุษย์เงินเดือน 13 ล้านคน มีแค่ 3 ล้านคนเท่านั้น ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในจำนวนนี้ 3 แสนคนออมเน้นเงินต้นมากเกินไป ทำให้อาจมีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ ทางแก้คือรัฐต้องผลักดันแผนลงทุนสมดุลตามอายุออกมา ให้คนไม่มีความรู้ทำตามแผนที่วางไว้ ให้ทางเลือกลงทุนเสี่ยงได้มากขึ้นเพื่อสร้างผลตอบแทนเพียงพอ