posttoday

คาดกนง.คงดอกเบี้ยถึงสิ้นปี

12 สิงหาคม 2560

แบงก์คาด กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายจนถึงสิ้นปีนี้ หวังเฟดปรับลดขนาดงบดุลช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลง

แบงก์คาด กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายจนถึงสิ้นปีนี้ หวังเฟดปรับลดขนาดงบดุลช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 16 ส.ค.นี้ คาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ต่อไปอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดขนาดงบดุลน่าจะมีผลกระทบที่จำกัดและอาจจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้บางส่วน โดยความผันผวนด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายคงอยู่ในระดับที่ทางการดูแลได้ เนื่องจากเสถียรภาพต่างประเทศของไทยอยู่ในระดับแข็งแกร่ง มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงเกือบ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และมีระดับเงินทุนสำรองกว่า 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สภาพคล่องในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง โดยสภาพคล่องส่วนเกินของระบบธนาคารพาณิชย์มีสูงเกือบ 2 ล้านล้านบาท เพียงพอต่อการรองรับความต้องการระดมทุนในประเทศ

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังคงมีอยู่ ทั้งนี้ความเสี่ยงต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เป็นปัจจัยในประเทศที่ต้องจับตา ได้แก่ ผลกระทบของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงปรับตัว ผลบวกจากภาคการส่งออกที่คงปรับลดลง รวมถึงราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มชะลอลงเป็นแรงกดดันรายได้แก่ภาคเกษตรกรในระยะข้างหน้า  อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนืออาจจะลุกลาม และมีความเสี่ยงที่จะมีการใช้กำลังทางทหาร ดังนั้นการคงนโยบายการเงิน ผ่อนคลายต่อเนื่องน่าจะเหมาะสมใน การช่วยลดทอนผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) คาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยยาวตลอดปีนี้  แม้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นสะท้อนว่านักลงทุนบางส่วนมองว่า ธปท.อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่กลับมาติดลบในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อระดับต่ำดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากฐานราคาที่สูงในปีก่อนจากเหตุการณ์ภัยแล้ง ในขณะที่เดือน ก.ค.นี้ มีผลผลิตทางการเกษตรออกมามากจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้ราคาอาหารสดลดต่ำลง ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ มองว่าอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำดังกล่าวเป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราว และอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปีจะเพิ่มสูงขึ้นและเฉลี่ยที่ 1% ในปี 2560

นอกจากนี้ หากพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน จะพบว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยการบริโภคของภาคเอกชนในไตรมาสแรกขยายตัวได้ 3.2% และปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2014 ที่ขยายตัวเพียง 0.9% อีกทั้งยังมีการลงทุนภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ